“โกศล” เผยครูอีสานแฉ! ถูกเรียกเงินแลกขอย้ายกลับบ้านเกิด เริ่มต้นที่ 2 แสนบาท ขอช่วยตรวจสอบขั้นตอนการให้คะแนน เตรียมส่งต่อข้อมูล สพฐ.ดำเนินการ พร้อมเผยเร่งสรุปบทเรียนทุจริตของ ศธ.ให้เสร็จภายในเดือนเม.ย. ระบุยังมีอีกหลายเรื่องที่ค้างอยู่ แม้จะใช้เวลาสอบมานานเป็นปียังไม่เสร็จ ระบุครุภัณฑ์ สพฐ.ผลสืบข้อเท็จจริงพบมีมูล ผู้เกี่ยวข้อง 11 คน
วันนี้ (10 เม.ย.) พล.อ.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้รับจดหมายจากครูรายหนึ่ง จากจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้มีการตรวจสอบการพิจารณาเกณฑ์การย้ายในจังหวัดดังกล่าวโดยอ้างว่า มีการดำเนินการไม่เป็นธรรมและอาจจะมีการแก้ไขการให้คะแนน ซึ่งในจดหมายของครูระบุว่า ได้ยื่นเรื่องขอย้ายจากโรงเรียนที่ปฏิบัติการสอนกลับไปภูมิลำเนาเดิมซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกัน เพื่อดูแลมารดาที่เจ็บป่วยและชราภาพมากแล้ว ปรากฎว่ามีผู้โทรศัพท์ติดต่อมาที่ครูบอกว่าขณะนี้คณะกรรมการจัดทำคะแนนในการย้ายครู หากครูอยากย้ายจะให้เงินเท่าไร ซึ่งราคาเริ่มต้นที่ 200,000 บาท ในจดหมายระบุด้วยว่าครูได้มีการต่อรองราคาเหลือ 150,000 บาทด้วยแต่ก็ไม่ได้ และถัดมาไม่กี่วันครูก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่ออีกว่าจะเอาหรือไม่ ถ้าไม่เอาจะให้อีกคนแทน ครูจึงตัดสินใจร้องเรียนมาที่ตนเพื่อขอให้ไปตรวจสอบเรื่องการให้คะแนน อย่างไรก็ตาม ในจดหมายมีการอ้างชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องแต่ตนไม่สามารถเปิดเผยได้
“ขณะนี้การพิจารณาการขอย้ายดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการพิจารณาการย้ายในรอบแรก ซึ่งครูรายนี้อยากให้ไปตรวจสอบว่าการให้คะแนนของคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณา เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถลงไปทำอะไรได้ทัน เพราะระยะเวลาในการทำงานไม่มาก แต่ผมจะรายงานต่อนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ รวมถึงแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้นสังกัดลงไปตรวจสอบ”พล.อ.โกศล กล่าว
พล.อ.โกศล กล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทุจริตต่างๆของ ศธ.นั้น ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้พยายามเร่งแก้ไขทุกเรื่องยอมรับว่าอาจจะไม่สำเร็จได้รวดเร็วได้อย่างที่คิด เพราะติดขัดด้วยระยะเวลา และระเบียบต่างๆ ขณะนี้ตนกำลังสรุปบทเรียนเรื่องทุจริตต่างของ ศธ.โดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ที่ยังค้างคาอยู่ อย่างโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือ อควาเรียมหอยสังข์ ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา แม้จะยังไม่สรุปแต่ตอนนี้ก็สบายใจขึ้นเพราะอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว ,โครงการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ในโครงการ Safe Zone School ใน 12 เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลานี้ได้เสนอรายชื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วรอการแต่งตั้ง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์ (โดม) ของ 11 โรงเรียน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตามโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่มีการสรุปผล อีกเรื่องคือโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 279 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2558 ที่ยังอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ส่วนที่เกิดปัญหาในปีก 2561 คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงได้สรุปผลและส่งเรื่องไปที่ สพฐ. แล้วอยู่ในการตรวจสอบสำนวน เบื้องต้นได้รับรายงานด้วยวาจาว่าผลการสืบพบว่ามีมูล มีผู้เกี่ยวข้อง 11 คน เป็นระดับปฏิบัติการ และผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ตนจะสรุปและเสนอให้เพื่อเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ภายในเดือนเม.ย.นี้