สสส.-สคอ. และภาคีฯ ชวน “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” สถิติย้อนหลัง 3 ปี พบบาดเจ็บเสียชีวิตเพราะดื่ม 23,954 คน เฉลี่ยปีละ 7,985 คน รวมมูลค่า 4,762 ล้านบาท พร้อมหนุนบังคับกฎหมายเข้มข้น ด้านเหยื่อเคราะห์ร้ายประณามพฤติกรรมดื่มแล้วขับ สร้างความสูญเสีย แลกชีวิตที่ดีเหมือนเดิมไม่ได้
วันนี้ (9 เม.ย.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ในงานแถลงข่าว “สงกรานต์ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย ปี 2562” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ และผู้ประสบเหตุจากคนดื่มแล้วขับ เพื่อสร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชวนดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว ลดความสูญเสียอันมาจากอุบัติเหตุทางถนนที่ป้องกันได้
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 20,000 กว่าคนต่อปี หรือวันละกว่า 60 ศพ สงกรานต์ปี 2561 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 3,724 ครั้ง บาดเจ็บ 3,897 คน เสียชีวิต 418 คน สาเหตุหลักดื่มแล้วขับ ขับเร็ว ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง เช่น ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็น 2 เท่า และปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเป็น 6 เท่า และปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงถึง 40 เท่า ขณะที่ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่ปี 2559-2561 ระบุว่ามีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่ม จำนวน 23,954 คน เฉลี่ยปีละ 7,985 คน มูลค่าความสูญเสียคิดเป็น 4,762 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1,587 ล้านบาท และยังพบว่าผู้เสียชีวิตที่ขับขี่รถจักรยานยนต์เกือบ 50% เดินทางออกไปเสียชีวิตในรัศมี ไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากบ้านของตัวเอง หรือ ขับรถใกล้แค่นี้ แต่ชีวิตเปลี่ยน โดยกว่า 41% เป็นหัวหน้าครอบครัว
“สสส. ได้รณรงค์ขับเคลื่อน หนุนเสริมและผลักดันการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุตลอดทั้งปี โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย ตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทั่วประเทศ เพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ดื่มแล้วขับให้จริงจังและต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งในปีนี้ สสส. ได้รณรงค์โดยใช้หัวข้อ “สงกรานต์ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” โดยทำควบคู่ไปกับการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามากกว่า 164 พื้นที่ มีถนนตระกูลข้าว จำนวน 51 แห่ง นอกจากนี้ยังผลิตคลิปวิดีโอรณรงค์ผ่านบทเพลง “คิดถึงบ้าน” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการเดินทาง เพื่อให้ทุกคนกลับบ้านไปหาครอบครัวอย่างปลอดภัย” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สงกรานต์นี้ประชาชนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถช่วงกลางคืน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ร่วมใช้เส้นทางที่ดื่มแล้วขับ ซึ่งคนขับรถควรพึงตระหนักว่าห้ามดื่มสุราเด็ดขาด ส่วนผู้โดยสารและคนเล่นน้ำห้ามยื่นสุราให้คนขับรถเช่นกัน กรณีขับขี่รถจักรยานยนต์ต้อง “ดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว สวมหมวกนิรภัย" ผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกิน 50 mg% มีอัตราโทษโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000-20,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ พักใบอนุญาต 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ เพิกถอนใบอนุญาต และผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 150 mg% ศาลจะสั่งใช้กำไลคุมประพฤติทันที และมีคำสั่งห้ามออกนอกบ้านในยามวิกาล ฝากถึงทุกครอบครัวต้องดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ดี อย่าให้ชีวิตต้องตกอยู่ให้ความลำบากเพียงเพราะความสนุก ฉลองแต่พอประมาณ เล่นน้ำอย่างปลอดภัย ไม่ออกไปนอกบ้านให้ชีวิตมีความเสี่ยง “ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย”
นางสาวรุจิเรข คุมโสระ ผู้ประสบเหตุจากคนดื่มแล้วขับ จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า เมื่อปีก่อน ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หลังจากเลิกงานได้นั่งรถตู้ของร้านรวมกับพนักงานคนอื่นๆอีก 7 คน ซึ่งตนนั่งหน้าข้างคนขับและหลับไป เมื่อรถแล่นไปได้ประมาณ 1 กม. คนที่โดยสารไปด้วยกันเล่าให้ฟังภายหลังว่า คนขับขับรถเร็วมาก พอถึงจุดเกิดเหตุทางโค้งบังคับรถไม่ได้ เสียหลักพลิกคว่ำ พุ่งข้ามเกาะไปอัดกับเสาไฟฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นฝั่งที่ตนเองนั่งพอดี หลังเกิดเหตุคนขับรถตู้มีอาการกระดูกสันหลังร้าว และยอมรับว่าดื่มมา ส่วนคนอื่นบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ที่น่าเศร้าใจคือตนเองบาดเจ็บสาหัสที่สุด ปัจจุบันกลายเป็นผู้พิการ สูญเสียการควบคุมและความรู้สึกตั้งแต่ช่วงเอวลงไป
“ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ดิฉันต้องสูญเสียโอกาสหลายอย่างในการใช้ชีวิต จากที่เคยมีรายได้หลักหมื่นเหลือแค่หลักพันบาทต่อเดือน ตอนแรกคิดว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องไกลตัว พอเกิดขึ้นกับตนเองจึงรู้ว่าในสังคมไทยยังมีคนเมาแล้วขับรถบนถนนอีกมาก สร้างผลกระทบให้กับคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เปรียบเหมือนกับตัดอนาคตเขาและครอบครัวของเขาไปด้วย สิ่งที่ดิฉันได้กลับมาจากคนดื่มแล้วขับมีเพียงคำว่า “ขอโทษ” แต่ชีวิตของผู้กระทำผิดยังไปต่อได้อย่างสวยงาม ทิ้งอีกชีวิตไว้กับความพิการ จึงขอฝากเตือนถึงคนที่กำลังวางแผนจะขับรถเดินทาง ไม่ว่าจะไปคนเดียวหรือไปกับครอบครัว ขอให้มีสติอยู่เสมอ เพราะคำว่า ‘ถ้าย้อนเวลากลับไปได้’ แท้จริงแล้วไม่สามารถเป็นไปได้” น.ส.รุจิเรข กล่าว