ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ เป็นประธานเปิดงานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ “ขับเคลื่อนสังคมพหุวัฒนธรรม ด้วยคุณธรรมความดี พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” โดยมีนายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้นำชุมชน ตลอดจนองค์กรภาคีเครือข่าย 14 จังหวัดภาคใต้ ให้การต้อนรับ
นายวีระ กล่าวตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีของประเทศและโลก ส่งผลต่อวิธีคิดและวิถีชีวิตของประชาชนให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในปัจจุบันประเทศไทย เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น มีคนจำนวนไม่น้อยขาดความยับยั้งชั่งใจ มีการใช้ความรุนแรง สร้างความแตกแยก และเผยแพร่ผ่านทางโซเชียล อีกทั้งยังพบปัญหาการทุจริตคอรัปชันทุกระดับในองค์กรต่างๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความบกพร่องทางคุณธรรมจริยธรรมของคนไทย ที่ยึดมั่นในความดีน้อยลง ส่งผลให้สังคมมีความสุขน้อยลงตามไปด้วย สิ่งที่อยากเห็นสังคมไทยหันหน้าคุยกันและมีรอยยิ้ม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนในอดีต
สำหรับการจัดงานสมัชชาคุณธรรม มีเป้าหมาย ในการส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อน แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติไปสู่องค์กรคุณธรรม ชุมชนคุณธรรม อำเภอคุณธรรม และจังหวัดคุณธรรม ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น โดยมุ่งเน้นให้นำประสบการณ์ความรู้ ความสำเร็จขององค์กรเหล่านั้นมาจัดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาเป็นความรู้ การส่งเสริมคุณธรรมที่เหมาะสมกับสังคมไทย ซึ่งสิ่งสำคัญที่ตนขอเน้นย้ำคือ ให้คนไทยทุกภาคส่วนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ การดำรงตนให้เป็น จิตอาสา ทำความดีเพื่อผู้อื่น มาใช้ในการครองตน รู้จักความพอเพียง พอดี ไม่มักมาก สกัดและยับยั้งการทุจริตทุกรูปแบบ และรู้จักที่จะบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ก็จะนำมาซึ่งการสร้างสังคมที่เป็นสุข และเป็นปึกแผ่นเดียวกัน
ซึ่งการจัดงานสมัชชาคุณธรรม จะต้องสร้างกระบวนการขัดเกลา บ่มเพาะ ปลูกฝัง จิตสำนึกของประชาชน และจะต้องประสานความร่วมมือ รวมพลังกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และองค์กรทางศาสนา ให้เป็นพลังประชารัฐขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบาย ปฏิบัติให้เข้าถึงบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ตลอดจนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนคุณธรรมร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ ในเรื่อง พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา อีกทั้งให้มีการส่งเสริมกระบวนการค้นหา ยกย่อง เชิดชูบุคคล องค์กรด้านคุณธรรมทุกระดับด้วย
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ หรือ ตลาดนัดคุณธรรม มีการแสดงผลงานเชิงรูปธรรมด้านการส่งเสริมคุณธรรม ที่สะท้อนคุณธรรม “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” ของชุมชน องค์กรเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ จาก 14 จังหวัดภาคใต้
จากการเดินชมตลาดนัดคุณธรรม สายตาสะดุดที่ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังปักลูกปัดบนผืนผ้าอย่างตกอกตกใจ เธอชื่อ วิรัญญา ภู่ทับทิม หรือน้องนี เล่าให้ฟังว่า นับตั้งแต่ยางพาราราคาตกต่ำ ครอบครัวมีปัญหาเรื่องรายได้ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับสมาคมมุสลิม๊ะฮ์อาสาพัฒนา จ.นครศรีธรรมราช มาชวนผู้หญิงหรือแม่บ้าน เข้าเป็นสมาชิก จากนั้นก็เชิญวิทยากรมาสอนอาชีพเพื่อให้ผู้หญิงหรือแม่บ้านนำความรู้ไปพัฒนาและสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว สำหรับเธอสนใจปักลูกปัด ส่วนตัวชอบเรื่องความสวยงามที่สำคัญมองว่าน่าจะขายได้ ก็จริงตามคาด พอเราใส่ชุดที่ปักลูกปัด มีคนทักซื้อที่ไหน บอกปักเอง เขาก็สั่งทำ
"ผ้า 1 ผืนใช้เวลาในการปักลูกปัด 1-3 วันขึ้นอยู่กับลวดลายว่ายากง่ายหรือลายมากน้อยแค่ไหน หากปักเสร็จเรียบร้อยแล้วจะขายผืนละ 1,500 บาท ซึ่งทุกวันนี้เฉลี่ยมีรายได้จากการปักนี้ประมาณ 300 บาท อย่างไรก็ตาม จากการปักลูกปัดมากว่า 2 ปี ปัจจุบันมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีร้านในกรุงเทพฯมาสั่งทำเพื่อนำไปจำหน่ายด้วย พูดได้ว่ามีออเดอร์กระทั่งปักไม่ทันทีเดียว" วิรัญญา กล่าวด้วยว่า เธอเป็นวิทยากรอาสานำความรู้และเทคนิคปักลูกปัดตระเวนสอนกลุ่มแม่บ้านและผู้สนใจด้วย เพราะมีแนวคิดว่า อยากส่งความรู้ให้คนอื่นนำไปประกอบอาชีพหรือเป็นอาชีพเสริม อีกอย่างการนั่งปักลูกปัดอยู่กับบ้านเธอรู้สึกอบอุ่นได้อยู่กับครอบครัว คิดว่าดีกว่าออกไปรับจ้างนอกบ้านหรือไปรับจ้างต่างถิ่นด้วย
จากปักลูกปัดสายตามาสะดุดบูธถ่านผลไม้ มังคุด ลูกจาก ใบไม้ ว่าที่ ร.ต.หญิงอรุณพร จันทรเสน ประธานศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบบ้านไสเหนือ จ.นครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า นำกิ่งไม้ ผลไม้ที่ตก ที่คิดว่าไม่มีประโยชน์มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำมาเผาเป็นถ่านด้วยกรรมวิธีภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ทำให้หลังเผาแล้วยังมีรูปลักษณ์เหมือนเดิมเพียงแต่สีดำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีโรงแรม ร้านอาหาร สั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากใช้เป็นถ่านดับกลิ่นแล้ว ยังตกแต่งให้สวยงามได้ด้วย
ภายหลังเผาเป็นถ่านแล้ว จะเลือกมาจัดใส่ถุงผ้า ตะกร้า หรือภาชนะต่างๆ จัดให้สวยงาม คล้ายกับการจัดดอกไม้ ซึ่งทำเป็นอาชีพเสริมได้ ขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่อง เธอไม่หวงวิชา สอนทุกขั้นตอน ไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะมีแนวคิดว่าการเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ที่สนใจ เขาจะได้นำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม การส่งไม้ต่อความรู้ของ “จิตอาสา” ไปสู่รุ่นหลังนั้น นอกจากสืบทอดภูมิปัญญารุ่นสู่รุ่นแล้ว ยังช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีรอยยิ้มให้กัน