นักอักษรฯ เผยความหมาย "อภิเษก" ระบุในแผ่นดินไทยมีการอภิเษกพระมหากษัตริย์มานาน แต่จารึกกล่าวถึงน้อย ด้านภัณฑารักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เผยการตีความหมายเครื่องเบญราชกกุธภัณฑ์ และคำตอบที่เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์มีสิ่งของ 6 อย่าง แต่นับรวมเป็น 5 อย่าง
น.ส.พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการ เนื่องในสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พ.ศ. 2562 เรื่อง “เครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จัดโดยกรมศิลปากร ว่า การอภิเษกพระมหากษัตริย์นั้น คำว่า "อภิเษก" ตามพจนานุกรมฉบับราบัณฑิตยสถาน หมายถึง การแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ทั้งนี้ ธรรมเนียมโบราณการรดน้ำ อาจมาจากพระพุทธศาสนาก่อน แล้วเอาพิธีพราหมณ์มาปะปนภายหลัง โดยมีความหมาย คือ 1.การให้สิทธิหรือยกให้ เหมือนในพระเวสสันดรชาดก ที่พระเวสสันดรรดน้ำให้พราหมณ์ที่มาขอช้าง หรือรดน้ำให้ชูชกที่มาขอกัณหา ชาลี เป็นเครื่องหมายว่ายกให้แล้ว 2.ความเป็นสิริมงคล เช่น รดน้ำช่วงสงกรานต์ การโกนผมไฟเด็ก แม้จะเป็นการรดเพื่อล้าง แต่ก็ใส่น้ำมนต์เข้าไปเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ และ 3.การให้สิทธิและให้เพื่อสิริมงคล เช่น รดน้ำแต่งงาน พ่อแม่ฝ่ายหญิงรดน้ำเพื่อยกลูกสาวให้ น้ำที่รดเป็นน้ำมนต์เพื่อเป็นความศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
น.ส.พิมพ์พรรณ กล่าวว่า ตามตำราโบราณการรดน้ำของไทยยังมีอีกหลายความหมาย อย่างกฎหมายตราสามดวง ว่าด้วยกฎมณเฑียรบาล มีคำอีกหลายคำ เช่น ปฐมาภิเษก อาจเป็นตอนที่จะโกนผมไฟเด็ก หรือสังครามาภิเษก คือ รดน้ำให้คนที่จะออกศึก ให้เกิดกำลังใจเกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้ไปรบ หรืออาจารยาภิเษก บางตำราว่าเป็นการรดน้ำเพื่อตั้งพราหมณ์ปุโรหิต หรือตั้งครูทางคชกรรม ทั้งนี้ ตามตำราโบราณกล่าวว่าผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ จะมีลักษณะเฉพาะสำหรับการอภิเษก 5 อย่าง คือ ปัญจราชาภิเษก ประกอบด้วย
1.มงคลอินทราภิเษก คือ ผู้จะได้เป็นพระมหากษัตริย์ มีพระอินทร์เอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาถวาย มีบุษยพิชัยราชรถ และฉัตรทิพย์บังเกิดขึ้น 2.มงคลโภคาภิเษก คือ บุคคลมีเชื้อสายตระกูลพราหมณ์ที่เป็นมหาเศรษฐี มีทรัพย์สมบัติบริวาร มีราชธรรม ราชูธรรม ทศกุศลธรรม มีธรรมะของผู้ปกครอง รู้จักแบ่งปัน ดับทุกข์ร้อนอาณาประชาราษฎร์ได้ 3.มงคลปราบดาภิเษก คือ ผู้มีเชื้อสาย อาจเป็นกษัตริย์หรือไม่เป็นก็ได้ มีความกล้าหาญ เอาชนะข้าศึกศัตรูได้บ้านเมือง ปราดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ 4.มงคลราชาภิเษก เหมือนการรับมรดกจากพระราชบิดา ตามเผ่าพันธุ์วงศา และ 5.มงคลอุภิเษก คือ การเป็นเชื้อสายกษัติรย์ พระราชบิดา พระราชมารดาตระกูลเสมอกัน อภิเษกสมรสกัน
น.ส.พิมพ์พรรณ กล่าวว่า จากการค้นจารึกต่างๆ ของประเทศไทย การอภิเษกพระมหากษัตริย์ไม่ได้เลือนหายไปจากสังคม เพียงแต่ไม่ได้มีการกล่าวชัดเจนไว้ในจารึก ว่าขั้นตอนเป็นอะไรอย่างไร แต่ที่พอมีข้อมูล มีหลักฐานว่า ในบริเวณประเทศไทยมีการอภิเษกพระมหากษัตริย์ มีการเฉลิมพระนามใหม่ และพอยุคสุโขทัยจะเริ่มเห็นว่ามีฉัตร มีพระขรรค์ มีมงกุฎ ยังมีไม่ครบ 5 อย่าง ยกตัวอย่าง คือ จารึกพระเจ้าจิตเสน หรือจารึกวัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี ที่เป็นภาษาปัลลวะ บอกว่าพระเจ้าจิตรเสน อภิเษกและได้พระนามใหม่ คือ พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน หรือจารึกนครชุม เกี่ยวเรื่องราชาภิเษกของพญาลือไทย หลานพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อภิเษกเป็น พระศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช แต่ไม่ได้บอกว่ามีขั้นตอนอะไรในการอภิเษก เป็นต้น
นายยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวว่า เครื่องพระบรมราชอิสริยยศ แบ่งออกเป็น 5 หมวด คือ ราชกกุธภัณฑ์ ราชศิราภรณ์ เครื่องราชูปโภค พระแสงราชศัตราวุธ และพระราชยาน โดยพระราชกกุธภัณฑ์ หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นพระราชา ประกอบด้วย 5 สิ่ง เรียกว่า เบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ ฉลองพระบาทเชิงงอน และวาลวิชนีและพระแส้จามรี ส่วนราชศิราภรณ์ ประกอบด้วย พระชฎาต่างๆ พระมาลา จำนวนมาก เครื่องราชูปโภค คือ ของที่พระองค์ได้ตั้งแต่งเป็นของใช้ พระแสงราชศัตราวุธ คือ อาวุธ และพระราชยานคานหามเรือต่างๆ
นายยุทธนาวรากร กล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ ๑ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ ธารพระกร พระพัดวาลวิชนี และฉลองพระบาท ส่วนช่วงรัชกาลที่ ๒ และ ๓ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เปลี่ยนเป็น เศวตรฉัตร พระแสงขรรค์ ธารพระกร พัดวาลวิชนี และพระแสงดาบ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงกลับไปใช้อย่างรัชกาลที่ ๑ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร ฉลองพระบาท และวาลวิชนี โดยทรงเพิ่มเติม เนื่องจาก วาลวิชนี คือ พัชนีฝักมะขาม แต่ทรงโปรดให้เปลี่ยนว่า วาลวิชนี คือ แส้ เลยใช้เป็นพระแส้หางจามรีแทน และใช้ควบคู่กันมา ของจึงมี 6 อย่าง แต่รวมเป็นเบญจราชกกุธภัณฑ์
"เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ แต่ละอย่างมีความหมาย ยกตัวอย่าง พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระราชภาระในการปกครองประเทศ พระแสงขรรค์ชัยศรี หมายถึง ความเที่ยงตรงเด็ดขาดในการตัดสินเรื่องราวต่างๆ หรือปกป้องปราบปรามศัตรูหมู่ร้าย ธารพระกร หมายถึง ทรงต้องมีหลักการและทฤษฎีในการปกครองประเทศ ทรงบริหารแผ่นดินด้วยความสุขุมคัมภีรภาพดังผู้มีวัยวุฒิ วาลวิชนี (พัชนีกับพระแส้จามรี) หมายถึงการปัดเป่าทุกข์ภัย บำรุงสุขราษฎร และฉลองพระบาท หมายถึง ต้องทรงปกครองแผ่นดินและราษฎร ซึ่งเป็นฐานรองพระราชอำนาจให้อยู่ดีมีสุขเสมอกันทั้งแผ่นดิน" นายยุทธนาวรากร กล่าว
อนึ่ง คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ว่า เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี (พัดและแส้) และฉลองพระบาท
พระมหาพิชัยมงกุฎ
เป็นพระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 7,300 กรัม สร้างขึ้นเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในรัชกาลที่ ๑ ในครั้งนั้นยอดพระมหาพิชัยมงกุฎยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็กๆ จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปเลือกสรรหาซื้อเพชรขนาดใหญ่มาจากประเทศอินเดีย นำมาประดับยอดมงกุฎแทนพุ่มข้าวบิณฑ์ พระราชทานเพชรเม็ดนี้ว่า “พระมหาวิเชียรมณี” เพชรเม็ดนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.6 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.4 เซนติเมตร
พระแสงขรรค์ชัยศรี
เป็นพระขรรค์โบราณ เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร สมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จมอยู่ในทะเลสาบเมืองนครเสียมราฐ มาเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีใครทราบ ชาวประมงไปทอดแหติดขึ้นมา องค์พระขรรค์ยังดีไม่มีสนิมผุกร่อน ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และ นครเสียมราฐ จึงได้มอบให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. 2327 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม เสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2328 พระแสงองค์นี้ เฉพาะองค์ยาว 64.5 ซ.ม. ที่สันตอนใกล้จะถึงด้ามคร่ำด้วยทองคำเป็นลวดลายงดงาม ด้ามพระขรรค์ ยาว 25.4 ซ.ม. สวมฝักแล้วยาว 101 ซ.ม. หนัก 1,900 กรัม
ธารพระกร
เป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำตลอด ปลายสุดของธารพระกรทำเป็นซ่อมสามง่าม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ว่า “ลักษณะก็เหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่สำหรับใช้ในการชักมหาบังสุกุล ธารพระกรองค์นี้สร้างขึ้นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แต่รัชกาลที่ ๑
พระวาลวิชนี
ของเดิมที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เป็นพัดใบตาลแบบที่เรียกกันว่า พัชนีฝักมะขาม ที่ใบตาลปิดทอง ขอบขลิบทองคำด้ามก็ทำด้วยทองคำ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” นั้นไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้จามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่าพระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้ควบคู่กัน โดยเรียกของสองสิ่งรวมกันว่า “วาลวิชนี ”
ฉลองพระบาท
เป็นฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก 650 กรัม สร้างเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาราชครูวามหามุนีเป็นผู้สวมถวาย