ผู้สูงอายุหากหกล้มแล้วไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดการพิการและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะรักษาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องฟื้นฟูผู้สูงวัยให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีก
พญ. ธันยาภรณ์ ตันสกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะพักฟื้นการกายภาพและฟื้นฟูร่างกายโดยทีมสหสาขา จะเป็นอีกทางเลือก ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้เร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว ลดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเข้ารักษาซ้ำที่โรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านระบบประสาทและสมอง ผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการตระหนักรู้ในการป้องกันการหกล้ม และมีความสามารถในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ แพทย์จะทำการตรวจประเมินความเสี่ยงในการหกล้ม ให้การรักษาด้วยโปรแกรมฝึกความสามารถในการทรงตัวและการเคลื่อนไหว
พญ.ธันยาภรณ์ กล่าวว่า แนวทางป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ อาทิ การฝึกเดินที่ถูกต้อง รวมถึงการสวมรองเท้าที่เหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกำลังของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว ทดสอบด้วยเครื่อง Balance Master เพื่อตรวจความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวัน ทดสอบการเซ ความสมดุล จุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย เครื่อง Aquatic Treadmill เป็นเครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ เพื่อช่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัว ผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัดข้อกระดูกสันหลัง สะโพกเสื่อม กระดูกหัก ช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นโปรแกรมเฉพาะบุคคลที่สามารถปรับระดับน้ำได้ หรือใช้เครื่อง Alter-G Treadmill ลู่วิ่งต้านแรงโน้มถ่วง อุปกรณ์คล้ายถุงลมช่วยแบกรับน้ำหนักของร่างกายเอาไว้ได้สูงสุดถึง 80% ของน้ำหนักตัว
"สำหรับผู้ป่วยมีปัญหาในการลงน้ำหนัก เช่น หลังผ่าตัดใหม่ๆ บริเวณขา หัวเข้า ข้อเท้าหรือเท้า ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก นักกีฬาหรือผู้ป่วยที่ต้องการให้ร่างกายแข็งแรงจำเป็นต้องมีการออกกำลัง เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกล้ามเนื้อ การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็ก 4 ขา (Walker) ไม้เท้า การปรับพฤติกรรมส่วนตัว เช่น การค่อยๆ ลุกยืนอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตตกในท่ายืน หรือหน้ามืด การหาราวสำหรับเกาะเดิน นอกจากนี้ผู้ป่วยควรสร้างเสริมภาวะโภชนาการที่ดี การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือเมื่อต้องใช้ยาควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ประเมินการใช้ยา หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น หรือมากเกินไป หากได้รับยาหลายชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดการหกล้มแนะนำให้ปรึกษาแพทย์" พญ.ธันยาภรณ์ กล่าว
ด้าน พญ.พัณณิดา วัฒนพนม ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การฟื้นฟูผู้สูงอายุที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง และกระดูกสะโพกหักเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง หลังผ่าตัดอาจจะยังมีข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวัน การเดินการทรงตัวก็ยังไม่มั่นคง ต้องการการฟื้นฟูต่อเนื่อง เพื่อให้กลับมาแข็งแรงได้ใกล้เคียงปกติ ซึ่งการกลับไปดูแลต่อที่บ้านในระยะแรกจะต้องการคนดูแลใกล้ชิด การทำกายภาพต่อเนื่อง รวมไปถึงการปรับสถานที่สภาพแวดล้อมที่บ้าน
"การปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน อาจทำได้โดย มีวัสดุกันลื่นในห้องน้ำ ไม่วางของระเกะระกะ ควรมีแสงสว่างเพียงพอโดยเฉพาะตรงราวบันได ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อยๆ โดยปุ่มสวิทซ์อยู่ใกล้มือเอื้อม มีอุปกรณ์เครื่องเรือนบริเวณที่อยู่เท่าที่จำเป็น และต้องแข็งแรงมั่นคงอยู่สูงจากพื้นมองเห็นได้ง่าย ไม่ย้ายที่บ่อยๆ เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วมมีความสูงพอเหมาะ ไม่เตี้ยเกินไป ทางเดินและบันได ควรมีราวจับตลอด และขั้นบันไดสม่ำเสมอ พื้นห้องสม่ำเสมอและเป็นวัสดุที่ไม่ลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำ บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างห้องควรอยู่ในระดับเดียวกัน หลีกเลี่ยงธรณีประตู ไม่ควรมีสิ่งของเกะกะ เช่น พรมเช็ดเท้า สายไฟฟ้า" พญ.พัณณิดา กล่าว
พญ. พัณณิดา กล่าวว่า ภายใน รพ. กรุงเทพ มีรพ.ชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพระยะฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดและต้องการฟื้นฟูทำกายภาพบำบัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าตัดกระดูกสะโพก และผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อย่างอัมพาต อัมพฤกษ์ หรือ อาการบาดเจ็บทางศีรษะ (Traumatic brain injury) หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง มีอาการบาดเจ็บหลายระบบของร่างกาย หรือกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว โดยจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุและเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบำบัด ให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ภาวะโภชนาการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมถึงสุขภาพร่างกาย จิตใจ แบบองค์รวม เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือมีส่วนร่วมในสังคมได้ดีขึ้น พร้อมด้วยห้องพักผู้ป่วย ที่เป็นสัดส่วน สะอาด ทันสมัย ออกแบบฟังค์ชั่นการใช้งาน โดยคำนึงถึงผู้ป่วยในระยะพักฟื้นโดยเฉพาะ