ยึดหลัก “การมีส่วนร่วม” จัดการศึกษาตอบโจทย์ประเทศไทย เสริมพลัง “เครือข่าย” นำการศึกษาเปลี่ยนผ่านนวัตกรรม 4.0 สู่การใช้นวัตกรรม 5.0 สร้างการศึกษายั่งยืน
วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับมูลนิธิศึกษาธิการ จัดสัมมนาสรุปบทเรียนโครงการขยายการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน เด็กและเยาวชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักวิชาการโดยทั่วไป เข้าร่วม จำนวน 700 คน ณ โรงแรมที เค พาเลซ & คอนเวนชัน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการขยายการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 และจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยความร่วมมือทางวิชาการจาก 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏลพบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช รวมทั้ง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการโครงการมีเป้าหมาย 5 ประการ คือ 1. การสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหาทุกโภชนาการและโรคอ้วน 2. การสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหาการสูบบุหรี่และสารเสพติด 3. การสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหาสุขภาวะทางเพศ 4. การสร้างความตระหนักด้านคุณธรรมจริยธรรม และ 5. ด้านคุณภาพการศึกษาที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะ
ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานได้กำหนดให้โรงเรียนรวมตัวกันเป็นเครือข่ายตามความสมัครใจ ตามความเชื่อ ปรัชญา สังคมและวัฒนธรรม ปัญหาและความต้องการเดียวกัน เครือข่ายละประมาณ 5 แห่ง โดยใช้แนวคิดเชิงนวัตกรรม 8 ร่วมที่นำไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผลและร่วมชื่นชมผลสำเร็จ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยทำหน้าที่สนับสนุนวิชาการ ติดตามและประเมินผล และกำหนดให้เครือข่ายจัดทำโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมาย 5 ด้าน 15 ตัวชี้วัด ด้วยกระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา รายวิชาเพิ่มเติม คู่มือ สื่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ และถอดบทเรียน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในพื้นที่ 11 จังหวัด 30 เครือข่าย 161 สถานศึกษา ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา บรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนด โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่าย โรงเรียนในโครงการ ผู้ปกครอง และชุมชน โดยเฉพาะภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญเด็กและเยาวชนในโครงการมีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ดี และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาวะไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นของแต่ละเครือข่าย ที่เป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ดร.พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล คณบดีคณะครุศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า คณะครุศาสตร์มีความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นของโครงการใช้หลักการของการมีส่วนร่วม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการมีส่วนร่วม ซึ่งจากแนวคิดเชิงนวัตกรรม 8 ร่วม ในวันนี้ ถือเป็นการจัดงานในขั้นตอนที่ 8 ที่ทุกคนได้มาร่วมกันชื่นชมยินดีกับความสำเร็จและได้มาถอดบทเรียนร่วมกันเพื่อการทำงานในอนาคตต่อไป
ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ภาคีราชบัณฑิต กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่องการจัดการศึกษาฐานชุมชนแบบมีส่วนร่วมจากยุค 4.0 สู่ 5.0 ว่า รากฐานการศึกษาของไทยคือการศึกษาของชุมชน โดยชุมชนร่วมกันจัดการศึกษาเอง ซึ่งจะมีความคล่องตัว หลากหลาย และเกิดรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่าย ซึ่งโครงการขยายการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน เป็นโครงการที่ตอบโจทย์การศึกษาของประเทศไทย เกิดนวัตกรรมทางการศึกษา จำนวนมาก อาทิ หลักสูตรที่สนองตอบความต้องการของชุมชน คู่มือการจัดการเรียนรู้ของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงคู่มือการพัฒนาชีวิต เกิดสื่อการเรียนรู้ แผนการเรียนรู้ นวัตกรรมการทำงาน ที่หลากหลาย เป็นต้น
“การจัดการศึกษาในยุค 4.0 คือการสร้างนวัตกรรม แต่การศึกษาที่จะก้าวสู่ยุค 5.0 คือ การใช้นวัตกรรม เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น การจัดการศึกษาในอนาคต เครือข่ายคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะต้องดำเนินการใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.สร้างความยั่งยืนในทุกระดับ 2.ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น มีความรับผิดชอบ ให้ความร่วมมือ 3.กำหนดสาระ คิดให้ใหญ่ขึ้น 4.เป็นพลังผลักดันเพื่อส่งเสริมให้การศึกษาของชาติสนใจวิถีชีวิตที่ดีงาม 5.พัฒนาและสร้างกิจกรรมเพื่อเป็นคานงัดให้การศึกษาของชาติดำเนินไปในแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ยุค 5.0” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
ด้าน นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า บริบทการทำงานของสำนัก 4 รับผิดชอบเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ เด็ก เยาวชนและครอบครัว ตอบโจทย์ สสส.ใน 4 ด้าน (กาย จิต สังคม และปัญญา) เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน จึงให้ความสำคัญกับโรงเรียนในการพัฒนาเพื่อเป้าหมายดังกล่าว โครงการขยายการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน มีการพัฒนาโครงการมาแล้ว 4 ครั้ง ในกระบวนการนำเสนอผลการดำเนินงานในวันนี้ ตอบโจทย์ของ สสส. โดยเฉพาะด้าน 1. เนื้อหา ด้านสุขภาวะที่มีการนำเสนอสาระอย่างชัดเจน 2. ด้านกระบวนการ ใช้การมีส่วนร่วม ตอบโจทย์การจัดการศึกษาของรัฐ ที่ให้ความสำเร็จอยู่ที่ชุมชนฐานราก โดยปฏิรูปให้ชุมชนลุกขึ้นมาร่วมจัดการศึกษา 3. ตอบโจทย์ที่ สสส.ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ปี เกี่ยวกับการลดภาวะด้านเหล้า การสูบบุหรี่ เรื่องเพศ ด้วยกระบวนการให้ความรู้และสร้างความตระหนักอย่างเป็นองค์รวม โดยเฉพาะสุขภาวะทางปัญญาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียน