อย.ร่วม บก.ปคบ.จับกุมแหล่งนำเข้า-ขาย "สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก" ลิ่วเว่ยจ้วงกู่ซู่หรงฉา จาก 6 แหล่ง ทั้งกทม. นนทบุรี ราชบุรี และเชียงราย มูลค่ากว่า 5 แสนบาท พบใส่ยาอันตราย ทั้งกลุ่มเอ็นเสด ยาแก้แพ้ สเตียรอยด์ ไปจนถึงยาแก้เซ็กซ์เสื่อม ไม่มีเลข อย. อ้างรักษาสารพัดโรคกระดูก ชี้ กินแล้วอันตรายถึงชีวิต
วันนี้ (5 เม.ย.) นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. และ พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวการทลายแหล่งนำเข้า "สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก" รูปแบบแบบของชาชงและแคปซูล ซึ่งมีการโฆษณาว่า ใช้รักษาโรคกระดูก ปวดเข่า ไขข้อเสื่อม เป็นต้น
นพ.พูลลาภ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสมุนไพรจีนบำรุงกระดูกดังล่าวใช้ชื่อ ว่า "ลิ่วเว่ยจ้วงกู่ซู่หรงฉา" ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้เราเคยจับได้เมื่อปี 2561 ที่เยาวราช แต่มีการมาขายอีกทางเฟซบุ๊ก มักพบข้อความโฆษณา เช่น สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก ชาบำรุงกระดูก บรรเทาอาการปวดข้อ เอ็น กล้ามเนื้อ โรคเกาต์ รูมาตอยด์ ข้อเสื่อม กระดูกพรุน หายได้ ไม่ต้องผ่าตัด เห็นผลไว เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ปลอดภัยไม่ใช้สารสเตียรอยด์ จึงได้มีการขยายผลสืบสวนร่วมกับทางตำรวจในการจับกุม ซึ่งพบแหล่งจำหน่ายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด โดยผลิตภัณฑ์มีการใส่ยาหลายชนิดด้วยกัน
นพ.พูลลาภ กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ ได้ของกลางมูลค่ารวมกว่า 5 แสนบาท มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ดังนี้ 1.แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 2.ผลตรวจวิเคราะห์พบการใส่ยาหลายชนิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.กรณีเป็นผู้จำหน่ายปลีกให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าผู้กระทำความผิดอีกใน 6 เดือน นับจากวันที่กระทำผิดครั้งก่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.โฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท และ 5.โฆษณาคุณประโยชน์หรือสรรพคุณอันเป็นเท็จ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อาหารไม่มีผลต่อการรักษา ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ขอให้ดูว่ามีเลข อย.หรือไม่ เพราะการที่มีเลข อย.จะช่วยให้ตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิต นำเข้า เก็บ และจำหน่ายได้ แต่ไม่มีเลข อย.เช่นนี้จะไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้เลย ทำได้แค่เอาผิดผู้ขายอย่างเดียว จึงขอเตือนว่าอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้เด็ดขาด
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า อย.เคยจับกุมผลิตภัณฑ์นี้เมื่อปี 2561 ที่ย่านเยาวราช ผลิตภัณฑ์ไม่มีการขออนุญาต อย.ใดๆ ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์มีแต่ภาษาต่างชาติ และไม่มีเลข อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย จากการตรวจสอบครั้งที่ผ่านมา โดยยึดและเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์พบว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไม่ใช่ชาธรรมดา เพราะมีการลอบใส่ยาลงไป ทั้งหมด 6 ชนิด คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่เป็นเอ็นเสด ประกอบด้วย 1.ไดโคลฟิแนค 2.ไพรอกซิแคม 3.ไอบูโพรเฟน 4.พาราเซตามอล 5.กลุ่มยาสเตียรอยด์เดกซาเมธาโดน และ 6.ยาแก้แพ้คลอเฟนิรามีน นอกจากนี้ บางครั้งก็ใส่ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศลงไปด้วย คือ ซิลเดนาฟิล จึงถือว่าผลิตภัณฑ์ชนิดมีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ ที่มีอาการปวดข้อ ปวดเข่า เข่าเสื่อม เมื่อรับประทานลงไปก็คิดว่าเป็นชาที่ทำให้หายปวดลงไป แต่ผลข้างเคียงที่ตามมา คือ กระเพาะอาหารทะลุ เป็นนิ่ว มีอาการกระดูกพรุนตามมา ทำความดันโลหิตสูงขึ้น อาจรุนแรงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ไตวายได้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หลังจากร่วมกับตำรวจสืบหาแหล่งต้นตอที่นำเข้ามา วันที่ 4 เม.ย. 2562 จึงขอหมายค้นเข้าทำการจับกุม จนกระทั่งได้ของกลางอย่างที่เห็น
พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต กล่าวว่า หลังจากจับกุมที่ย่านเยาวราช แต่กลับพบว่า มีการไปขายทางเฟซบุ๊ก จึงใช้เวลาในการสืบประมาณ 2 เดือน จึงทราบแหล่งจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ผลิตจากต่างประเทศ โดยได้เข้าทำการค้น 6 แหล่ง ประกอบด้วย กทม. 3 แหล่ง ราชบุรี นนทบุรี และเชียงราย รวม 3 แหล่ง โดย จ.เชียงรายเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด โดยพบว่ามีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากพ่อค้าในประเทศพม่า และนำมาขายและโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก