ก.แรงงาน จับมือเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร หารือพัฒนาหลักสูตรยกระดับพ่อครัวแม่ครัวไทยสู่ครัวโลก เผยตลาดแรงงานยังต้องการอีกกว่า 1.56 หมื่นคน อบรมแล้ว 1.3 หมื่นคน
วันนี้ (4 เม.ย.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหาแนวทางความร่วมมือการส่งเสริมยกระดับพ่อครัว แม่ครัวไทยสู่ครัวโลก ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและยกระดับพ่อครัวแม่ครัวไทยสู่ครัวโลกผ่าน 5 มาตรการคือ 1.เตรียมความพร้อมพ่อครัวแม่ครัวไทยให้มีทักษะฝีมือได้มาตรฐาน 2.ขยายตลาดตำแหน่งพ่อครัวแม่ครัวไทยทั้งในและต่างประเทศ 3. สร้างมาตรฐานอาหารไทย 4.ส่งเสริมภาพลักษณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ และ 5. วิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ตลาดแรงงานยังมีความต้องการพ่อครัวแม่ครัวอีก 15,600 คน ประกอบด้วย ภายในประเทศ 11,600 คน ซึ่งกระทรวงดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 13,020 คน ส่วนตลาดต่างประเทศมีความต้องการ 4,000 คน ส่วนผลสำรวจข้อมูลด้านร้านอาหารไทย พบว่า ทวีปอเมริกาเหนือมีร้านอาหารไทย 5,342 แห่ง ยุโรป 2,000 แห่ง ออสเตรเลีย/โอเชียเนีย 3,000 แห่ง และประเทศกลุ่มอาเซียน 1,323 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้มีการจ้างงาน โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ การส่งเสริมศักยภาพมาตรฐานฝีมือแรงงานในต่างประเทศ และออกหนังสือให้แรงงานไทยในต่างประเทศด้วย
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ได้มีการเชิญเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานในการส่งเสริมด้านอาหารไทย ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โรงเรียนการอาหารไทย เอ็ม เอส ซี มหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์ มาร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาฝีมือให้กับพ่อครัว-แม่ครัวไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้นทั้งทักษะฝีมือ ทักษะด้านภาษา เพื่อขยายตลาดและส่งเสริมแรงงานสาขาอาหารไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยขอให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอผลดำเนินการที่ผ่านมาและแผนที่จะดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานในการพัฒนาศักยภาพพ่อครัวแม่ครัว ให้สามารถรักษาเอกลักษณ์และคงความเป็นต้นตำรับอาหารไทยที่แท้จริง เพื่อตอบสนองนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกรวมทั้งส่งพ่อครัวแม่ครัวไปทำงานในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในปี 2562 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานตามโครงการฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารรองรับครัวไทยสู่ครัวโลกเป็นการฝึกอบรม3,706 คน ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในประเทศ 994 คน และ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในต่างประเทศ