ถึงแม้จะเกิดมาด้วยร่างกายที่ไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนคนทั่วไป แต่ด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ฝันอันแน่วแน่ที่จะเป็นครูและรักในงานศิลปะ ทำให้สิ่งที่ พรสวรรค์ ทรงเจริญ หรือ โอลีฟ นิสิตระดับปริญญาตรี หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) สาขาวิชาศิลปศึกษา (5ปี)คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นอยู่ ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เธอย่อท้อและยังคงความมุ่งมั่นที่จะส่งต่อองค์ความรู้ด้านศิลปะเพื่อเติมเต็มโอกาสให้กับนักเรียนโรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ ที่เธอฝึกสอนอยู่ในเวลานี้ ให้ได้พัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะอย่างเต็มที่ตามวัยที่ควรได้รับการสนับสนุนให้เรียนรู้
โอลีฟ บอกว่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่คนที่ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ หรอกค่ะ ความใฝ่ฝันจริง ๆ คืออยากเป็นครูสอนภาษาไทยมากกว่า แต่ที่ชอบศิลปะก็มาจากการซึมซับจากเพื่อนสนิทที่ชื่นชอบการวาดรูป ชอบศิลปะ ส่วนหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากเขา แล้วก็มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมด้านศิลปะหลายครั้งจนรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่สนุก เลยเลือกเรียนด้านนี้ หลังจากที่จบ ม.6 โชคดีตอนแอดมิดชั่นติดที่ มศว ตั้งแต่นั้นมาก็มุ่งมั่นทางด้านการเรียนเพื่อเป็นครูศิลปะ
ร่างกายโอลีฟ มีปัญหาคือไม่มีแขนข้างซ้ายมาแต่กำเนิดค่ะ จริง ๆ ก็มีหลายครั้งที่ท้อเหมือนกัน เพราะร่างกายของเราไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนคนอื่น งานศิลปะหลายอย่างอาจเหมาะสำหรับคนที่มีแขน มีมือครบ แต่เรามีปัญหาด้านนี้ เวลาที่ต้องสอน ต้องสาธิตให้เด็กนักเรียนดูตัวอย่างก็ค่อนข้างลำบากแต่จุดแข็งที่เรามีคือความรู้ ที่เราพร้อมจะสื่อสารออกไปเพื่อให้นักเรียนเข้าใจ แม้จะท้อบ้าง แต่มันไม่ใช่อุปสรรคที่เราจะส่งต่อความรู้ด้านศิลปะให้กับน้อง ๆ
หลังจากเรียนจบ สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจก็คือการนำความรู้ด้านศิลปะไปเติมเต็มให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่ จ.พิษณุโลก โอลีฟทราบมาว่าโรงเรียนแห่งนี้ยังขาดแคลนครูที่จะส่งเสริมความรู้ด้านศิลปะให้กับเด็กนักเรียน และนี่คือเป้าหมายหนึ่งที่ทำให้อยากกลับไปช่วยพัฒนาและให้โอกาสกับเด็ก ๆ ในท้องถิ่น ได้เรียนรู้ศิลปะ ซึ่งอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่สามารถพัฒนาพวกเขาได้
โอลีฟ เล่าด้วยว่า การมาเรียนที่ มศว ได้ทั้งประสบการณ์และความมีจิตสาธารณะ เพราะทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ ของ มศว มีโครงการที่ช่วยส่งเสริมความมีจิตอาสาของนิสิต เช่นกิจกรรมค่ายศิลป์อาสาพัฒนาชุมชน ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างของกิจกรรมค่ายอาสา ที่สนับสนุนให้นิสิตอาสาเป็นครูศิลปะให้กับน้อง ๆ ณ โรงเรียนที่ขาดแคลนครู โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ทำให้เรารู้ว่าความรู้ด้านศิลปะจะช่วยอะไรแก่สังคมได้บ้าง ซึ่งนิสิตทุกคนก็ซึมซับลักษณะนิสัยที่มีจิตสาธารณะจากตรงนี้เช่นกัน
จากนั้น โอลีฟ ฝากไปยังเพื่อนที่มีปัญหาด้านร่างกายว่า อย่าท้อ อย่าเอาตัวเองที่ไม่สมบูรณ์ไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เขาแลดูสมบูรณ์แบบกว่าเรา ซึ่งไม่จำเป็นเลยค่ะ เพราะคนทุกคนล้วนมีดีในแบบของตนเอง ถึงร่างกายเราจะขาดอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดไป แต่เรายังสามารถที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ และพัฒนาตนเองต่อไปได้ในทิศทางที่เราถนัดได้ ขอแค่กำลังใจที่ไม่ย่อท้อ เราก็เป็นคนที่มีความพิเศษในแบบของเราได้เช่นกัน