xs
xsm
sm
md
lg

รับจ้างขึ้นทะเบียน "ร้านนวด" ว่อนโซเชียล ส.แพทย์แผนไทยฯ จี้ตรวจสอบ ด้าน สบส.แจงยื่นเอกสารแทนได้ เหตุต้องไปตรวจมาตรฐานร้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมแพทย์แผนไทยฯ จี้ สบส.ตรวจสอบ "นายหน้า" รับจ้างขึ้นทะเบียนร้านนวดทางโซเชียล หวั่นเกิดกระบวนการใต้โต๊ะ ด้าน สบส.แจงขึ้นทะเบียนร้านนวดดำเนินการแทนกันได้ เหตุสุดท้ายต้องลงไปตรวจสอบร้านว่ามีมาตรฐานหรือไม่ แต่ย้ำขึ้นทะเบียนหมอนวดแทนกันไม่ได้ เพราะต้องตรวจสอบคน ระบุเยียวยา "หมอนวด" วันละ 600 คน มีทั้งอบรม และทดสอบองค์ความรู้ ถ้าผ่านถึงรับรอง

วันนี้ (4 เม.ย.) นายสุกษม อามระดิษ อดีตเลขานุการสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ทำการตรวจสอบสมาคมฯ โดยเฉพาะประเด็นการเปิดแฟรนไชส์อบรมหมอนวดและการซื้อขายใบประกาศนียบัตร ว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา สบส.ได้ทำหน้าที่ครบถ้วนหรือไม่ โดยมีการเพ่งเล็งมาที่สมาคมฯ แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่า มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ประกาศรับจ้างขึ้นทะเบียนร้านนวดกับ สบส.อย่างโจ่งแจ้ง พร้อมเผยแพร่ภาพถ่ายเจ้าตัวที่หน้าอาคาร สบส. มีใบรับรองที่เป็นตราสัญลักษณ์การรับรองของกรมฯ ด้วย เรื่องนี้ สบส.ทราบและมีการตรวจสอบหรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ขอให้ สบส.มีการตรวจสอบ เพราะถ้ามีระบบนายหน้าเกิดขึ้น อาจจะเปิดช่องให้มีเรื่องใต้โต๊ะเกิดขึ้นได้

ด้าน นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า จากการตรวจสอบกรณีที่มีการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กที่มีการรับอาสาไปขึ้นทะเบียนร้านนวดแทนผู้อื่น พบว่า กลุ่มคนดังกล่าว คือผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาขอเปิดร้านนวด และเขาก็ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ ตามกฎหมายต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.กรณีขอขึ้นทะเบียนเปิดร้านนวด สามารถมาดำเนินการแทนกันได้ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อมาขอขึ้นทะเบียนแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะต้องลงไปตรวจสอบร้านนวดอีกครั้งว่าได้มาตรฐานหรือไม่ หากอยู่ต่างจังหวัดก็จะมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้ตรวจสอบ ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ สบส.เป็นผู้ตรวจสอบ

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า และ 2.กรณีขึ้นทะเบียนหมอนวด เจ้าตัวจะต้องมาขึ้นทะเบียนเอง ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ เพราะเราต้องตรวจสอบว่า ตัวคนตรงกับใบประกาศนียบัตรหรือไม่ และตรวจสอบกับฐานข้อมูลออนไลน์ที่ทางโรงเรียนสอนนวดต้องส่งเข้ามาด้วยว่าตรงกันหรือไม่

"ปกติ สบส.มีการตรวจสอบร้านนวดทั่วประเทศเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะ กทม.ซึ่งมีสถานประกอบการเยอะมาก จึงทำหนังสือถึงสถานีตำรวจให้เชิญสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่มาทำความเข้าใจ ก็พบว่า มีปัญหาบ่อยๆ แต่การกระทำบางอย่างที่เล็กน้อยก็ตักเตือนและให้แก้ไข เพราะเข้าใจว่ากฎหมายเพิ่งบังคับใช้ ส่วนจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายหรือไม่ มองว่าวันนี้ยังมีการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เท่าที่ควร ต้องให้ผ่านไปสักระยะก็จะมีการทบทวนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และตอนนี้สิ่งสำคัญ คือ ไทยกำลังผลักดันให้นวดไทยขึ้นเป็นมรดกโลก ซึ่งจะทำให้อาชีพนวดมีความสำคัญ สร้างรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก จึงต้องกำกับเรื่องมาตรฐานอย่างเข้มงวด" นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีสมาคมฯ ตั้งคำถามการเยียวยาหมอนวดของ สบส. เปิดอบรมวันละ 600 คนจะได้มาตรฐานหรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้ขอเรียนว่า มีคนที่จบจากสมาคมฯ และทำงานในร้านนวดอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มาขึ้นทะเบียนภายในระยะเวลา 180 วัน ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เราถือเป็นกลุ่มคนที่ต้องการทำตามกฎหมาย จึงควรได้รับการเยียวยา ซึ่งมีประมาณ 3 พันคน ก็ให้ทดสอบเช้า 300 คน บ่าย 300 คน โดยมีโรงเรียนนวดอื่นๆ อาสามาอบมรม ทดสอบองค์ความรู้ หลักวิชานวด ข้อห้ามต่างๆ หากสอบผ่านก็รับรอง ถ้าไม่ผ่านก็ต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ซึ่งดำเนินการทั่วประเทศ ไม่ต้องเสียค่าเดินทางมาที่ กทม.เลย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้มาแจ้งภายใน 180 วัน แสดงว่าเขาไม่ประสงค์ที่จะมาขึ้นทะเบียน ต้องมาเริ่มกระบวนการใหม่ ตามที่กฎหมายบังคับ และยังไม่ได้รับการเยียวยาจนกว่าสมาคมฯ จะมีการชี้แจง แยกแยะให้ได้ว่าคนไหนผ่านการอบรมถูกต้อง

“เราไม่สามารถปล่อยให้ทดสอบในกระบวนการเยียวยาทั้งหมดได้เลย ถ้าอย่างนี้ใครไม่ต้องไปเรียนก็มาอบรม มาทดสอบได้หมด กฎหมายไม่ได้เปิดให้ทำอย่างนั้น เราต้องให้สิทธิคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายก่อน ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไปอาชีพนวดไทยจะเสียหายมาก และกระทบกับคนที่ทำถูกต้อง อาจจะถึงขั้นกระทบกับการขึ้นทะเบียนเป็นหมอนวดด้วย” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น