วันที่ 2 เมษายนนอกจากจะตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักอ่านแล้วยังตรงกับวันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการอ่านด้วยได้แก่ วันหนังสือเด็กแห่งชาติ, วันรักการอ่าน และวันหนังสือสำหรับเด็กสากล (International Children’s Book Day (ICBD)) เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของฮันส์คริสเตียน แอนเดอร์สัน ผู้แต่งนิทานเรื่อง “ลูกเป็ดขี้เหร่”
ก็เลยทำให้นึกถึงเรื่องการอ่านในโลกยุคดิจิทัล
อ้างอิงข้อมูลปี 2561 จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยเกือบ 10 ชั่งโมงต่อวันในวันทำงาน/เรียน และ 11 ชั่วโมงในวันหยุด คือประมาณ 1/3 ของชีวิตประจำวันนั้นอยู่กับอินเตอร์เน็ต
Gen Y ครองแชมป์ generation ที่ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากที่สุด ในขณะที่วัยปู่ย่าตายายก็ออนไลน์กันไม่น้อยที่ 8 ชั่วโมงกว่าๆต่อวัน
ภาพรวมคนไทยใช้เวลาบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้นประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆเทียบกับปี 2560
คนไทยใช้เวลาไปกับ Social Media มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งต่อวัน รองลงมาคือดูหนัง/ทีวี/ฟังเพลง
ที่น่าชื่นใจคือ คนไทยใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งต่อวันไปกับการอ่านบทความออนไลน์
ในขณะที่ตัวเลขการอ่านหนังสือในบ้านเราลดลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ทยอยปิดตัวลง ทำให้ทิศทางของเด็กและเยาชนหันไปอ่านออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ
การอ่านเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธว่าช่วยในเรื่องการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก
ที่ผ่านมาจะพบว่าตัวเลขที่มีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาของเด็กไทย ก็คือ เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง เด็กไทยอ่านหนังสือไม่กี่บรรทัด และหนังสือที่เด็กอ่านส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือเรียน หรือหนังสือที่ถูกบังคับให้อ่าน
ทั้งที่ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าประโยชน์ของการอ่านมีมากมาย การอ่านช่วยปลุกสมองลูก ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีอย่างเหมาะสม ถ้าพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เด็ก โอกาสที่ลูกจะเติบโตขึ้นมาชอบการอ่านหนังสือก็เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในสังคมควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านผ่านหนังสือ
พฤติกรรมการรักการอ่านหนังสือของเด็กในยุคนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะมีเจ้าเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวขวางกั้นการรักการอ่านหนังสือของเด็กไปอย่างน่าเสียดาย
เด็กยุคนี้จำเป็นต้องอาศัยการปลูกฝัง กระตุ้น และส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล็กยิ่งดี และพ่อแม่จะต้องเป็นผู้เพาะเมล็ดพันธุ์การอ่านให้ค่อย ๆ เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในตัวลูกด้วย
ผลของมันไม่ได้ออกดอกทันที แต่ต้องใช้เวลาในการฟูมฟัก
แต่เมื่อผลของการอ่านหนังสือลดลงเด็กและเยาวชนก็หันไปอ่านผ่านโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในสังคมต้องรู้เท่าทันในโลกการอ่านของลูกหลานด้วย ว่ามันส่งดีผลเสียอย่างไร และพ่อแม่ผู้ปกครองจะเข้าไปมีบทบาทเรื่องการอ่านของลูกได้อย่างไร
เพราะเมื่อลูกหันไปอ่านออนไลน์มากขึ้น รูปแบบการอ่าน พฤติกรรมการอ่านของเด็กและเยาวชนจึงมีแนวโน้มเปลี่ยนไปมาก และทำให้ทักษะที่สำคัญสำหรับการอ่านหลายประการก็หายไปด้วย
หนึ่ง- อ่านเอาเรื่อง
การอ่านเอาเรื่อง คือ อ่านเพื่อให้ได้ความรู้และความเข้าใจในเนื้อหา อาจจะอ่านเอาเรื่องโดยละเอียด เพื่อเก็บความที่เป็นสาระประเด็นต่าง ๆ อย่างละเอียดลอดเรื่อง หรืออาจจะอ่านเอาเรื่องโดยสรุป เก็บความเฉพาะที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่องก็ได้ เป็นการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญของเรื่อง
ในอดีตมีการให้ความสำคัญกับเรื่องการอ่านเอาเรื่องอย่างมาก ถึงกับมีวิชา “อ่านเอาเรื่อง” เพื่อวัตถุประสงค์ให้เด็กและเยาวชนสามารถจับประเด็นจากการอ่านได้ ซึ่งจะนำไปสู่การอ่านแบบแตกฉาน
สอดคล้องกับทฤษฎีอ่านจับใจความของตราบาสโซ (Trabasso) ได้กล่าวว่า การอ่านเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กัน 2 ประการ คือ ผู้อ่านและผู้รับสาร ต่อจากนั้นจะทำการเปรียบเทียบโดยอาศัยประสบการณ์เดิม ทฤษฎีนี้ได้เน้นว่าระดับการอ่านของผู้อ่านจะไม่คงที่ในขณะที่อ่านข้อความผู้อ่านจะควบคุมเพียงโครงสร้างผิวเผินจนกว่าสารที่รับรู้จะได้รับการเปรียบเทียบ ขั้นของการอ่านตามพื้นฐานทฤษฎีนี้มี 3 ขั้น คือ
1. การรับสาร โดยใช้สายตารับรู้
2. การใช้ประสบการณ์เดิม ความจริงและภาพ ทำการเปรียบเทียบกับสารที่ได้รับว่าแตกต่างไปจากประสบการณ์เดิมหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่รู้จักผู้อ่านจะอ่านทบทวนสองสามครั้งจนกว่าจะตัดสินใจว่าอะไรคือคำตอบที่แท้จริง
3. คำตอบที่ได้รับจากการเปรียบเทียบกับประสบการณ์เดิม หรือโดยอาศัยความรู้จากแหล่งอื่นมาช่วยตัดสินนั้น ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากการอ่าน
แต่ต้องยอมรับว่าเด็กไทยมีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเรื่องการจับประเด็น หรือสรุปใจความสำคัญของการอ่าน และมักอ่านไปเรื่อยโดยไม่สามารถสรุปประเด็นได้
สอง - อ่านเอาสาระ
เป็นการอ่านแบบมีจุดหมายเพราะการอ่านเอาสาระยิ่งได้สาระมาก ก็ยิ่งมีความรู้มาก โดยจะเป็นการสกัดเอาสาระซึ่งเป็นแก่นสารหรือเป็นหัวใจของเรื่องที่อ่านนั้น ที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อ โดยต้องใช้วิธีการตั้งประเด็นปัญหาแล้วนำมาคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีขั้นตอนจนได้คำตอบ
ในต่างประเทศมีการวิจัยไว้ว่า สิ่งแวดล้อมแบบดิจิทัลซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลาเพียงปลายนิ้วสัมผัส ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยตรงต่อพฤติกรรมการอ่านของมนุษย์ คนรุ่นใหม่จะเลือกเฟ้นอ่านเฉพาะสิ่งที่ต้องการจะนำไปใช้ประโยชน์ เครื่องมือการค้นหา (Search Engine) จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ข้อมูลที่ต้องการปรากฏอยู่ตรงหน้าในเวลาไม่กี่วินาที การอ่านผ่านทางหน้าจอจะเป็นกวาดสายตาอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งความสนใจไปที่คำสำคัญ (Keyword) และไม่เป็นเส้นตรง (Non‐linear Reading) นอกจากนี้การอ่านอย่างลึกซึ้งจะเกิดขึ้นน้อยลงและการจดจ่อกับเนื้อหาที่อ่านก็จะน้อยลงด้วย
สาม - อ่านตีความ
การอ่านตีความ คือ การอ่านเพื่อพยายามเข้าใจความหมาย และถอดความรู้สึกอารมณ์จากข้อความที่ผู้เขียนสื่อให้อ่านอาจจะตีความหมายได้ตรงกับความมุ่งหมายหรือเจตนาของผู้เขียน หรือบางครั้งอาจจะเข้าใจความหมายตามวิธีของตนเอง โดยอาศัยพื้นความรู้เดิมความสนใจ ประสบการณ์ระดับสติปัญญา และวัยซึ่งขั้นนี้จะต้องเป็นขั้นที่ต่อเนื่องมาจากการอ่านที่จับประเด็นได้แล้ว สามารถประมวลความคิดต่อยอดแตกประเด็นได้ด้วย
จึงเป็นที่น่าเสียดายถ้าเด็กไม่สามารถอ่านแตกฉาน อ่านจับประเด็นได้ ก็จะไม่สามารถนำไปสู่การตีความ และพัฒนาไปสู่การพัฒนาทักษะการคิด การคิดเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์ ฯลฯ
สี่ - อ่านเรื่องยาว
การอ่านในโลกออนไลน์ทำให้พฤติกรรมการอ่านของผู้คนสั้นลง เพราะต้องการอ่านเร็ว สั้นๆ ไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาของคนรุ่นใหม่เพื่ออ่านเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเลือกอ่านหรือดูเฉพาะจุดที่สนใจและเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว
ห้า- อ่านปลอดภัย
ต้องยอมรับว่าเวลาเราอ่านหนังสือ เรามักจะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของสายตาจะเลือกอ่านในสถานที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอมีระยะห่างที่เหมาะสมหรือไม่นอนอ่านหนังสือ เพราะกังวลกลัวสายตาเสีย แต่เวลาอ่านออนไลน์ กลับไม่ได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เลย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และส่งผลทำให้เด็กและเยาวชนมีปัญหาเรื่องสายตามากกว่าในอดีต
การอ่านหนังสือไม่ใช่เพื่อช่วยพัฒนาสมองหรือพัฒนาสติปัญญาเท่านั้น และการอ่านไม่ได้หมายถึงการอ่านออกเสียงได้ หรือรู้ตามเนื้อหาเท่านั้น แต่ต้องหมายถึงการอ่านที่นำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการคิดแบบต่าง ๆ ของผู้อ่าน เช่น จินตนาการ การคิดวิเคราะห์ ตีความ เป็นต้น
และการอ่านหนังสือจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะชีวิตได้ด้วย
ยิ่งนับวันเด็กยุคใหม่ยิ่งเติบโตขึ้นมาในโลกยุคดิจิทัล โลกที่ทุกอย่างเน้นความเร็ว และเร่งรีบไปซะหมด ทำให้เราขาดความละเอียดในการใช้ชีวิต ขาดทักษะชีวิตที่จำเป็นไปอย่างน่าเสียดาย
การอ่านหนังสือจึงยิ่งต้องเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่มีความจำเป็นในโลกยุคนี้ แม้เด็กจะเป็นเติบโตมาในยุคดิจิทัล แต่รากฐานจากการอ่านหนังสือเป็นการสร้างพื้นฐานชีวิตที่สำคัญ
อย่าปล่อยให้โลกยุคดิจิทัลทำให้ทักษะชีวิตเรื่องการอ่านที่พึงมีของลูกหายไป !!