ศจย. ชี้ ก้นบุหรี่ต้นตอทำไฟไหม้ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินกว่าร้อยล้านบาท จี้ สธ.ออกมาตรการ “บุหรี่ปลอดไฟไหม้” คุมส่วนประกอบของบุหรี่ ให้ดับเองได้ใน 2 นาที หากสูบไม่หมดหรือวางทิ้งไว้ จากเดิมต้องใช้เวลากว่า 10 นาที ช่วยลดจำนวนไฟไหม้จากบุหรี่ลงถึง 2 ใน 3
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากกรณีข่าวไฟไหม้ป่า 50 ไร่ ที่จังหวัดสกลนคร เมื่อช่วงดึกวันที่ 27 มี.ค. 2562 การสอบสวนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าสาเหตุในการเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาจเกิดจากคนทิ้งก้นบุหรี่ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นมานาน มีการศึกษาความสูญเสียการเกิดไฟไหม้จากบุหรี่ในประเทศไทย โดยมีข้อมูลย้อนหลังในปี 2543-2545 พบว่า คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน 335-837 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 110-280 ล้านบาท ไม่รวมผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับชีวิตที่ต้องสูญเสีย บาดเจ็บ พิการ หรืองบประมาณที่รัฐต้องเสียไปในการดับเพลิง
ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า เหตุการณ์ไฟไหม้หลายครั้ง ล้วนเกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุ เช่น วันที่ 24 มี.ค. 2557 เหตุไฟไหม้ในห้องพักผู้ป่วยที่โรงพยาบาลพระราม 2 ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตจากการโดนไฟคลอก เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า มาจากการสูบบุหรี่ของตัวผู้ป่วยทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น หรือ วันที่ 7 ก.พ. 2559 เหตุไฟไหม้บริษัท บางกอกเมทัลเครท จำกัด ต้นเพลิงเกิดจากคนทิ้งก้นบุหรี่ริมถนนข้างบริษัท และแรงลมได้พัดเอาเปลวเพลิงลุกลามเข้ามาด้านข้างบริษัทไหม้ ทำให้เครื่องจักรถูกเพลิงไหม้ 15 เครื่อง รถบรรทุก 6 ล้อ 1 คัน รถปิกอัพ 1 คัน และอุปกรณ์อื่นๆ คาดว่าเสียหายหลายสิบล้านบาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 ศูนย์วอร์รูมไฟป่าจังหวัดลำปาง รายงานสถานการณ์ไฟไหม้ในหลายพื้นที่ โดยตรวจวัดค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ค่าเกินมาตรฐานสูง 73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไฟไหม้และผลที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ดังนั้นเหตุการณ์เหล่านี้น่าจะเป็นอีกบทเรียนที่ทำให้เกิดการเพิ่มมาตรการดูแลและจัดการกับปัญหาไฟไหม้ที่เกิดจากก้นบุหรี่ในประเทศไทยมากขึ้น
"กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ได้เสนอมาตรการป้องกันไฟไหม้จากบุหรี่ โดยการควบคุมส่วนประกอบของบุหรี่ หรือที่เรียกว่า บุหรี่ปลอดไฟไหม้ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย ได้ออกกฎเรื่องนี้แล้ว เพื่อลดเพลิงไหม้จากบุหรี่ โดยสหราชอาณาจักร วิจัยพบว่าบุหรี่ปลอดไฟไหม้จะสามารถลดจำนวนไฟไหม้จากบุหรี่ลงถึง 2 ใน 3 ของเหตุการณ์เพลิงไหม้จากก้นบุหรี่ และรายงานการดับเพลิงในออสเตรเลีย พบว่า บุหรี่ปลอดไฟไหม้นอกจากจะช่วยลดไฟป่าแล้ว ยังสามารถลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สัตว์ป่าและพันธุ์พืชหายากอีกด้วย" ศ.นพ.รณชัย กล่าว
ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า ปกติบุหรี่ 1 มวนที่วางทิ้งไว้ จะต้องใช้เวลากว่า 10 นาที ในการมอดดับ มีความเสี่ยงทั้งในด้านไฟไหม้และปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายแก่ผู้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่ง ‘บุหรี่ปลอดไฟไหม้’ จะสามารถดับเองภายใน 2 นาที หากสูบไม่หมดหรือวางทิ้งไว้ จึงลดการเผาไหม้ของบุหรี่ที่วางทิ้งไว้กว่า 50% ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งออกกฎเพื่อกำหนดมาตรฐานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่จะจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อลดการเผาไหม้ของมวนบุหรี่ และคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนจากปัญหาไฟไหม้ของก้นบุหรี่