กรมควบคุมโรค เผยปี 62 มีคนตายจากโรคไข้หูดับแล้ว 8 ราย พบในกลุ่มวัยทำงาน-ผู้สูงอายุ เหตุกินเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ทำหูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้
วันนี้ (29 มี.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่มีการจัดเทศกาลและงานบุญต่างๆ ประกอบกับใกล้ถึงช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เพื่อพบปะญาติพี่น้องและเพื่อนๆ อาจมีการจัดเลี้ยงหรือทำอาหารรับประทานร่วมกัน สิ่งที่ประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือเรื่องการกินอาหาร โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในชุมชน จากนั้นนำมากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการปรุงที่ใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก เป็นต้น ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 มีนาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 44 ราย เสียชีวิต 8 ราย (จากจังหวัดนครราชสีมาและนครสวรรค์ จังหวัดละ 3 ราย จังหวัดสุโขทัยและชัยนาท จังหวัดละ 1 ราย) กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 55-64 ตามลำดับ ซึ่งพบว่าอยู่ในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ และอาชีพที่พบส่วนใหญ่คือรับจ้าง (ร้อยละ 52.3) รองลงมาคือเกษตรกร (ร้อยละ 25.0)
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.เกิดจากการบริโภคเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ จนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์ และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สำหรับวิธีการป้องกันโรค คือ 1.กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติมหรือใส่เลือดดิบในอาหาร และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ 2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422