กทม.รณรงค์ชวนปิดไฟ 1 ชั่วโมงลดโลกร้อน วันที่ 30 มี.ค.นี้ ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. จัดปิดไฟใหญ่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมวัดพระแก้ว วัดอรุณ เสาชิงช้า สะพานพระราม 8 และภูเขาทอง เผย 11 ปี จัดปิดไฟ 1 ชม. ช่วยลดใช้ไฟฟ้า 1.8 หมื่นเมกะวัตต์ ราว 64 ล้านบาท ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 1 หมื่นกว่าตัน
วันนี้ (28 มี.ค.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดกิจกรรมรณรงค์ชวนคนกรุงปิดไฟ ปลูกต้นไม้ เพื่อลดโลกร้อน โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ 30 มี.ค. 2562 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ซึ่งวันนี้ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ทั้งกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก (เขตประเวศ บางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก และเขตคลองสามวา) มีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัด กทม. เป็นประธาน กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (พระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย พญาไท ราชเทวี สัมพันธวงศ์ ดินแดง วังทองหลาง และห้วยขวาง) และกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ (เขตคลองสาน จอมทอง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ธนบุรี บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และเขตบางพลัด) มีนางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ เป็นประธาน
นายสมพงษ์ กล่าวว่า กทม.ร่วมกับ FEED และ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย จัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+Earth Hour 2019) รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันปิดไฟที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้งาน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองใหญ่ทั่วโลก ในช่วงเวลา 20.30-21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละเมือง ซึ่งปีนี้กำหนดจัดกิจกรรมในวันที่ 30 มี.ค. 2562 บริเวณลานสแควร์ C ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน ภายใต้แนวคิด “ปิดเพื่อโลกเปลี่ยนเพื่ออนาคต” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1. ลดการใช้พลังงาน 2. ลดการใช้พลาสติก และ 3. รักษ์สิ่งแวดล้อม
นายสมพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการปิดไฟในเชิงสัญลักษณ์ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า สะพานพระราม 8 และภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) รวมถึงองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน กว่า 500 แห่ง และบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่เขตต่างๆ อีกทั้ง กทม.จะมีการปิดไฟถนนเขตละ 1 - 2 ถนน โดยปิดเท่าที่จำเป็นไม่ปิดตลอดสาย จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวกรุงเทพมหานครทุกคนร่วมกิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ในวันและเวลาดังกล่าว เพื่อลดการใช้พลังงานและร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
นางวิภารัตน์ กล่าวว่า กทม.ร่วมกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ครั้งแรกในปี 2551 และจัดกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 12 โดยปี 2561 กทม.สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 2,002 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินประมาณ 7,860,000 บาท และลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,026 ตัน หากนับรวมการจัดกิจกรรมตั้งแต่ปี 2551 หรือ 11 ปี สามารถลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ 18,373 เมกะวัตต์ เป็นเงิน 64,780,000 บาท และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 10,259 ตัน สำหรับกิจกรรมปีนี้จะจัดพร้อมกับ 7,000 เมืองของ 188 ประเทศทั่วโลก