xs
xsm
sm
md
lg

กล้าบอกไหม? #IAmFrom ศรีธัญญา ชวนเปิดใจ ยอมรับ ลดตีตรา ผู้ป่วย-รพ.จิตเวช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รพ.ศรีธัญญา จัดกิจกรรมเปิดบ้าน ชวนคนไทย กล้าบอกใครๆ ว่า “#IamFromศรีธัญญา” หวังสังคมไทยเปิดใจ ยอมรับ ให้โอกาส ลดอคติ ลดตีตรา ผู้ป่วยจิตเวชและโรงพยาบาลจิตเวช

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ รพ.ศรีธัญญา มีการจัดกิจกรรมเปิดบ้าน “A Day in the Life : หนึ่งวันกับศรีธัญญา ที่คุณจะรัก และกล้าออกไปบอกใครๆ ว่า...#IAmFromศรีธัญญา” เพื่อส่งเสริมให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อ รพ.จิตเวชและผู้ป่วย และส่งเสริมการเข้าถึงบริการ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า รพ.ศรีธัญญาได้ให้บริการด้านจิตเวชและฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชครบวงจรให้กับประชาชนทั่วไปและผู้ประสบปัญหาทางด้านจิตเวชมาอย่างต่อเนื่องถึง 78 ปี เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ตลอดจนพัฒนาการบริหารจัดการองค์กร ระบบบริการและวิชาการ เพื่อก้าวสู่การเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นเลิศด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตเวชระดับประเทศ การพัฒนาของโรงพยาบาลศรีธัญญา จึงเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนางานบริการด้านจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นการปรับภาพลักษณ์หน่วยบริการ การปรับสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างทางภายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า รพ.ศรีธัญญาเป็นโรงพยาบาลจิตเวชของรัฐแห่งแรกในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรทุกจุดบริการ มีการจัดบริการหอผู้ป่วยพิเศษเดี่ยว VIP ที่มีคุณภาพการบริการเทียบเท่าเอกชน พัฒนารูปแบบการรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT Center) พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยการจัดตั้งศูนย์ฝึกซ้อมช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR Center) ตลอดจนจัดกิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชที่หลากหลาย โดยแนวความคิดนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะโรงพยาบาลศรีธัญญา แต่สามารถขยายผลไปยังโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตทั้งประเทศที่จะสามารถกล้าเข้าถึงบริการ

“สิ่งเหล่านี้จะเป็นสื่อกลางสำคัญที่จะช่วยบอกกล่าวกับประชาชนได้ว่า โรงพยาบาลจิตเวชนั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ไม่จำเป็นต้องป่วยก็สามารถเข้าถึงได้ สัมผัสได้ สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีร่วมกับ รพ.ศรีธัญญา ได้ และเมื่อกลับไปแล้ว กล้าที่จะบอกต่อได้ว่า “I AM From ศรีธัญญา” ทั้งนี้ ก็ด้วยการที่สังคมยังคงมีอคติต่อผู้มีปัญหาทางจิต ตราหน้าว่าเป็นผู้อ่อนแอ ล้มเหลว ดูน่ากลัว จึงยิ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าเข้าสู่ระบบบริการ ตอกย้ำตราบาป (stigma) ลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้สามารถรักษาให้หายและกลับคืนสู่สังคมได้ สามารถประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ได้เร็วเท่าไรยิ่งดี” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา และประธานมูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า การเปิดบ้านศรีธัญญาในวันนี้ เป็นความร่วมมือกันของ รพ.ศรีธัญญา ทีมงานจิตอาสา และศิลปินนักร้อง ดารานักแสดง นำทีมโดย ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค เพื่อที่จะช่วยกันบอกกล่าวสังคมให้เกิดความเข้าใจ รับรู้ถึงบทบาทการดำเนินงานของหน่วยบริการด้านจิตเวชในปัจจุบัน เกิดทัศนคติที่ดีกับโรงพยาบาลศรีธัญญา และหน่วยบริการด้านจิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิต ได้เห็นถึงการปรับภาพลักษณ์ของหน่วยบริการ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการ การให้บริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ ได้สัมผัสกับการให้บริการด้านจิตเวช ยุค 4.0 ที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในระบบการบริหารจัดการ ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งได้เยี่ยมชมผลงานการฟื้นฟูสมรรถภาพจากผู้ป่วยจิตเวช การร่วมทำกิจกรรม Workshop โดยทีมสหวิชาชีพ ตลอดจน ร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิฯ

การจัดกิจกรรมดังกล่าวคาดหวังให้เกิดความกล้าที่จะออกไปบอกต่อสังคม ว่า “I AM From ศรีธัญญา” ที่จะช่วยลดการสร้างตราบาปให้กับผู้ป่วย แสดงถึงการเคารพและให้เกียรติ คืนคุณค่าและศักดิ์ศรีให้กับพวกเขา ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงบริการรักษาอย่างครบวงจร และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาผู้ป่วยจิตเวช

นายนิติพงษ์ ห่อนาค ที่ปรึกษามูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า #IAMFROMศรีธัญญา เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ที่อยากให้สังคมช่วยพาคำว่า “ศรีธัญญา” ออกจากเงาทะมึนแห่งมโนภาพเดิมๆ ที่มองเป็นเรื่องตลก หรือดูน่ากลัว มีแต่คนสติไม่ดี ซึ่งอยากให้มาเห็นความเป็นจริง ว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ คือ เพื่อนของผู้ไม่สบายทางจิตใจ เป็นโรงพยาบาลที่สวยงาม สะอาดสะอ้าน ร่มรื่น อยากให้ช่วยกันพา “ศรีธัญญา” ก้าวออกมาจากสัญลักษณ์เก่าๆ เพื่อให้คนทำงานในศรีธัญญา เดินหน้าตรงด้วยความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ให้ผู้ที่ไม่สบายใจ กล้ามาปรึกษาหมอ ให้ผู้ที่เคยป่วย แล้วรักษาหาย เดินเข้าสู่สังคมได้อย่างเป็นที่ยอมรับต่อไป ซึ่งเราทุกคนสามารถช่วยได้


กำลังโหลดความคิดเห็น