สบส.ประสาน ร.ร.นวดเอกชน สอนฟรี "หมอนวด" ถูกสั่งห้ามขึ้นทะเบียน ด้าน “วิทยากรหมอนวด” เพิ่งรู้เข้าข่ายเป็นแฟรนไชส์ ขายใบประกาศ ต้องจ่ายรายละ 600 บาทให้สมาคม รับมาอบรมเพราะเข้าใจว่าเป็นหน่วยงานรัฐ เหตุตั้งอยู่ในพื้นที่ สธ. พ่วงจ่ายค่าป้ายสาขาฯ นับแสน แต่ออกใบรับรองให้ลูกศิษย์ไม่ได้
วันนี้ (19 มี.ค.) นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีหมอนวดเกือบ 1 แสนราย ไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับ สบส.ได้ เพราะเข้ารับอบรมนวดจากหน่วยงานสาขาหรือแฟรนไชนส์ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ว่า ขณะนี้ได้ประสานไปยังโรงเรียนนวดเอกชนที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจาก สบส.แล้ว ซึ่งยินดีให้ความมร่วมมือในการสอนหมอนวดกลุ่มดังกล่าวฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากทำแบบทดสอบ ได้เกิน 70% ก็จะออกใบอนุญาตให้
นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่า จากการหารือเบื้องต้นกับ สบส. ทางสมาคมสปาไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของโรงเรียนสอนนวดที่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องแล้วนั้น ยินดีเข้ามาให้การช่วยเหลือ ช่วยสอนหมอนวดที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ฟรี โดยทำให้ลักษณะจิตอาสา ไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย หากหมอนวดเหล่านั้นสามารถผ่านการสอบและฝึกอบรมเกิน 70% ทางโรงเรียนจะออกใบรับรองการเรียนนวดให้เพื่อที่จะได้นำเอกสารดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนหมอนวดได้ อย่างไรก็ตาม คนที่มีปัญหาอาจจะไม่สามารถถือเอกสารแล้วเดินเข้ามาหาเราได้เลย เพราะเราไม่สามารถตรวจสอบได้เอง ดังนั้น คงต้องให้สบส.เป็นผู้รวบรวมรายชื่อส่งมาให้ และกระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ แทน อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดหลักสูตร วิธีการประเมินตรงนี้จะมีการหารือกับสบส.อย่างเป็นทางการอีกครังในสัปดาห์นี้
ด้าน นางเอ นามสมมติ ผู้นวดที่เข้ารับการฝึกอบรมครูนวดแผนไทยจากสมาคมแห่งหนึ่ง ซึ่ง สบส.มีคำสั่งระงับการขึ้นทะเบียนผู้นวด กล่าวว่า ตนเป็นหมอนวดที่ผ่านการเรียนทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการเก็บเคสนวด รวมถึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหมอนวดอยู่แล้ว ต่อมาก็พบว่ามีสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งหนึ่งย่านกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี มีการประกาศรับอบรมวิทยากรครูนวด โดยมีการบอกว่าเมื่อจบแล้วสามารถไปสอนนวดได้ ตนมองว่าตัวเองก็ทำงานมาระยะหนึ่ง ช่วยให้คนที่ปวดเมื่อยร่างกายรู้สึกดีขึ้น จึงมั่นใจในตัวเองว่า น่าจะสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นได้ พอเห็นสมาคมดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขทำให้คิดว่าเป็นหน่วยงานของกระทรวงจริง จึงไปสมัครอบรมเป็นวิทยากร ซึ่งคนอื่นๆ ที่เข้าไปอบรมก็เข้าใจแบบเดียวกัน มั่นใจว่าเมื่อจบจากที่นี่แล้วสามารถพูดได้ว่าผ่านการฝึกอบรมวิทยากรของสมาคมดังกล่าว และพ่วงท้ายด้วยคำว่ากระทรวงสาธารณสุข โดยมีการจ่ายค่าอบรม 6,200 บาท
นางเอ กล่าวอีกว่า หลังจากอบรมวิทยากรแล้ว พบว่า ที่เราเรียนมา แล้วไปสอนคนอื่นต่อนั้น ตนไม่สามารถออกใบรับรองให้กับนักเรียนของตัวเองได้ ถ้าจะให้ลูกศิษย์ได้รับใบรับรอง หลังจากที่เราอบรมเสร็จแล้วต้องส่งเอกสารของผู้เรียนทั้งบัตรประชาชน รูปถ่าย ทะเบียนบ้าน พร้อมเงิน 600 บาท ไปให้สมาคมฯ เพื่อให้สมาคมเป็นผู้ออกใบประกาศให้กับลูกศิษย์ของตน ซึ่งการทำแบบนี้ถือว่าผิด และตนก็เพิ่งทราบว่าผิด เป็นการซื้อขายใบประกาศมาให้นักเรียนของเรา แต่ตามกฎหมายกระทรวงศึกษาธิการคุณสอนที่ไหน ต้องออกเอกสารที่นั่น หากอยากเปิดสอนก็ต้องไปยื่นเอกสารขอเปิดสอนที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่ทำแบบนี้ ตนจึงเลิกทำ
“มีคนมาเรียนวิทยากรเยอะทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียหายเยอะ บางครั้งพอมาสอนก็ไม่สอนจริง มีการขายใบประกาศ เช่น แค่มาสมัครกับวิทยากรคนหนึ่ง จ่าย 2,500 บาท พร้อมรูปถ่าย แล้วเอารูปถ่ายนี้ส่งไปให้ทางสมาคมฯ พร้อมเงิน 600 บาทก็จะได้ใบประกาศ สรุปวิทยากรได้ 1,900 บาท สมาคมฯ ได้ 600 บาท ได้ใบประกาศทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผลเสียคือหมอนวดไปนวดโดยไม่มีความรู้จริง เสี่ยงนวดคนตาย พิการ” นางเอ กล่าว
ขณะที่ นางสาวบี นามสมมติ ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรครูวิทยากร และเคยเปิดศูนย์สาขาสมาคมแพทย์แผนไทยดังกล่าว ในแถบภาคกลาง กล่าวว่า ตนไปอบรมวิทยากร ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา จากนั้น 3-4 เดือน เข้าร่วมเป็นศูนย์สาขาของสมาคมฯ โดยต้องจ่ายค่าป้าย “ศูนย์สาขา...” ประมาณ 1 แสนบาท เหมือนการซื้อแฟรนไชส์ เพื่อให้ลูกศิษย์เรามีสิทธิได้รับใบรับรองจากสมาคมฯ โดยเราคิดค่าสอนคอร์สละ 3,000 บาท อบรมเสร็จส่งเอกสารรูปถ่าย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของลูกศิษย์ พร้อมเงินไปให้สมาคมออกใบรับรองให้ จำได้ว่า 2 ใบ ประมาณไม่ถึง 1,000 บาท แต่พอทำแล้วลูกศิษย์เราขึ้นทะเบียนไม่ได้ก็เลยหยุด จริงๆ ตอนแรกไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นผิด เพราะต้องยอมรับว่าสบส.เองก็เข้ามาในตอนหลัง ในขณะการอบรม หรือการเปิดสาขาฯ ต่างๆ นั้นเขาทำกันมาก่อนโดยในลักษณะที่ทำต่อๆ กันมา โดยที่ก็ไม่มีใครเคยออกมาบอก แต่ที่ไม่เข้าใจคือ พอหลังมีกฎหมายออกมาบังคับจริงๆ แล้วก็ยังพบว่ามีสาขา ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่
“เรายังไม่ได้คืนทุนจากการเปิดศูนย์สาขาที่ต้องจ่ายค่าป้ายไปเป็นแสน เพราะเราคิดค่าสอนไม่แพง แต่ที่ทำอยากให้หมอนวดที่อยากมีอาชีพ เลยไม่ได้ทำกำไร แต่พอทำแล้วลูกศิษย์เราขึ้นทะเบียนไม่ได้ก็เลยหยุด ไม่อยากทำร้าย ซึ่งเขาเองก็เป็นคนที่มีรายได้ไม่มากอยู่แล้ว เราถอย และยกเลิกการเป็นศูนย์สาขาฯ แล้วไปขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ทดสอบฝีมือของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานแทน ตรงนี้ไม่ได้มีการสอนนวดแล้ว แต่ทำการทดสอบฝีมือเพียงเท่านั้น” นางสาวบี กล่าว