xs
xsm
sm
md
lg

จะไปแจ้งครอบครอง “กัญชา” ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา จำนวน 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงเริ่มเปิดให้บริการรับแจ้งครอบครองกัญชา เพื่อไม่ต้องรับโทษ แต่ปัญหาที่พบ คือ จำนวนผู้มาแจ้งครอบครองกัญชามีจำนวนน้อยมาก โดยระยะเวลาเกือบ 3 สัปดาห์ที่ให้บริการมีผู้มาแจ้งยังไม่ถึง 200 ราย

สาเหตุที่คนยังมาแจ้งครอบครองกัญชาน้อย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความกังวลว่า การมาแจ้งครอบครองจะคล้ายกับการล่อซื้อยาเสพติดหรือไม่ และอาจถูกจับระหว่างมาแจ้ง

ประเด็นนี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่จริงเลย ผู้ครอบครองกัญชาไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ สามารถมาแจ้งได้ ไม่ต้องรับโทษแต่อย่างใด และจะไม่มีการตรวจจับสำหรับคนที่มาแจ้ง ขออย่าได้กังวล เรารู้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและนิรโทษ ก็แจ้งว่ากำลังมาติดต่อการแจ้งการครอบครองตามประกาศ หากมีปัญหาที่ไหนให้แจ้งมาทาง อย.ได้

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งอาจมาจากยังไม่ทราบว่า จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรในการมาแจ้งครอบครองกัญชา ซึ่งสะท้อนได้จากการที่มีผู้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามผ่านสายด่วน 1556 กด 3 จำนวนมาก ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่ให้บริการก็มีการโทรศัพท์เข้ามาสอบถามทาง อย. จนระบบล่ม โดยล่าสุดมีการโทรศัพท์มาสอบถามแล้วมากกว่า 4,000 ราย และการพบปัญหาการมาแจ้งครอบครองกัญชาผิดสถานที่ และเอกสารไม่มีความพร้อม ทำให้ยังไม่สามารถแจ้งครอบครองได้ จนต้องเสียเวลา

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่า มีผู้ป่วยจากต่างจังหวัดเข้าใจคลาดเคลื่อนและเดินทางมาแจ้งครอบครองกัญชาที่ อย.เป็นจำนวนมาก จึงขอเน้นย้ำว่า สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัด ขอให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในจังหวัดซึ่งตนอาศัยอยู่ ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้มาแจ้งที่ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center : OSSC) ชั้น 2 ที่ อย. และเตรียมเอกสารให้พร้อมเพื่อจะได้สามารถแจ้งการครอบครองได้เลย อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าเป็นการมาแจ้งครอบครองกัญชา ไม่ใช่การอนุญาตให้ปลูกกัญชาแต่อย่างใด หลังมีการสื่อสารไปว่า อย.อนุญาตให้ปลูกกัญชาได้

แล้วการมาแจ้งครอบครองกัญชา ต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง เพื่อที่มาถึงจะสามารถแจ้งครอบครองกัญชา เพื่อไม่ต้องรับโทษได้เลย

ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่า ตนเองอยู่ในกลุ่มไหนที่จะมาแจ้งครอบครองกัญชา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 26/5 ประกอบด้วย บุคคล 7 กลุ่ม คือ 1.หน่วยงานของรัฐ 2.ผู้ประกอบวิชาชีพ 3.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ทางแพทยศาสตร์/เภสัชศาสตร์) 4.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 5.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 6.ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ และ 7.ผู้ขออนุญาตอื่น

กลุ่มนี้ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง

สิ่งที่ต้องใช้ คือ 1.แบบแจ้งการมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา (ยส. 5-1) ซึ่งสามารถขอแบบฟอร์มได้จากสถานที่ยื่นแจ้งครอบครอง

2.เอกสารอื่นตามประเภทของผู้ยื่นคำขอ โดย “หน่วยงานรัฐ” ใช้หลักฐานแสดงความเป็นหน่วยงานรัฐ “ผู้ประกอบวิชาชีพ” ใช้ใบประกอบวิชาชีพ “สถานบันอุดมศึกษาเอกชน” ใช้หลักฐานแสดงการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยและการเรียนการสอนเกี่ยวกับการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ “ผู้ประกอบวิชาชีพเกษตรกรรม” ใช้หนังสือจดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมาย เอกสารแสดงความร่วมมือและดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน “ผู้ประกอบการขนส่งฯ” ใช้เอกสารจดทะเบียนการดำเนินการขนส่งระหว่างประเทศ “ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ” ใช้หนังสือเดินทาง เอกสารแสดงการเดินทางเข้าและออกจากประเทศไทย ใบรับรองแพทย์หรือหนังสือรับรองแพทย์ “ผู้รับอนุญาตอื่นตามรัฐมนตรีกำหนด” ใช้หลักฐานการแสดงอนุญาตแล้วแต่กรณี

3.หลักฐานโครงการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับกัญชา (ถ้ามี)

การดำเนินการยื่นให้มาแจ้งที่ อย.หากอยู่ใน กทม. และแจ้งที่ สสจ.หากอยู่ในต่างจังหวัด โดยให้ยื่นแบบแจ้งการครอบครองและหลักฐานทั้งหมดต่อเจ้าหน้าที่ ให้แสดงกัญชาที่แจ้งครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ หากไม่สามารถนำมาได้ให้ถ่ายภาพนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่และแจ้งสถานที่ครอบครอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบต่อไป จากนั้นรับหนังสือแสดงการมีไว้ในครอบครองจากเจ้าหน้าที่ (ฉบับจริง) และเมื่อร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้แจ้งการครอบครองต้องมายื่นขออนุญาตต่อไป

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาในการรักษาโรคตนเอง

กลุ่มนี้ผู้ป่วยหรือผู้แทนผู้ป่วยสามารถมาดำเนินการยื่นได้ โดยหลักฐานที่ต้องใช้ คือ 1.คำขอ บันทึกแจ้งการมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวของผู้ป่วย (ขอแบบฟอร์มได้ที่สถานที่รับแจ้งครอบครอง) 2.ใบรับรองการเจ็บป่วยจากแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ได้ และ 3.กัญชาที่ครอบครอง (ถ้าไม่สามารถนำมาแสดง ให้นำภาพถ่ายมาแสดงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ)

การมาแจ้งหากอยู่ใน กทม.ให้แจ้งที่ อย. และหากอยู่ต่างจังหวัดให้ไปแจ้งที่ สสจ.ของจังหวัดที่ตนอาศัย ส่วนขั้นตอนในการยื่นนั้นให้ยื่นเอกสารทั้งหมดต่อเจ้าหน้าที่ แต่ที่ต้องใส่ใจ คือ ส่วนของการกรอกข้อมูลบันทึกการแจ้งครอบครองนั้น จะมีให้เลือกปริมาณกัญชาที่ต้องใช้รักษาตัว แบ่งเป็น 3 ตัวเลือก คือ 1.ปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ใน 90 วัน 2.เกินปริมาณ 90 วันและได้นำกัญชาส่วนที่เกินปริมาณมาส่งมอบ และ 3.อื่นๆ ซึ่งช่องอื่นๆ นี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้กัญชารักษาเกิน 90 วัน และไม่ต้องการส่งมอบส่วนที่เกินให้เจ้าหน้าที่ให้กรอกข้อมูลในช่องนี้ และระบุว่า จำเป็นต้องใช้เป็นระยะเวลาเท่าไร ซึ่งเลขาธิการ อย.เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สามารถแจ้งปริมาณการใช้ได้ว่า จะใช้กี่วัน เช่น 120 วัน 180 วัน เป็นต้น

หลังจากแจ้งหลักฐานทั้งหมดแล้วจะได้รับบันทึกสำเนาแจ้งการมีไว้ในครอบครองฯ จากเจ้าหน้าที่

กลุ่มที่ 3 บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายและไม่ใช่ผู้ป่วย หรือบุคคลอื่นๆ ทั่วไป

หากกลุ่มนี้จะมาแจ้งการครอบครอง หลักฐานที่ต้องใช้ คือ 1.คำขอ บันทึกแจ้งการมีไว้ในครอบครอง การส่งมอบและรับมอบยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ตามมาตรา 22(2) ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวสามารถขอได้ที่สถานที่รับแจ้ง โดยให้กรอกข้อมูลรายละเอียดกัญชาที่ครอบครองอยู่ และ 2.กัญชาที่ครอบครองอยู่ ถ้าไม่สามารถนำมาได้ ให้นำภาพถ่ายมาแสดงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

สามารถมาแจ้งได้ที่ อย.หากอยู่ใน กทม. และแจ้งที่ สสจ. หากอยู่พื้นที่ต่างจังหวัด โดยให้ยื่นเอกสารและแสดงกัญชาที่มีครอบครอง จากนั้นรับสำเนาบันทึกการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ และส่งมอบกัญชาให้เจ้าหน้าที่เก็บรักษาต่อไป

แม้การแจ้งครอบครองกัญชาไม่ต้องรับโทษจะกำหนดไว้ที่ 90 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ยาเสพติด (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ คือ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. - 19 พ.ค. 2562 แต่อย่าลืมว่า อย.เริ่มเปิดให้รับแจ้งวันที่ 27 ก.พ. 2562 เท่ากับระยะเวลาหายไปประมาณ 7-8 วันหรือ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังเปิดรับแจ้งในวันและเวลาราชการ คือ ไม่ได้รับการแจ้งครอบครองในวันเสาร์และอาทิตย์อีก เท่ากับเวลาหายไปอีก 24 วัน รวมแล้วระยะเวลาในการแจ้งครอบครองหายไป 1 เดือน

ที่สำคัญวันสุดท้ายที่รับแจ้ง 19 พ.ค. 2562 ตรงกับวันอาทิตย์ ดังนั้น หากเตรียมพร้อมแล้วควรรีบมาแจ้งการครอบครองแต่เนิ่นๆ เพราะหากรอไปจนถึงช่วงท้ายๆ อาจมีการมาแจ้งจำนวนมากจนไม่ทันแจ้งครอบครองได้ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า วันสุดท้ายที่รับแจ้งซึ่งตรงกับวันหยุดราชการ ราชการอย่าง อย. และ สสจ.ทั่วประเทศ จะเปิดให้บริการจนถึงวินาทีสุดท้ายของวันหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น