ในงานเสวนา "นโยบายพรรคการเมืองกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพเพื่อผู้ป่วย" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข โดยแพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ประหนึ่งเป็นเวทีดีเบตอีกแห่ง ให้แต่ละพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายแก้ปัญหา "คนสาธารณสุข" ที่หลายเรื่องก็ยังคาราคาซังมานาน และกำลังรอการแก้ไขมาจากทุกรัฐบาล
การประชันนโยบายในครั้งนี้ มีตัวแทนมาจาก 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ คณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรคเพื่อไทย อดีต รมช.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อดีต รมช.สาธารณสุข พล.ท.อนุมนตรี วัฒนศิริ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา อดีต ผอ.โรงงานเภสัชกรรมทหาร นพ.เรวัต วิศรุตเวช พรรคเสรีรวมไทย อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ
ภายในงานได้มีการถามคำถาม 4 ประเด็นที่เป็นปัญหาของคนสาธารณสุข โดยให้เวลาในการตอบคำถาม 3 นาที เริ่มจากประเด็นแรก
นโยบายที่จะทำให้ "ภาระงาน" บุคลากรสาธารณสุข อยู่ในจุดที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมามักพบปัญหาภาระงานมาก ควงเวรกันยาวนาน จนอาจเกิดความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การลดภาระงานขึ้นกับพฤติกรรมของประชาชนและผู้ป่วย สิ่งแแรกที่ดำเนินการ คือ ลดการเจ็บไข้ได้ป่วย เอาใจใส่ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งสมัยตนเป้นนายกรัฐมนตรี ก็ใส่ใจในงานสมัชชาสุขภาพ ในประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อลดการเจ็บป่วย เช่น การลดอุบัติเหตุ ความปลอดภัยจากสารพิษทางการเกษตร เป็นต้น เรื่องต่อมา คือ ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดบริการทางการแพทย์ เช่น ระบบการจัดคิว การจ่ายยา การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นต้น เพื่อลดภาระของแพทย์โดยไม่จำเป็น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ต้องทำงานเชิงรุก โดยจะต้องยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใช้งานกลุ่ม อสม. บุคลากรสาธารณสุข เข้าไปเยี่ยมเยียนคนไข้ติดบ้านติดเตียง และรณรงค์พฤติกรรมที่ถูกต้องในการมาพบแพทย์ ซึ่งต่างประเทศจะไม่เคยเห็นคนเป็นหวัดมาฉีดยาที่โรงพยาบาล มีแต่อยู่บ้าน ดูแลกินน้ำกินยาให้หายดี ที่สำคัญต้องบูรณาการทุกวิชาชีพ เพราะหลายเรื่องไม่ต้องไปถึงแพทย์ วิชาชีพต่างๆ ก็สามารถช่วยดูแลได้
นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า เพื่อไทยจะส่งเสริมให้ 1.คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดี ทั้งเรื่องร่างกายจิตใจ วุฒิปัญญา และสังคม เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเป็นหลัก เพื่อให้เจ็บป่วยน้อยลง ภาระงานบุคลากรก็จะน้อยลงด้วย ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.จำนวนบุคลากร การกระจายตัวบุคลากร เพราะถ้าไม่พอก็จะทำให้งานมาก ไม่ว่าวิชาชีพใดก็ตาม ต้องมีอัตรากำลังที่เหมาะสม ถ้ามากไปเป็นภาระประเทศชาติ จึงต้องมีการผลิตบุคลากร การบรรจุ การกระจายตัว การแยกแยะจัดสรร ตรงไหนควรมีตำแหน่งอะไร จะทำให้การทำงานแต่ละคนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และ 3.นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยตรวจวินิจฉัย จัดคิว การทำงานมีประสิทธิภาพประสิทธิผล
พล.ท.อนุมนตรี กล่าวว่า นโยบาย คือ ป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย ส่งเสริมการออกกำลังกาย เช่น มินิสปอร์ตคอมเพล็กซ์ มินิฟิตเนสเซ็นเตอร์ในทุกหมู่บ้าน ส่งเสริมให้ รพ.สต.เป็นด่านแรกที่สามารถจัดการกับความเจ็บป่วยได้ โดยให้มีกำลังคน เครื่องมือต่างๆ เพียงพอที่จะให้บริการรักษาผู้ป่วย ส่วนภาระงาน อย่างทหารจะต้องดูอัตราเฉพาะกิจ คือ จำนวนปริมาณงานภาระงาน และจัดกำลังคนให้เพียงพอ เหมาะสมเพียงพอ ก็ต้องเอาข้อมูลมาดูกันจริงๆ ว่า ภาระงานเป็นอย่างไร ต้องใช้คนมากน้อยเท่าไร ต้องจัดให้เหมาะสม และภาครัฐก็ต้องจัดงบประมาณลงมาสนับสนุน
นายอนุทิน กล่าวว่า สมัยตนเป็น รมช.สธ. ก็อาศัยรับฟังไอเดียจากผู้บริหาร ข้าราชการประจำ และมีหน้าที่จัดหางบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้ภารกิจทั้งหลายประสบความสำเร็จ โดยพบว่าใช้วิธีนี้ทำงานประสบความสำเร็จ อย่างปัญหาเรื่องแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ท่านก็ต้องบอกมาว่าจะทำอย่างไร ต้องการอะไร ก็จะพยายามผลักดันงบประมาณให้ได้ใน ครม. นอกจากนี้ ยังต้องยกระดับ รพ.สต. สนับสนุนอุปกรณ์ และส่งแพทย์ลงไป รพ.สต.ได้หรือไม่ เพื่อให้รักษาสุขภาพเบื้องต้น
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากแพทย์และผู้ป่วยไม่สมดุลกัน การจะทำเหมือนนักบินที่มีการจำกัดเวลาการทำงานจึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งตนรู้จักหมอดี เพราะพ่อแม่ตนก็เป็นหมอ ซึ่งหมออยากรักษาผู้ป่วยไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนก็ไป จะตีสามตีสี่ก็ไป คือสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ในการเอาชีวิตผู้ป่วยเป็นสำคัญ หัวใจคือช่วยหมออย่างไร ปัญหาทุกวันนี้เพราะระบบที่สร้างอยู่ทำให้เกิดแรงกดดันกับหมอ บุคลากร เพราะเอาทุกอย่างมาเจอที่โรงพยาบาล เราไม่มีด่านแรก ด่านสอง สาม สี่ หรือการดูแลตัวเอง พอป่วยมา รพ.หมดเลย จึงรับเละ ทำให้ต้องทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ภายใต้ข้อจำกัด จึงต้องมีการกระจายตัวออก อย่างปีที่แล้วมีการทำนักบริบาลชุมชน ยกระดับ อสม. ทำเรื่องหมอถึงบ้านพยาบาลถึงเรือน 6,500 ทีม ทำคลินิกหมอครอบครัว อย่าง จ.เพชรบูรณ์ทำให้คนรอคิวลดไปมาก นอกจากนี้ ต้องเพิ่มงบประมาณ และคุณภาพโรงพยาบาล โดยปฏิรูประบบ 3 กองทุนสุขภาพให้สอดรับกัน ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ถ้าปรับระบบทุกอย่างได้ดี มีงบประมาณเหมาะสม อุปกรณ์เหมาะสม ก็ต่อสู้ศึกในการรักษาเอาชีวิตประชาชนกลับคืนมาได้
นพ.เรวัต กล่าวว่า สัดส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วย และพยาบาลต่อผู้ป่วยยังไม่สมดุล การแก้ปัญหาวิธีที่ดีที่สุด คือ ไม่ป่วยเลย มีการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ออกกำลังกาย ควบคุมป้องกันโรค แต่ความจริงในอดีตที่พยายามแก้ปัญหาอย่างยาวนานหลายสิบปี ไม่สำเร็จเลย ที่จะต้องทำดีที่สุด คือ ใช้เทคโนโลยี เช่น นัดหมายผู้ป่วยติดตามรักษา เวลาอันใกล้คือใช้ เอไอทำแทน ลดภาระงานพยาบาลมีประสิทธิภาพที่สุด
ทั้งนี้ ในคำถามประเด็นดังกล่าว ทุกพรรคการเมืองต่างยกมือแสดงความเห็นด้วย ว่า ควรจำกัดเวลาทำงานของแพทย์เพื่อลดภาระงานที่มากจนเกินไป
คำถามที่สอง นโยบายเรื่องการบรรจุข้าราชการของพยาบาลและวิชาชีพสุขภาพอื่นๆ เพราะมีปัญหาการเป็นลูกจ้างชั่วคราว จนเกิดคำถามว่าจะต้องเป็นลูกจ้างชั่วชีวิตหรือไม่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่เรื่องดังกล่าวจะมีปัญหา เมื่อ สธ.เสนอไป ก็จะมีหน่วยงานอื่นคิดเห็นคัดค้าน เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ เพราะภาพใหญ่ของรัฐคือลดจำนวนข้าราชการลง ดังนั้น การทำหน้าที่นายกฯ ซึ่งเป็นประธาน ก.พ.ด้วย ต้องทำความเข้าใจชัดเจน นโยบายภาพรวมเป็นเรื่องหนึ่ง และการพิจารณาความจำเป็นที่เหมาะสมแต่ละงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะใช้มาตรการเหวี่ยงแหไม่ได้ โดยอาจจะลดตำแหน่งข้าราชการในกระทรวง กรม อื่นๆ ที่ไม่ต้องอาสัยสถานะข้าราชการแล้วได้ ก็จะลดอัตรากำลังไปได้ ส่วนพยาบาลยังจำเป็นก็มาเพิ่มตำแหน่งให้แทน และเพือ่ลดการสูญเสียบุคลากรจากระบบ ก็ต้องมีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม อย่างสิทธิประโยชน์เบี้ยทุรกันดาร พยาบาลต่ำกว่าหมอมาก นอกจากบรรจุข้าราชการแล้วต้องเพิ่มแรงจูงใจ ดูเรื่องการกระจายตัวลงไปในพื้นที่ด้วย
นพ.เรวัต กล่าวว่า การบรรจุพยาบาลมีปัญหามาโดยตลอดและจะมีต่อไป เพราะเป็นเรื่องของระบบการจ้างงาน เรามีปัญหาที่ ก.พ.ตลอด เพราะไม่ยอมให้บรรจุ หลายคนคิดว่าต้องออกจาก ก.พ. ซึ่งเราพูดเรื่องนี้มาหลายสิบปี ความฝันเรา คือ ต้องออกจาก ก.พ.ให้ได้ และมาจัดอัตรากำลังของเราเองตามภาระงานที่จำเป็น คนทำงาน แพทย์ พยาบาล ต้องปลอดภัยในการทำงาน ไม่ใช่รู้สึกหวั่นไหวตลอดเวลา ไม่มั่นใจในงานอาชีพตัวเองที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นความต้องการของชาว สธ.ทุกคน
นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยการแบ่งบรรจุพยาบาลเป้นข้าราชการ 3 ปี ดังนั้น จึงเห็นด้วยว่า ควรดำเนินการขอตำแหน่งให้ได้บรรจุก่อน ถ้าไม่สำเร็จแนวทางคือขอแยกตัวออกจาก ก.พ.มาเป็นข้อต่อรอง ซึ่งก็จะช่วยให้มีการผ่อนปรนตำแหน่งพอสมควร ถ้าไม่พอใจ ก็ต้องแยกออกมาจริงๆ
พล.ท.อนุมนตรี กล่าวว่า พยาบาลที่ปฏิบัติงานและเป็นลูกจ้างชั่วคราว ต้องได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทุกท่าน โดยอาจจะกำหนดเป็นแผนว่า ปีที่หนึ่งบรรจุเข้ามาเท่าไร ปีที่สองเท่าไร เป็นระยะสั้น กลาง และยาว โดยไม่ต้องดูภาระงานเลย ส่วนภาพใหญ่ที่ว่าจะต้องลดอัตรากำลังข้าราชการลง ก็เห็นด้วยกับทางประชาธิปัตย์ว่า ส่วนราชการที่ไม่จำเป็นก็ลดตำแหน่งลงได้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงของโลกเร็วมาก บางส่วนราชการไม่จำเป็นต้องมีอยู่ก็ลดจำนวนตรงนั้น และเอามาพยาบาล เพื่อบริหารงบรายจ่ายประเทศให้อยู่ในสมดุลที่เหมาะสม
นายอนุทิน กล่าวว่า พยาบาลสำคัญไม่น้อยกว่าแพทย์ อัตราประจำที่ไปขอ ก.พ.เลิกดีกว่า ต้องแยกออกมา ที่สำคัญความเป้นลูกจ้างชั่วคราวต้องหลุดออกไปจากพยาบาล เพราะที่ผ่านมาจะเจอปัญหาผ่อนบ้านไม่ได้ ไม่มีเครดิต ได้สินเชื่อยาก เพราะไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ จึงต้องยกระดับเป็นพนักงานของรัฐ มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าพนักงานประจำของเอกชน ก็จะมีความมั่นคงในอาชีพเพิ่มขึ้น และต้องสร้างระบบส่งเสริมสุขภาพ อสม.ทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้คนไข้ไป รพ.น้อยลง ติดเตียงน้อยลง งบประมาณก็จะเหลือ การหมุนเงินทำได้ โดยผันเงินออกไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เอามาจ้างพี่น้องพยาบาล
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ก.พ.ไม่เข้าใจ คนไทยกำลังมีผู้สูงอายุมากขึ้น และคนมักจะป่วยช่วง 2-3 เดือนก่อนตาย ดังนั้น ความต้องการคนมาดูแลก็มากขึ้น จึงต้องเพิ่มตำแหน่งหมอ พยาบาล เพียงแต่จะทำอย่างไร ซึ่ง ก.พ.สามารถจัดการเอาคนอื่นออกไปจากตำแหน่งได้ ในการ Re Goverment เพราะมีเทคโนโลยีมาแทนได้ แต่หมอ พยาบาล ยังไม่ได้ คือ เอาตำแหน่งให้สาธารณสุขที่จำเป็นต้องดูแลประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการจะออกจาก ก.พ.หรือไม่ เป็นเรื่องง่ายที่คิดว่าจะออก แต่บอกว่า มีอีกหลายอย่างที่ต้องคิด ทั้งเรื่องงาน สวัสดิการ ผลตอบแทน ดังนั้น หาทางออกโดยที่ทำให้เราเพิ่มบรรจุคนเข้าไป มีเกณฑ์ผลตอบแทน ค่าชดเชย ที่มากขึ้นจะดีกว่าหรือไม่
คำถามที่สาม คิดเห็นอย่างไรกับการใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาล
นพ.เรวัต กล่าวว่า การตดสินจำคุกแพทย์หญิงเมื่อสิบปีก่อน ทำให้ รพ.ชุมชนไม่กล้ารักษา และส่งต่อมายัง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป จนเกิดความแออัด เป็นปัญหาระดับชาติ ทั้งนี้ การใช้กฎหมายอาญาและคุ้มครองผู้บริโภค ถือเป็นคนละบริบทกับการทำหน้าที่ของแพทย์ในการช่วยรักษาให้พ้นจากอันตรายของชีวิต เมื่อผิดพลาดขึ้นแต่ถูกดำเนินคดีฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมและไม่เหมาะสม ความพยายามของเราต้องมีกฎหมายใหม่ ขณะนี้ทราบว่า มีการร่าง พ.ร.บ.วิธิพิจารณาคดีทางการแพทย์ แต่ทันรับาลชุดนี้ ก็ต้องรอรัฐบาลต่อไป แต่ระหว่างที่รอกฎหมาย สธ.และผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยดูแลบุคลากรทั้งประเทศด้วย เวลาเกิดปัญหาเกิดคดี อย่าปล่อยให้แพทย์ พยาบาล เผชิญโชคชะตาเพียงลำพัง สธ. รัฐ ผู้เกี่ยวข้อง ต้องลงไปช่วยเหลือดูแล และมีระบบไกล่เกลี่ยเยียวยาเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้แพทย์เผชิญคดีความต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้ตกในชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม
นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า กฎหมายอาญาจะเน้นเรื่องเจตนา อย่างการเอาผิดฆ่าคน จะดูเจตนาว่าเล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับการประกอบวิชาชีพที่มุ่งจะช่วยชีวิต ไม่ใช่ฆ่าคน เจตนาน่าจะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เรามีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวหรือแยกเรื่องกฎหมายอาญาออกจากการพิจารณาเรื่องการปฏิบัติงานทางการแพทย์ ส่วนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นจากการไปคุ้มครองคนทำสัญญาซื้อขาย ธุรกิจเอารัดเอาเปรียบ แต่ทางการแพทย์เป็นการเข้าไปช่วยเหลือ การเอากฎหายเชิงธุรกิจมาใช้ทางการแพทย์ จึงผิดในแง่ของสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่ จึงควรตัดหรือแยกการพิจารราคดีทางการแพทย์ออกมา เพราะผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ได้รับการฝึกอบรม มีประสบการณ์ มีวิชาชีพตัวเองคุ้มครองป้องกันให้อยู่ในจรรยาบรรณ
นายอนุทิน กล่าวว่า แพทย์ทำงานภายใต้นิติบุคคล คือ สธ. ทำตามข้อบังคับ ทำตามสิ่งที่ควรทำทุกอย่าง รัฐหรือองค์กรผู้ว่าจ้างต้องให้ความคุ้มครองทุกกรณี ไม่ใช่ให้แพทย์หาทนายเอง โดนฟ้องที 30-50 ล้านบาท ไม่มีใครสบายใจต่อให้มั่นใจว่าจะชนะแค่ไหนก็ตาม ถ้ามีองค์กรปกป้องดูแล ค้ำประกันความเสียหายถ้าเราไม่ผิด เป็นเรื่องระหว่างองค์กร ซึ่งทนายรัฐ คือ สำนักงานอัยการ ก็ต้องไปคุยกับผู้ฟ้องร้อง ถ้าผิดมา รัฐต้องรับผิดชอบ และมีกรรมการชุดหนึ่งมาปกป้องบุคลากรในการยืนยันว่า ผู้ถูกฟ้องร้องทำตามที่ควรทำโดยสุจริต แต่แพทย์พยาบาลก็ต้องรักษาจรรยาบรรณให้ดี นอกจากนี้ ต้องมีการสื่อสาร มีฝ่ายไกล่เกลี่ยด้วย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแก้ไขเร่งด่วน ถ้าดูแนวโน้ม สังคมตื่นตัวเรื่องสิทธิมากขึ้น และความผูกพันแบบวัฒนธรรมเดิมๆ หายไป แพทย์ ครู จะทราบดี การแก้ปัญหาต้องดูเรื่องตัวกฎหมายด้วย ซึ่งกฎหมายอาญาจะดูแค่เรื่องเจตนาไม่ได้ เพราะยังมีเรื่องประมาทเลินเล่อด้วย ดังนั้น จะต้องมีการแก้กฎหมายอาญา โดยระบุให้ชัด เรื่องการรักษาโรคหรือบุคคลที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตอยู่แล้ว ให้สันนิษฐานไม่ผิดทางอาญา ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่าเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ นอกจากนี้ ต้องทำศัพท์บัญญัติอย่างประทาทเลินเล่อร้ายแรงหรือไม่ ก็ต้องเอาผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพมาวิเคราะห์ จึงจะหลุดพ้นสภาพจากกฎหมายอาญาอย่างแท้จริง ส่วนคดีผู้บริโภค มองว่า ควรจะใช้กับการโฆษณาเกินจริง ฉลากปลอม เป็นต้น เมื่อเข้ารักษาพยาบาลแล้วก็ไม่ควรเข้าข่ายการเป็นคดีผู้บริโภค ส่วนเรื่องทางแพ่ง ต้องใช้หลักความผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่รัฐ การฟ้องแพ่งต้องไปองค์กรก่อน แพ้ชนะค่อยมาทำความตกลงแพทย์หรือผู้เกี่ยวข้อง
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่เป็นเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เพราะไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะ จึงต้องหากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงควรมีกฎหมายของเราเองมาเป็นเกณฑ์การตัดสินคดีความการรักษาพยาบาล มีกระบวนการไกล่เกลี่ยตีความที่เหมาะสม และพรรคยังเสนอให้มีกองทุนดูแลผู้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล ที่จะดูแลทั้งหมอ พยาบาล ผู้ป่วย ให้ความเป็นธรรมสองฝ่าย และต้องการแก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิด คือ คุณภาพ รพ. การทำงานหนักเกินไป และค่าใช้จ่าย
พล.ท.อนุมนตรี กล่าวว่า เรื่องประมาทเลินเล่อร้ายแรง ตนไม่เห็นด้วย เพราะภาระงานที่มีอยู่มาก ทำให้ระยะเวลาที่เจอผู้ป่วย การสอบถามความเจ็บป่วยน้อย จึงไม่น่าจะเป็นความประมาทเลินเล่อ ดังนั้น ควรออกเป็นกฎหมายเฉพาะ ซึ่งค้นดูมีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับผลกระทบจากการบริการ คิดว่าเนื้อหาน่าจะมีทางบุคลากรและผู้ป่วยทั่วไปได้เห็นและพิจารณาเห็นพ้องต้องกันออกมาเป็น พ.ร.บ.ที่ใช้ดูแลวิชาชีพสาธารณสุขโดยเฉพาะ
คำถามที่สี่ การเตรียมความพร้อมบุคลากรให้เพียงพอรองรับปัญหาแรงงานต่างด้าว ผู้สุงอายุ และเมดิคัล ฮับ
นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องยกระดับฐานให้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น เช่น ยกระดับ อสม. หรือการส่งแพทย์ไปประจำ รพ.สต. โดยเรื่องแรงงานต่างด้าว คงต้องใช้เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ต้องปฏิรูปการศึกษาสร้างคน สร้างหมอ พยาบาล ให้มากขึ้นเพื่อออกมารองรับ รวมถึงส่งเสริมอาชีพใหม่ในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งหากดูแลได้ดี ก็ลดการไปโรงพยาบาล ส่วนเมดิคัลฮับ ต้องพัฒนาอุปกกรณ์ คุณภาพ รพ. ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ด้วย ไม่ใช่แค่หมอและพยาบาล
นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า ต้องวางแผนการผลิต การบรรจุ และการกระจายให้เหมาะสม อย่างเมดิคัลฮับ มองว่า ต้องมีการควบคุมการสร้าง รพ.เอกชน ขนาดกี่เตียง เหมือนต่างประเทศซื้อรถต้องมีที่จอด โรงพยาบาลก็เช่นกัน มิเช่นนั้นจะเอาแพทย์พยาบาลที่ไหนมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องสังคายนาระบบการจัดการภาครัฐ สธ.ต้องเอาข้อมูลมากางดู ประชากร ประชากรแฝง การกระจายตัวของบุคลากรเป็นอย่างไร เพื่อวางแผนผลิตและกระจายบุคลการให้เป็นตามเป้าหมาย และมีแรงจูงใจให้อยู่ในระบบ เช่น การศึกษาต่อของแพทย์ ค่าตอบแทนพยาบาล ส่วนเมดิคัล ฮับ ถ้าส่งเสริมจะมีการดึงทรัพยากรออกไปจากภาครัฐ ดังนั้น รัฐไม่ควรไปส่งเสริม ไม่ใช่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะเอาทรัพยากรไปเติม แต่ยืนยะนว่าไม่ได้ขัดขวาง หากเติบโตไปเองตามธรรมชาติ หรือหากแค่อำนวยความสะดวก และจะต้องลดแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นกับภาครัฐ เช่น การดึงบุคลากรไป อาจต้องมีการนำบุคลากรต่างชาติมารักษาต่างชาติหรือไม่ หรือพิจารณาว่าจะเสียกำไรมาช่วยผลิตกำลังคนและกระจายบุคลากรอย่างไร
พล.ท.อนุมนตรี กล่าวว่า เรื่องเมดิคัลฮับ และแรงงานต่างด้าว มีผลในการดึงบุคลากร จึงต้องทำให้ปฐมภูมิ รพ.สต.มีบุคลากรครบพอดูแลเบื้องต้น มีศักยภาพรักษาได้มากพอควร ไม่ต้องส่งต่อ ขณะที่การศึกษา ต้องส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีทุนการศึกษามีโควตาพิเศษมาเรียนแพทย์พยาบาลมากขึ้นกว่าเดิม หลังจบแพทย์พยาบาลมาอาจมีสัญญากลับมาทำงานถิ่นที่อยู่ เพิ่มเวลาใช้ทุน 3-6 ปี ระหว่างปฏิบัติงาน ค่าตอบแทนสวัสดิการความเป็นอยู่ต้องอยู่ได้อย่างมีความสุข
นพ.เรวัต กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุ แรงงานต่างด้าว เมดิคัลฮับ ต้องเพิ่มบุคลากรทั้งสิ้น เมดิคัลฮับ เป็นความย้อนแย้ง ส่งเสริมบุคลากรไหลออกจากรัฐไปเอกชน ไม่ตอบโจทย์ ซึ่งเมื่อกลับมาดูประสบการณ์ต้องรับความจริง ว่าไม่เคยประสบความสำเร็จให้บุคลากรเพียงพอเลย สิ่งที่ตอบโจทย์ คือ เทคโนโลยี โดยเฉพาะเอไอจะตอบโจทย์ทั้งหมดได้ อย่างอังกฤษประกาศใช้เอไอเป็นวาระชาติ ในการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ การรักษาใช้โรบอตผ่าตัด เป็นระบบมาช่วยงานพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมงไม่ต้องผลัดเปลี่ยนเวร หรืองานด้านเอกสาร ช่วย รพ.ลดต้นทุน การวิเคราะห์ภาพเอกซ์เรย์ ซีทีสแกน