xs
xsm
sm
md
lg

101 ปี “เอสโตเนีย” สู่ประเทศดิจิทัลล้ำหน้าที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เอสโตเนีย” หรือชื่อทางการ คือ สาธารณรัฐเอสโตเนีย แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กบนภูมิภาคบอลติกในยุโรปเหนือ แต่กลับมีความโดดเด่นในเรื่อง ความสวยงามของภูมิประเทศ เนื่องจากติดกับอ่าวฟินแลนด์และทะเลบอลติก รวมถึงมีเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย โดยเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา “เอสโตเนีย” เพิ่งฉลองวันชาติครบรอบ 101 ปี

ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ สาธารณรัฐเอสโตเนียประจำกรุงเทพมหานคร และประธานคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ จึงได้เป็นประธานในการจัดงานเลี้ยงฉลองวันชาติเอสโตเนียครบรอบ 101 ปีขึ้น ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยภายในงานการบรรเลงเพลงชาติไทย เพลงชาติเอสโตเนีย และบทเพลงต่างๆ โดยคณะวงดนตรีออร์เคสตรา คณะร้องเพลงประสานเสียงและนักเรียนทุนดนตรีของโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์กรุงเทพฯ

ดร.วีระชัย กล่าวว่า ในฐานะกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ สาธารณรัฐเอสโตเนียประจำกรุงเทพมหานคร จึงอยากจะเผยแพร่ว่า เอสโตเนียมีความสามารถและมีความพร้อมที่จะช่วยประเทศไทยอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของเอสโตเนีย คือ การเป็นที่ 1 ของโลกด้านดิจิทัลเทคโนโลยี โดยสามารถผลิตระบบความปลอดภัยที่เรียกว่า “สปลิท คีย์” ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการแฮกได้ สมมติเราจะเข้าบัญชีโดยต้องใช้รหัสผ่าน 9 ตัว ก็ต้อง 9 ตัวให้ได้ หรือรหัสอาจบันทึกไว้ในคีย์การ์ด ซึ่งหากหล่นหายไปคนอื่นก็อาจเอาไปใช้ได้ แต่สปลิท คือ การเก็บรหัสไว้ 3 ตัวในมือถือ พอเคาะเข้าไป เซิร์ฟเวอร์จะส่งอัลกอริธึมมาคำนวณ และจะสร้างรหัสอีก 2 ตัวขึ้นมา รวมกับตัวที่มีอยู่เข้าไปในระบบ ซึ่งใช้เวลาน้อยมากเป็นเศษของวินาที จะกลายเป็นรหัสเต็มถึงจะเข้าไปได้ ซึ่งในโลกนี้ยังไม่มีใครทำ มีแค่เอสโตเนีย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “สไกป์ (Skype)” ที่เราใช้ทุกวัน หรือบล็อกเชน (KSI Blockchain) และที่เก่งมากอีกเรื่อง คือ การบริหารการส่งข้อมูลของรัฐบาลทั้งประเทศของเอสโตเนียและฟินแลนด์ โดยที่ไม่มีใครสามารถแฮกได้เลย

“สาเหตุที่เอสโตเนียพัฒนามาได้ขนาดนี้ เพราะถูกสอนมาว่า เขาหลังชนฝาแล้ว เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรรัสเซียจะเข้ามายึดคืน หรือจะมาโยนปรมาณูลงมาในประเทศ ทางรอด คือ จะต้องเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งที่เลือกก็คือ ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี จึงทำให้เขาเก่งจริง เพราะเขาทุ่มเททุกอย่างเพื่อด้านนี้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเขาประกาศ ดังนั้น แม้จะมีหลายพรรคการเมือง แต่มีสัญญาร่วมกันว่าจะเอาเก่งทางด้านนี้ ประธานาธิบดีของเขาอยู่ครั้งละ 5 ปี หน้าที่หลักมี 2 หน้าที่ คือ เปิดงาน และเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี ไม่ต้องมายุ่งเรื่องการเมือง เรียกว่าสามารถเอาข้อมูลประเทศทั้งหมด รวมทั้งโฉนดทุกใบ เอาไปเก็บไว้ที่บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เรียกว่าเป็นดิจิทัลเอมบาสซี มีสถานภาพเหมือนสถานทูต แต่ว่าไม่มีคน มีระบบการป้องกัน เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับประเทศเล็กๆ และถึงขนาดว่า นาโต้ทั้งหมดมอบให้เอสโตเนียเป็นศูนย์ต่อต้านการโจมตีทางด้านไซเบอร์ เพราะฉะนั้นสุดยอดของโลกอยู่ที่เอสโตเนีย” ดร.วีระชัย กล่าว

ดร.วีระชัย กล่าวว่า ตนเป็นกงสุลมาเกือบ 20 ปี จึงคิดว่าต้องเอาสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่สุดของโลกเข้ามาในไทยให้ได้ ซึ่งข่าวดี คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำลังประสานอยู่ คาดว่า หลังเลือกตั้งอาจจะดำเนินการต่อ ซึ่งประเทศไทยต้องการเข้าสู่ดิจิทัล หากเราไม่มีระบบที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัยจริง คนก็จะไม่กล้าใช้ ซึ่งความปลอดภัย คือ จะต้องเข้าได้เฉพาะจ้าของจริง และการส่งข้อมูลระหว่างกัน กระทั่งในระดับประเทศก็ต้องไม่สามารถถูกแฮกได้ เราจึงอยากเอา 2 เทคโนโลยีนี้เข้ามาในไทยเร็วที่สุด โดยขณะนี้ในส่วนของเอกชนให้ความสนใจกันมาก โดยเฉพาะส่วนของธนาคารและโทรคมนาคม ที่เมื่อมีความปลอดภัยทางดิจิทัลมาก คนก็เชื่อมั่นที่จะใช้มากขึ้น

ดร.วีระชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ บริษัทไทย ที่ชื่อ แสนรัก อารูกัส (Saenruk Arukas) เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทไซเบอร์เนติกา พัฒนาแอปอปพลิเคชัน “อารูกัส” ที่เป็นภาษาเอสโตเนีย แปลว่าสมาร์ท ซึ่งจะมาช่วยบริหารจัดการภาวะวิกฤตทางด้านดิจิทัลหรือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสามารถจับข้อมูลต่างๆ ใน Public Domain คือ เว็บไซต์ทั้งหมด ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เฟซบุ๊กที่เป็นเพจ หรือไลน์ ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ทำให้สามารถทราบข้อมูลและสถานการณ์บนโลกออนไลน์ได้ทันที ว่ากำลังเกิดเรื่องอะไรขึ้น เพื่อจะได้บริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม สมมติ บริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภค ก็สามารถนำข้อมูลบนโลกออนไลน์นี้มาวิเคราะห์ได้ทันทีว่า มีการติชมผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอย่างไรบ้าง ทำให้ทราบจุดแข็งของสินค้า จุดที่ต้องปรับปรุง และสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถรวบรวม แบ่งหมวดหมู่ส่งไปยังสมาร์ทโฟนผู้บริหารได้ทันที

“อีกเรื่องหนึ่งที่น่ายินดี คือ นักเรียนชาวเอสโตเนียอายุระหว่าง 14-16 ปี เข้ามาศึกษาที่โรงเรียน นานาชาติ รีเจ้นท์ ทั้งพัทยาและกรุงเทพตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นักเรียนจำนวนกว่า 100 คนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ โดยนักเรียนหลายคนในจำนวนนี้ สามารถเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยลอนดอน เติบโตเป็นผู้นำในด้านต่างๆ ของเอสโตเนีย เช่น นักการทูต นักเขียน และแพทย์ ทางโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ไม่เพียงแต่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการให้กับนักเรียนทุกคนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความมีน้ำจิตน้ำใจที่ดี และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นด้วย จึงเชื่อมั่นว่านักเรียนชาวเอสโตเนียเหล่านี้ เมื่อจบการศึกษา ทั้งจากโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ และในระดับมหาวิทยาลัยที่เลือกแล้ว จะเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศของตนในอนาคต และสร้างความเข้มแข็งความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างเอสโตเนียและประเทศไทย” ดร.วีระชัย กล่าว

สำหรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเอสโตเนีย เริ่มสถาปนาตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2535 และมีความสัมพันธ์อันดีเรื่อยมาโดยวิเคราะห์จากจำนวนนักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวเอสโตเนียที่เพิ่มมากขึ้นประมาณร้อยละ 1 ของประชากรชาวเอสโตเนีย ดังนั้นเมื่อ พ.ย. 2557 รัฐบาลไทยจึงได้ผ่อนปรนให้ชาวเอสโตเนียเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลา 30 วันเหมือนชาวยุโรปเหนือชาติอื่นๆ เมื่อจำนวนชาวเอสโตเนียที่เข้ามามีเพิ่มมากขึ้น ทางรัฐบาลเอสโตเนียจึงได้พิจารณาแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์เพิ่มขึ้นในเมืองพัทยา ซึ่งปัจจุบันกำลังรอการดำเนินการขอพระบรมราชานุญาตเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเพิ่มขึ้น จากที่มีอยู่แล้วในกรุงเทพฯ และภูเก็ต















กำลังโหลดความคิดเห็น