xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระเกียรติ” ยันไม่ได้ยกเลิกหลักสูตร EP-MEP ฝากผู้ปกครองอย่ากังวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ธีระเกียรติ” แจงอย่าตระหนกไม่มีการยกเลิกหลักสูตร EP- MEP และบอร์ด กพฐ.ไม่ได้มีมติยกเลิก เป็นแค่ข้อเสนอและวิธีการ ย้ำการยกเลิกไม่ได้เกิดง่ายๆ ต้องประกาศให้ชัดเจน

วันนี้ (11 มี.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะมีการปรับปรุงหลักสูตร English Program (EP) และหลักสูตร Mini English Program (MEP) โดยให้โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนประมาณ 400 โรงปรับมาใช้หลักสูตรใหม่ ซึ่งขณะนี้ผู้ปกครองเกิดความสับสนและกังวล เนื่องจากเป็นช่วงการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ด้วยนั้น ว่า ขณะนี้มีความสับสนจริงแต่ขอย้ำว่าไม่ต้องตระหนก ตนยืนยันว่าไม่ได้มีการยกเลิกหลักสูตร EP และ MEP การจัดการสอนยังคงเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เรื่องนี้เกิดจากคณะอนุกรรมการพัฒนาหลักสูตรได้รายงานความก้าวหน้าและข้อเสนอปรับการจัดการเรียนการสอนในโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค หรือ Education Hub พร้อมรูปแบบวิธีการว่าจะปรับจะทำอย่างไรให้ที่ประชุม กพฐ.ที่มี รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน และได้มีการแถลงข่าวออกมาว่าเป็นมติที่ประชุม ซึ่ง ประธาน กพฐ.ยอมรับว่า จริงๆ เป็นการเข้าใจผิด ซึ่งตนได้มอบหมายให้ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.เร่งชี้แจงเพื่อลดความสับสน

“ยืนยันว่า ไม่ได้มีมติยกเลิกหลักสูตร EP, MEP และเรื่องนี้เป็นแค่ข้อเสนอ ซึ่งการยกเลิกอะไรก็ตามไม่ใช่อยู่ๆ จะไปยกเลิกได้เลย ทำแบบนั้นไม่ได้ทุกอย่างมีกระบวนการ มีขั้นตอน ถ้าจะทำระบบใหม่ต้องวางแผนให้ชัดเจน จะต้องทำอะไรบ้าง ครูผู้สอน/ครูต่างชาติพอหรือไม่ รูปแบบของเก่าที่ทำมาเป็นเช่นไร ไม่ใช่เสนอเปรี้ยงปร้างแล้วจะเปลี่ยนได้ ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าคนที่จะประกาศยกเลิกคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ใช่บอร์ด กพฐ.และถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไร สพฐ.ก็ต้องทำแผนและประกาศออกมา ส่วนต้องขอความเห็น กพฐ.หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องนั้นกระทบกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือไม่ ถ้าไม่กระทบก็ทำได้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่” นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า หลักสูตร EP และ MEP เป็นรูปแบบหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาภาษาอังกฤษ ส่วนการเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษนั้น หากไม่มีความพร้อมก็ใช้รูปแบบอื่นๆ มาช่วยได้ เช่น โครงการ English Boot Camp ที่นำครูมาอบรมความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษ และกระจายอยู่ทั่วประเทศมาสอน โรงเรียน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น