xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรไม่ให้เด็กกลัวการขึ้นเครื่องบิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปิดเทอมใหญ่แล้ว! ในที่สุดช่วงเวลาที่เด็กๆ ทั้งหลายรอคอยก็มาถึง เวลาสำหรับการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ใหม่ๆนอกห้องเรียน เวลาที่จะได้ทำหลากหลายกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันก็เป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องหาวันพักร้อน เค้นเอาพลังงานและความคิดออกมาให้หมด เพื่อสรรหากิจกรรมดีๆมามอบให้กับลูกๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้จากการเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ

จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาปิดเทอมนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ไม่ว่าใกล้หรือไกล ก็สามารถพบเจอคุณพ่อคุณแม่พาลูกๆมาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเนืองแน่น มีการเดินทางประเภทหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักเลือกใช้เนื่องจากสามารถพาเจ้าตัวเล็กไปท่องเที่ยวยังสถานที่ไกลๆ มีโอกาสได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ๆในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วนั่นคือ การเดินทางโดยเครื่องบิน

เด็กๆจำนวนมากเกิดความประทับใจและมีประสบการณ์ที่ดีจากการได้เห็นวิวทิวทัศน์ของพื้นดินและน้ำทะเลจากบนท้องฟ้า ได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในปุยเมฆสีขาว รวมถึงได้ใช้เวลาคุณภาพนั่งเล่นพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เมื่อผ่านประสบการณ์การเดินทางด้วยเครื่องบินแล้วเกิดความกลัวฝังใจ ไม่กล้าขึ้นเครื่องบินอีก เป็นการรับรู้ที่ติดตัวจนไปถึงวัยผู้ใหญ่เลยทีเดียว

ความกลัวมักมีสาเหตุมาจากลักษณะเฉพาะของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศระหว่างที่เครื่องบินเปลี่ยนระดับความสูง ทำให้เกิดแรงดันในช่องหู เกิดอาการหูอื้อหรือปวดหูมาก ความรู้สึกสั่นสะเทือนและการถูกเขย่าตัวไปมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ หรือข้อจำกัดที่ต้องนั่งอยู่ในพื้นที่ปิดและคับแคบเป็นเวลานาน

แม้ว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขลักษณะเฉพาะดังกล่าวได้ แต่เมื่อเลือกการเดินทางโดยเครื่องบินด้วยเหตุผลความสะดวกรวดเร็วและโอกาสในการสร้างความประทับใจให้กับเด็กๆแล้ว เราสามารถควบคุมดูแลปัจจัยต่างๆให้มีผลกระทบต่อตัวเด็กน้อยที่สุดได้ โดยคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องทำการบ้านในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางเป็นอย่างดี โดยพิจารณาข้อเสนอแนะตามแนวทางต่อไปนี้

1.ประเมินตัวเด็ก ปกติแล้วคุณพ่อคุณแม่จะทราบดีว่าลูกๆมีสุขภาพกายและใจเป็นอย่างไร หากมีอาการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวก็ควรได้พบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและเตรียมยาไว้ให้พร้อม ส่วนเรื่องทางจิตใจ เช่น กลัวความสูง กลัวความมืด ไม่ชอบอยู่ในที่คับแคบ ไม่ชอบที่คนพลุกพล่าน หรือแม้แต่กลัวว่าเครื่องบินจะตก หากประเมินแล้วเด็กยังไม่มีความพร้อมในครั้งนี้ก็ควรปรับเปลี่ยนแผนไปก่อน

ความกลัวทั้งหลายสามารถดูแลแก้ไขได้โดยการให้คำแนะนำและให้กำลังใจ ค่อยๆส่งเสริมความเชื่อมั่นในตัวเองให้กับเด็กผ่านการทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มทักษะและสร้างความมั่นใจในเรื่องที่ขาดหายไปมากกว่าพาหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัว รวมถึงการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษามีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อาจต้องใช้เวลาบ้างแต่ก็คุ้มค่ากว่าการทำให้เด็กเพิ่มความกลัวการขึ้นเครื่องบินไปตลอดชีวิต

2.ประเมินเส้นทาง เมื่อประเมินตัวเด็กและเห็นว่ามีความพร้อมแล้ว ก็มาถึงการเลือกเส้นทางการเดินทาง เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก อาจเริ่มต้นจากระยะเวลาการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในประเทศได้อย่างครอบคลุม เมื่อเด็กมีความคุ้นเคยและรู้สึกประทับใจแล้วก็สามารถขยายระยะเวลาและเส้นทางการเดินทางออกไปให้ไกลขึ้นได้

คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกๆได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้เด็กๆมีความกระตือรือร้นและรู้สึกตื่นเต้นจนไม่สนใจความกลัวในการเดินทางด้วยเครื่องบิน ทั้งนี้ ควรพิจารณาช่วงเวลาในการเดินทางให้สัมพันธ์กับเวลาพักผ่อน เวลาอาหารและเวลาในการท่องเที่ยวเพื่อป้องกันเด็กงอแง รวมถึงควรศึกษาเรื่องการเลือกที่นั่งที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง

3.เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาจะต้องพาเด็กๆเดินทางไปที่ไหนแต่ละครั้ง คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมของเล่นของใช้มากมายติดตามไปด้วยจำนวนไม่น้อย แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นอาจมีข้อจำกัดในเรื่องขนาดและน้ำหนักสิ่งของติดตัวไปด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องละเอียดรอบคอบในการจัดกระเป๋าเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่องสิ่งใดที่จำเป็นสำหรับเด็กๆ เพื่อให้ตลอดการเดินทางเป็นไปด้วยความราบรื่น

สิ่งของสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็กเล็กคือ นม ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการนำขึ้นเครื่องบินบ้าง แต่ก็สามารถขอคำแนะนำจากสายการบินได้ ขนมขบเคี้ยวทานเล่นที่ชอบนั้น นอกจากจะทำให้อร่อยเพลิดเพลินและอิ่มทัองแล้ว ขณะที่เคี้ยวยังช่วยปรับแรงดันในช่องหูซึ่งบรรเทาอาการหูอื้อได้ ขณะที่ของเล่นก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้เด็กๆรู้สึกเพลิดเพลินไม่เบื่อหน่ายเมื่อต้องนั่งนานๆ เช่นเดียวกับผ้าห่มที่คุ้นเคยซึ่งช่วยให้รู้สึกอบอุ่นใจ

4.ให้ความเอาใจใส่ ไม่เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่เท่านั้น แต่ผู้ใหญ่พึงระลึกเสมอว่าเด็กแต่ละคนตอบสนองต่อสภาวการณ์ต่างๆได้ไม่เหมือนกัน บางคนนั่งนิ่งเฉยไม่กล้าไปไหน บางคนร้องไห้งอแง บางคนเล่นซนไม่อยู่นิ่ง ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพยายามดูแลไม่ให้เด็กไปรบกวนคนรอบข้างแล้วก็ตาม จึงไม่ควรต่อว่าหรือมองด้วยสายตาที่แสดงถึงการตำหนิติเตียน ทำให้เด็กเก็บความรู้สึกไม่ดีไว้จนจำฝังใจ

ในการเดินทางนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลลูกตั้งแต่เรื่องการพักผ่อนให้เพียงพอ ความหิว ความเหนื่อยล้าและการเจ็บป่วย หากเด็กนั่งอยู่กับที่นั่งนานๆจนรู้สึกอึดอัดหรือเบื่อ ควรเบี่ยงเบนความสนใจโดยให้เล่นของเล่นและเล่นเกมด้วยกัน ใช้เวลาพูดคุยกันเบาๆอย่างใกล้ชิดในเรื่องต่างๆ หรือเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังจะไป นอกจากจะเพลิดเพลินแล้วยังสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจให้กับเด็กได้ดีด้วย

การพาลูกๆคนเก่งขึ้นเครื่องบินนั้นมองดูผิวเผินเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักมีความวิตกกังวลอยู่ในใจมากมาย เด็กจะไม่กลัวการขึ้นเครื่องบินเลยหากคุณพ่อคุณแม่เตรียมความพร้อมให้ดีพร้อมกับส่งมอบความมั่นคงทางจิตใจให้ เพียงเท่านี้ เด็กๆก็มีโอกาสเปิดโลกแห่งการเรียนรู้และสร้างความประทับใจใหม่ๆให้กับตัวเองจากการเดินทางไกลได้เสมอ


กำลังโหลดความคิดเห็น