ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจำนวนมาก อาหารก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ผ่านมาจึงมีการคิดค้นนวัตกรรมการปรุงอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเชฟนักวิทยาศาสตร์การปรุงอาหารขึ้น เพื่อผลิตอาหารสุขภาพตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง
รศ.ดร.ประพันธ์ ปิ่นศิโรดม คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทางออกของไทยจากวงจรกับดักประเทศสุขภาพย่ำแย่ จำเป็นจะต้องพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรในแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน สิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางอาหารได้นั้นคือ การผลิตเชฟนักวิทยาศาสตร์การปรุงอาหารมืออาชีพขึ้น เพื่อพัฒนาอาหารให้มีรสชาติที่ถูกปาก ราคาสบายกระเป๋า และอัดแน่นด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ การสร้างสรรค์การปรุงอาหารจะต้องรู้วิทยาศาสตร์ของอาหารและเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ
ทั้งนี้ 10 ซูเปอร์ฟู้ด (Super Food) ที่อุดมไปด้วยคุณค่าคู่ควรแก่การบริโภคแห่งยุค ดังนี้
1.น้ำนมจากพืช นวัตกรรมทางเลือกใหม่ของการดื่มนม
“น้ำนมพืช” ชื่อนี้อาจจะคุ้นหูของใครหลายๆ คน ซึ่งน้ำนมพืชจะมาในรูปแบบของ น้ำนมอัลมอนด์ (Almond Milk) น้ำนมข้าว (Rice Milk) น้ำนมผสมเครื่องเทศ (Golden Milk) น้ำนมข้าวโอ๊ต (Oat Milk) หรือโยเกิร์ตจากน้ำนมพืช (Plant-Based Yogurts) โดยน้ำนมจากพืชจะให้โปรตีนแทนน้ำนมจากสัตว์และปราศจากน้ำตาลแลกโตส ทำให้ลดปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวและการบริโภคสารพิษที่ติดมากับสัตว์ได้ น้ำนมจากพืชมีโปรตีนและคุณค่าทางโภชนาการสูง
นอกจากนี้ น้ำนมจากพืชยังช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอล โรคท้องผูก บำรุงระบบย่อยอาหาร และปกป้องหัวใจ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม น้ำนมจากพืชนั้นอาจจะไม่เหมาะกับการให้เด็กวัยกำลังเจริญเติบโตดื่มเนื่องจากยังขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตบางชนิด แต่สำหรับคนเมืองวัยทำงานสามารถเลือกบริโภคน้ำนมจากพืชเป็นทางเลือกใหม่ในการดูแลสุขภาพได้อย่างปลอดภัย
2. โปรตีนฟิวชัน ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ใหญ่
โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญในการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอของร่างกาย รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญสำหรับการสร้างสมดุลของเอนไซม์ ฮอร์โมน และสารเคมีในร่างกายของเรา แต่ปัจจุบันพบว่าโปรตีนจากสัตว์ใหญ่ที่เป็นแหล่งที่มาหลักของโปรตีนที่ใช้บริโภคในปัจจุบันมีการปนเปื้อนสารพิษและยาปฏิชีวนะสูง โปรตีนฟิวชันถึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพซึ่งได้แก่ โปรตีนจากพืช โปรตีนจากแมลง หรือโปรตีนจากถั่ว เป็นต้น
โปรตีนฟิวชันถูกนำมาผลิตเป็นอาหารในรูปแบบต่างๆ ที่ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองทั้ง รูปแบบอาหารอัดแท่ง หรือ แสนคบาร์ (Snack bar) ขนมขบเคี้ยว เบอร์เกอร์ ไส้กรอก โยเกิร์ต หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเนื้อสัตว์ (เนื้อสัตว์ปลูก) เป็นต้น โดยการรับประทานโปรตีนฟิวชันให้ได้คุณประโยชน์สูงสุดนั้นให้เลือกรับประทานพืชโปรตีนสูง เช่น พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช เป็นต้น และรับประทานให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน
3. สารอาหารจากท้องทะเล คุณค่ามากกว่าที่คิด
อาหารทะเลเป็นหนึ่งของแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับเหล่าคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะการเลือกรับประทานปลาและสาหร่าย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันลดเทรนด์การบริโภคเนื้อแดงจากสัตว์ใหญ่ และหันมาให้ความสำคัญกับโปรตีนจากทะเลที่มีรสชาติเค็มจากธรรมชาติแทนความเค็มของเกลือ นอกจากนี้ การบริโภคปลาทะเลยังเป็นแหล่งโอเมกา 3 (Omega - 3) ที่สำคัญ ซึ่งโอเมกา 3 จะช่วยบำรุงผิว ผม และเล็บให้มีสุขภาพดี ลดระดับคอเลสเตอรอลที่เป็นอันตราย ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ลดความถี่และความรุนแรงของโรคปวดศีรษะไมเกรน โดยโอเมกา 3 พบมากในปลาซาร์ดีน แซลมอน กุ้ง หอยนางรม และหอยกาบ สำหรับปลาบางชนิดจัดว่าเป็นอาหารเพิ่มโอเมกา 3 สำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ เช่น ปลากะพงแดง ปลาเทราต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ปลาทะเลบางชนิดเป็นปลาที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ปลาอินทรี ปลาฉลาม ปลากระโทงแทงดาบ เป็นต้น
4. พืชผักออร์แกนิก คุณประโยชน์ที่สร้างเองได้
พืชผักออร์แกนิกถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่าน ด้วยความง่ายของการเข้าถึงที่ผู้บริโภคสามารถปลูกเองได้ ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอนและเพาะปลูกด้วยวิธีการธรรมชาติ ทำให้ได้พืชผักที่เป็นผลผลิตมีคุณภาพดี ไม่มีสารพิษตกค้าง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยผักออร์แกนิคจะมีวิตามิน เกลือแร่ เอนไซม์ สารอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มากกว่าพืชผักทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง สมองพิการ และโรคออทิสติกได้
การปลูกพืชผักออร์แกนิกมักนิยมปลูกพืชตามฤดูกาลเพื่อให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดี ลดการใช้สารเคมีกระตุ้นพืชผัก นอกจากนี้ พืชผักออร์แกนิกจะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกมีสุขภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายในการเพาะปลูก ตัวอย่างพืชผักออร์แกนิกที่เป็นที่นิยมในท้องตลาด เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ มันฝรั่ง กวางตุ้ง กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เป็นต้น
5. ธัญพืชเม็ดเล็ก แต่คุณค่าคับเมล็ด
ธัญพืช คำคุ้นเคยของผู้คนที่ใช้เรียกอาหารที่มาจากพืชทานเมล็ด เช่น ถั่วชนิดต่างๆ อัลมอนด์ ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต งา เป็นต้น ธัญพืชต่างๆ เป็นแหล่งผลิตโปรตีน ไฟเบอร์ และวิตามินที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดี สร้างเม็ดเลือดแดง ลดระดับไขมันในหลอดเลือด ช่วยขับปัสสาวะ ดูดซับขับไขมันเลว และช่วยบำรุงร่างกาย อวัยวะภายใน และระบบขับถ่าย สำหรับธัญพืชที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานกัน เช่น ข้าวหอมนิล ที่อุดมไปด้วยวิตามินบี โฟเลต และธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเสริมสร้างคอลลาเจน ข้าวโพดและลูกเดือย ที่มีคุณค่าทางสารอาหารหลายชนิด มีปริมาณกากใยช่วยสูงระบบการย่อยอาหารและขับถ่าย มีกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการและไขมันดีสูง พืชตระกูลถั่ว ที่อุดมไปด้วยโปรตีนย่อยง่าย สารต้านอนุมูลอิสระ โอเมกา 3 และแร่ธาตุต่างๆ ช่วยบำรุงหัวใจ ร่างกาย และสมอง เป็นต้น
6.ซูเปอร์พาวเดอร์ เทรนด์ใหม่นวัตกรรมการปรุง
อาหารเสริมชนิดผง (Super Powder) กำลังเป็นอาหารเสริมเทรนด์ใหม่มาแรงที่ได้รับความนิยมสูง โดยอาหารเสริมชนิดผงนี้ผลิตได้ทั้งจากพืชผัก สมุนไพร และแมลง เช่น ผงผักเคล ผงเห็ด ผงมาคาหรือโสมเปรู ผงจากขิง ผงขมิ้น หรือผงแมลง เป็นต้น อาหารเสริมชนิดผงเหล่านี้ผู้บริโภคสามารถนำมาผสมอาหารหรือเครื่องดื่มได้หลากหลายวิธี เพื่อเพิ่มพลังงานและคุณค่าทางโภชนาการได้ เช่น การนำผงแมลงผสมในเบเกอรี่สำหรับทำขนม เส้นบะหมี่ เส้นสปาเก็ตตี้ ขนมปังเบอร์เกอร์ ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียม เครื่องดื่มเสริมโปรตีน เพื่อลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตและเพิ่มปริมาณโปรตีนในอาหาร ซึ่งโปรตีนจากแมลงนั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่จะช่วยเสริมสร้างร่างกายและคอลลาเจน บำรุงเส้นผมและผิวหนัง นอกจากนี้ผงแมลงยังถูกพัฒนาให้สามารถนำมาโรยข้าวในลักษณะคล้ายฟุริคาเคะหรือผงโรยข้าวญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มโปรตีนในอาหารสำหรับผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ อีกด้วย
7. ซุปพืชพร้อมดื่ม เทรนด์ใหม่มาแรง
อาหารสุขภาพเทรนด์ใหม่แห่งยุค 2019 ที่นำพืชผักผลไม้ชนิดต่างๆ มาปั่นให้เป็นอาหารในลักษณะคล้ายซุป แต่สามารถดื่มได้เหมือนเครื่องดื่ม ช่วยให้ง่ายต่อการบริโภคมากยิ่งขึ้น ย่อยง่าย และได้รับคุณประโยชน์ คุณค่าทางโภชนาการสูง ผลิตได้จากพืชผักชนิดต่างๆ เช่น ถั่วกันเนลลินิ (ถั่วขาว) กะหล่ำดอก ผักตระกูลคะน้า เป็นต้น โดยดริ้งกิ้งซุป (Drinking Soup) หรือซุปพร้อมดื่มนั้น จะผลิตออกมาเป็นอาหารพร้อมรับประทานตอบสนองวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ให้เข้าถึงคุณประโยชน์จากพืชผัดผลไม้ได้ง่าย โดยซุปพร้อมดื่มยอดนิยมที่หลายๆ คนคุ้นเคย เช่น แครอท ออทัมน์ แสควช ซุป (Carrot Autumn Squash Soup) หรือซุปแครอทผสมแอปเปิ้ลและฟักทองน้ำเต้าหู้ กรีน ซุป (Green Soup) หรือซุปผักสีเขียวรวม บล็อคโคลี ซุป (Broccoli Soup) หรือซุปบล็อคโคลี่ผสมอะโวคาโดและผักพาร์สลีย์ เป็นต้น
8. คาร์โบไฮเดรตทางเลือก เทรนด์ใหม่สายสุขภาพ
คาร์โบไฮเดรตถือเป็นแหล่งพลังงานหลักในการใช้ชีวิตของเราแทบทุกคน แต่จากเทรนด์การดูแลสุขภาพเชฟนักวิทยศาสตร์ยุคใหม่จึงได้ผลิตคาร์โบไฮเดรตทางเลือกขึ้น โดยแป้งที่ได้จากคาร์โบไฮเดรตทางเลือกนั้นจะมีคุณลักษณะพิเศษที่ลดปริมาณน้ำตาลลง ทำให้ผู้บริโภคที่ควบคุมน้ำตาลสามารถรับประทานแป้งได้อย่างปลอดภัย เช่น แป้งมะพร้าว (Coconut Flour) เป็นแป้งที่ผลิตจากการนำเนื้อมะพร้าวมาสกัดเอาน้ำและน้ำมันออกจนหมด ซึ่งจะนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำอาหารหรือขนมต่างๆ เนื่องจากแป้งมะพร้าวมีองค์ประกอบของโปรตีนและใยอาหารสูง และคาร์โบไฮเดรตที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงจัดเป็นวัตถุดิบซูเปอร์ฟู้ดที่น่าสนใจสำหรับสายสุขภาพทั้งหลาย นอกจากนี้ แป้งจากมะพร้าวไม่มีองค์ประกอบของกลูเตนที่มักจะมีอยู่ในข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ จึงเหมาะกับผู้บริโภคกลุ่มที่เป็นโรคแพ้กลูเตนหรือโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
9. แบคทีเรียกินได้ คุณค่ามากกว่าที่คิด
โดยปกตินั้นในร่างกายของคนเราจะมีแบคทีเรียดีที่เกิดขึ้นเองเป็นตัวช่วยในระบบย่อยอาหาร ที่เสริมการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือดและกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย ปัจจุบันมีการพัฒนาแบคทีเรียดีเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภค เช่น การผลิตอาหารจากแบคทีเรียมีชีวิตกลุ่มโปรไบโอติก (Probiotic) ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้จะกระตุ้นการดูดซึมสารอาหารและย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ในระบบทางเดินอาหารของเรา โดยอาหารที่ผลิตได้จากแบคทีเรียกลุ่มโปรไบโอติกมีทั้งในรูปแบบของ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ชีส กิมจิ เป็นต้น แต่จากการพัฒนาการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพได้มีการผลิตอาหารเสริมจากแบคทีเรียโปรไบโอติกที่สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้องได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกและง่ายต่อการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนเมืองในยุคปัจจุบัน
10. ต้องรับประทานไขมันดี ลดความเสี่ยงโรคร้ายระยะยาว
รู้หรือไม่ ไขมันเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นส่วนสำคัญในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี เคห่อหุ้มอวัยวะและกระดูก และยังช่วยให้ผิวหนังของเรามีความชุ่มชื่น แต่การบริโภคไขมันนั้นจำเป็นจะต้องเลือกให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วไขมันจะกลายเป็นภัยร้ายให้โทษแก่ร่างกายได้ สายสุขภาพตัวจริงมักจะหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันจากสัตว์ที่มักจะมีส่วนประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) อันจะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต ฯลฯ ดังนั้น ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันจึงให้ความสนใจกับการใช้ไขมันดีในการทดแทนไขมันจากสัตว์ โดยแหล่งไขมันดีสามารถพบได้ในวัตถุดิบอาหารหลายชนิด ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ อะโวคาโด ปลาทะเลน้ำลึก นอกจากนี้ ไขมันดียังพบได้ในถั่วต่างๆ เช่น แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ เป็นต้น
รศ.ดร.ประพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สจล. เดินหน้าเปิดหลักสูตรเชฟนักวิทยาศาสตร์การปรุงอาหาร หรือ Culinary Scientific Chef ยกระดับการสร้างสรรค์นวัตกรรมการปรุงอาหาร ปฏิวัติวงการอาหารไทยให้หลุดจากกับดักประเทศสุขภาพย่ำแย่ ด้วยต้นทุนวัตถุดิบประกอบอาหารแหล่งใหญ่ของโลก ตั้งเป้าปั้นเชฟนักวิทยาศาสตร์การปรุงอาหารมืออาชีพหนุนภาคบริการรากฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ และเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานจากวัตถุดิบที่มีอยู่รอบตัว โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ แต่มีความสามาถในการลงทุนกับอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ ดังนั้น อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรมการปรุงอาหารขึ้น การปั้นเชฟนักวิทยาศาสตร์การปรุงอาหารจะเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สุขภาพที่ดีให้กับคนไทย
สำหรับใครที่สนใจข้อมูลเทรนด์อาหารสุขภาพจากเชฟมืออาชีพของหลักสูตรเชฟนักวิทยาศาสตร์การปรุงอาหาร ครั้งแรกของประเทศไทยในการปั้นนักนวัตกรทางอาหารเพื่อยกระดับวงการอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าศึกษาต่อได้ที่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ www.facebook.com/agro.industry.kmitl หรือ http://www.agroind.kmitl.ac.th หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8526