ประเด็นอันตรายของคลื่นสัญญาณจากเสาส่งสัญญาณมือถือ ยังคงเป็นเรื่องราวที่สร้างความสับสนและกังวลใจ ให้กับผู้อยู่อาศัยใกล้บริเวณเสาส่งสัญญาณอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ ได้ให้ข้อมูลไว้แล้วว่า ยังไม่มีข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากองค์กรใดในโลกนี้ระบุอย่างชัดเจนว่าคลื่นสัญญาณมือถือเป็นอันตรายจริง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการตั้งเสาสัญญาณมือถือก็มักจะมีการต่อต้านคัดค้านไม่ให้ตั้งเสาสัญญาณอยู่เสมอ แม้จะมีการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม
ในเรื่องของการตั้งเสาส่งสัญญามือถือ ไม่มีข้อกำหนดจากหน่วยงานของรัฐทั้งในและต่างประเทศ ที่ระบุว่าควรตั้งให้ห่างจากบ้านเรือนอย่างน้อย 400 เมตรอย่างที่เข้าใจกัน แต่เหตุที่จะต้องตั้งเสาส่งสัญญาณมือถือใกล้ชุมชน ก็เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่อาศัยอยู่ในชุมชน สามารถใช้บริการรับส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้อย่างชัดเจนและเสถียรมากที่สุดนั่นเอง
คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือเป็นคลื่นที่มีระดับความแรงต่ำมาก เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยสากลที่ใช้กันในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า สัญญาณคลื่นวิทยุจากสถานีส่งสัญญาณและเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายก่อผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
จากผลการสำรวจปริมาณของคลื่นที่ส่งออกมาจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่า ค่าการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานในระยะ 400 เมตร มีค่าต่ำกว่าขีดจำกัดมาตรฐานที่กำหนดไว้มาก คือวัดได้น้อยกว่า 5% ของมาตรฐานสากลเท่านั้น
ดังนั้น การตั้งสถานีส่งสัญญาณให้อยู่สูงจากพื้นมากเป็นสิบ ๆ เมตร ยิ่งทำให้ระดับความแรงของคลื่นที่พื้นดินน้อยลงไปมากอีกด้วย จึงสรุปได้ว่าผู้ที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีส่งสัญญาณวิทยุโทรคมนาคมที่ทำการตรวจวัด มีความปลอดภัยจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมา
นอกจากนี้ ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลก ที่ได้ศึกษาความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็งของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุ (คลื่นวิทยุ) จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ (เรดาร์ โทรศัพท์มือถือ สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ เสาส่งสัญญาณมือถือ ฯลฯ) ยังปรากฏว่าการสัมผัสคลื่นวิทยุดังกล่าว ไม่มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง ยกเว้นกรณีที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานโดยเฉลี่ยวันละ 30 นาที ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อการเป็นเนื้องอกบางชนิด
สำหรับกรณีของคลื่นวิทยุจากแหล่งกำเนิดอื่น ๆ รวมทั้งจากเสาส่งสัญญาณมือถือนั้น ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง
สรุปสั้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ ว่า เสาส่งสัญญาณมือถือไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างที่กลัวกันแต่อย่างใด
---------------
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงาน กสทช. และ เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์