xs
xsm
sm
md
lg

จ่อเพิ่ม “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ใหม่ 2-10 บาท พบ “ภูเก็ต-ชลบุรี” จะมีค่าแรงสูงสุดในประเทศที่ 340 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จ่อเพิ่ม “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ใหม่ 2-10 บาททั่วประเทศ พบ “ภูเก็ต-ชลบุรี” เล็งขึ้น 10 บาท จะส่งผลมีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดของประเทศในอัตรา 340 บาท ตามด้วย กทม.-สมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 10 บาท และระยอง เพิ่มขึ้น 5 บาท รวมแล้วค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 335 บาทเท่ากัน ด้านคณะอนุกรรมการฯ ยันเพิ่มให้ 2 บาท ใน 49 จังหวัดที่ไม่เสนอเพิ่มตัวเลข พิจารณารอบคอบแล้ว หากนายจ้างค้าน ให้ไปว่ากันในบอร์ดค่าจ้าง

จากกรณีคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างขั้นต่ำ มีมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-10 บาท โดยจะเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิจารณา เพื่อบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2562 ปรากฏว่า มีนายจ้างออกมาคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่ 49 จังหวัด ซึ่งอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดไม่มีการเสนอให้เพิ่ม แต่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองฯ เห็นชอบให้ปรับเพิ่มขึ้น 2 บาท

วันนี้ (26 ก.พ.) นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะอนุกรรมการวิชาการฯ กล่าวว่า ที่เพิ่มขึ้น 2 บาทนั้น คณะอนุกรรมการวิชาการฯ มีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ซึ่งไม่ได้มองแค่เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น แต่มองภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจด้วย อย่างเชียงใหม่ได้ขึ้นค่าจ้าง แต่ลำพูนอยู่ใกล้ๆ กันจะไม่ขึ้นหรือ หรือนนทบุรี จะไม่ขึ้นค่าจ้าง ทั้งที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขึ้นหรือ แล้วถามว่าเวลากินข้าวแกงที่นนทบุรีราคาถูกกว่า กทม.หรือไม่ อีกประเด็น คือ การปรับขึ้นค่าจ้างจะเป็นการช่วยเกลี่ยและตรึงแรงงานอยู่ในจังหวัดต่างๆ ไม่ไปกระจุกตัวอยู่เฉพาะจังหวัดที่ได้ขึ้นค่าจ้างเท่านั้น ถ้าจังหวัดนี้ขึ้น จังหวัดนี้ไม่ขึ้น จังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้างจะเอาคนที่ไหนมาทำงาน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่จะมีการคัดค้าน เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นว่านายจ้างจะเห็นด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นต้องทบทวนอะไร และคงไม่มีการเชิญหรือส่งหนังสือชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะตนได้เสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) แล้ว ก็อยู่ที่บอร์ดค่าจ้างจะพิจารณา

ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะขอให้มีการทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ต้องถามว่าใน 49 จังหวัดนี้เคยได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างมาก่อนหรือไม่ ปีที่แล้วเขาได้ขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ จะทบทวนอะไรก็ต้องดูสภาพเศรษฐกิจ และนี่เป็นมติแล้ว จะทบทวนก็ให้เป็นการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้าง การชักเข้าชักออกเสียเวลา ถ้าบอร์ดเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างสมเหตุสมผลก็ยืนยันไป อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าหากจะมีการทบทวนอยากให้ปรับขึ้นเป็น 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศมากกว่า เพราะแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยตอนนี้ ค่าครองชีพไม่ได้ถูกกว่ากันเลย ขนาดแรงงานภาคเกษตรทุกวันนี้จ้างถูกก็ไม่มีใครทำ อย่างต่ำก็ 300-400 บาท เพราะงานหนัก อยู่กลางแดด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างขั้นต่ำ มีมติว่าให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 2-10 บาท โดย 49 จังหวัดที่ไม่เสนอตัวเลข เห็นชอบให้ปรับขึ้น 2 บาทเท่ากัน ส่วนปรับขึ้น 10 บาท มี 4 จังหวัด คือ กทม. สมุทรปราการ ภูเก็ต และชลบุรี เสนอปรับขึ้น 7 บาท มี 1 จังหวัด คือ สิงห์บุรี เสนอปรับขึ้น 5 บาท เช่น เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ระยอง สมุทรสาคร และนครราชสีมา ปรับขึ้น 4 บาท เช่น นราธิวาส และชัยภูมิ ปรับขึ้น 3 บาท เช่น ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และเพชรบูรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเทียบจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นไปในปี 2561 จะพบว่า ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาอยู่ที่ 330 บาท หากบอร์ดค่าจ้างเห็นชอบปรับเพิ่มขึ้น 10 บาทจริง จะมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดในประเทศ คือ 340 บาท ส่วน กทม.และสมุทรปราการที่ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ขึ้นมาเป็น 325 บาท หากเพิ่มขึ้นอีก 10 บาท จะมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 335 บาท โดยจะเท่ากับระยอง ซึ่งปี 2561 เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 330 บาท หากปรับขึ้น 5 บาทในปีนี้ ก็จะได้อยู่ที่ 335 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น