xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ยันห้ามขาย “น้ำเมา” 13 เม.ย.ไม่ลิดรอนสิทธิคนดื่ม ไม่กระทบเศรษฐกิจ ลดคนเมาออกสู่ถนน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการ ชี้ ห้ามขายน้ำเมาวันที่ 13 เม.ย. เป็นมาตรการสากล จำกัดเวลาการเข้าถึง ยันไม่ได้ลิดรอนสิทธิคนดื่ม เพราะแค่ห้ามขาย ช่วยลดการเดินทางออกมาซื้อ ตระเวนเที่ยวดื่ม ลั่นไม่กระทบเศรษฐกิจ ชูถนนข้าวเหนียวจัดปลอดเหล้าคนมาเที่ยวมากกว่า 4 แสนคน คนกล้าออกมาเที่ยวมากขึ้น เพราะปลอดภัย เพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจจับขายเหล้า ให้ผลดีกว่าเพิ่มตรวจเมาแล้วขับ

จากกรณีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมติเห็นชอบให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อลดอุบัติเหตุ โดยจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบเพื่อจัดทำร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาบังคับใช้ ซึ่งมีทั้งกระแสสนับสนุนและคัดค้าน

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่โรงแรมเอเชีย ในเวทีเสวนา “ถอดรหัสสงกรานต์ งดขายสุรา 13 เมษา ลดอุบัติเหตุ” จัดโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และภาคีเครือข่าย โดย ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า เวลาพูดถึงสงกรานต์ คนจะนึกถึงความสุข หยุดยาว ได้ไปเที่ยว พบปะสังสรรค์เล่นน้ำ และคำว่า 7 วันอันตราย ซึ่งอันตรายที่สุด คือ บนท้องถนน ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้นในวันที่ทุกคนมีความสุข จึงต้องหามาตรการไม่ให้มีอันตรายในวันเหล่านี้ โดยเฉพาะวันที่ 13-14 เม.ย. ของทุกปี เป็นช่วงที่มีสถิติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยของการเสียชีวิตในสองวันนี้อยู่ที่ 153 คน คือ ประมาณ 3 เท่าของช่วงวันปกติ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีมาตรการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวว่า มาตรการห้ามขายน้ำเมาในวันที่ 13 เม.ย. เป็นหนึ่งในมาตรการที่สากลทำเพื่อลดความสูญเสียและองค์การอนามัยโลกก็แนะนำ คือ จำกัดเวลาการเข้าถึง การเพิ่มราคา การจำกัดอายุคนซื้อ สถานที่ห้ามขาย ซึ่งมีงานวิชาการรองรับว่า ทำแล้วมีประโยชน์ ใช้งบประมาณไม่สูง ซึ่งต้องเริ่มห้ามจากวันที่ 13 เม.ย.นี้ ถ้าทำแล้วมีประสิทธิภาพก็ต้องห้ามต่อ ส่วนที่ถามว่าเหตุใดไม่เพิ่มการตรวจจับคนเมาแล้วขับให้มากขึ้นแทน สมมติว่า 1 จังหวัด จัดงานที่มีแอลกอฮอล์ 1 งาน โดยงานเดียวก็ผลิตคนเมาออกมาสู่ท้องถนนแล้วเป็นหมื่นคน แล้ว 77 จังหวัดคิดว่าจะมีคนเมาออกมาสู่ถนนเท่าไร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการมีกี่คน และมักดักจับถนนใหญ่ ไม่ใช่ถนนสายเล็กที่มอเตอร์ไซค์ลัดไป ซึ่งอุบัติเหตุ 80% มาจากมอเตอร์ไซค์ ที่เราทำ คือ ปลายน้ำ จึงต้องหามาตรการอื่น

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวว่า ส่วนผลกระทบที่คนกลัว คือ ลิดรอนสิทธิคนดื่มหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ เพราะที่เราห้าม คือ คนขาย ใครจะดื่มก็ดื่ม ทั้งนี้ ที่เราห้ามคนขาย เพราะวงจรการดื่มช่วงเทศกาลสำคัญ มาจากการเดินทางออกไปซื้อดื่มหรือตระเวนเที่ยวดื่ม ดังนั้น การดื่มที่บ้านได้จะดีที่สุด หากจะดื่มก็ต้องไปซื้อตุนไว้ วางแผนว่าจะดื่มปริมาณเท่าไร และเมื่อหมดแล้ว หากมีมาตรการห้ามขายก็จะรู้ว่า ออกไปแล้วก็หาซื้อไม่ได้ ก็ไม่เกิดการเดินทาง ดื่มเมาแล้วก็อยู่บ้านนอนดีกว่า ส่วนที่กังวลกันว่า จะกระทบเศรษฐกิจใครจะอยากมาเที่ยว ต้องถามกลับว่า งานสงกรานต์ที่ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ซึ่งจัดงานปลอดเหล้า แต่มีคนมาเที่ยวรวมกัน 3 วันถึง 4 แสนกว่าคน ทำเศรษฐกิจแย่หรือไม่

“เศรษฐกิจเป็นเรื่องของความมั่นใจ อย่างช่วงที่เราเห็นข่าว 3-4 ปีก่อน สงกรานต์จังหวัดไหนจัด แล้วมีวัยรุ่นตีกัน มีลวนลาม ซึ่งสาเหตุก็มาจากการเมา กลุ่มอื่นอยากเที่ยวแบบสบายใจก็ไม่อยากมาเล่นสงกรานต์ เพราะอันตราย ไม่สนุก กลัวจะถูกลูกหลง ถูกลวนลามไหม ดังนั้น การห้ามไม่ให้จำหน่าย ผมคิดว่าได้ผลในทางกลับกัน คนจะมั่นใจที่จะออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่ปล่อยภัยมากขึ้น ไม่มีคนเมาก็สบายใจมากขึ้น คนอยากไปเล่นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่ารักษาจากการเกิดอุบัติเหตุ” ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวและว่า ส่วนกระแสคนออกมาคัดค้านมากนั้น ตนมองว่า คนที่เสียงดังที่สุด คือ คนที่กระทบโดยตรง คนที่ออกมาคัดค้าน เพราะเขารู้สึกว่ากระทบเยอะ กลัวว่าจะไม่ได้ดื่มกินเมา ก็ต้องออกมา ส่วนคนไม่ดื่ม ไม่รู้สึกว่าปลอดภัยเพิ่มขึ้น หรือรู้สึกว่ามีประโยชน์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะปกติก็ไม่ได้ดื่มอยู่แล้ว ไม่กินไม่เมา ไม่ได้ออกไปฉลอง ไม่ได้ขับรถรา อยู่บ้านเฉยๆ ตัวเองไม่รับผลกระทบเท่าไร จึงไม่ได้แสดงออกมาก

นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยตายจากอุบัติเหตุทางถนนวันที่ 13 เม.ย.ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สูงถึง 754 ศพ โดยปี 2561 วันที่ 13 เม.ย.วันเดียว ตายถึง 90 ศพ โดยจำนวนนี้ 50 คนตายโดยมีอาการเมาร่วมด้วย ซึ่งคนไม่รู้สึกถึงความน่ากลัวของการเรียกตรวจ เพราะจากโพลของ จส.100 พบว่า 70% ไม่เห็นมีด่าน และ 95% ไม่ถูกเรียกตรวจ ทั้งนี้ งานหนึ่งๆ ผลิตคนเมาออกสู่ถนนมีเป็นหลักพันหลักหมื่น แต่ถูกเรียกตรวจดำเนินคดีได้น้อยมาก โดยสงกรานต์ปี 2561 ดำเนินคดีได้ 5,376 คน แม่จะเพิ่มขึ้น 40% แต่เฉลี่ยแล้วคือประมาณ 69 คนต่อจังหวัด เรียกว่าคนเมาหลักหมื่นแต่จับได้บนถนนหลักสิบ ที่เหลือ คือ ไปเกิดอุบัติเหตุ โดยวันที่ 13 เม.ย. คนบาดเจ็บและตายถูกตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์พบว่า 60% เมาเกินกฎหมายกำหนดคือมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

นพ.ธนะพงษ์ กล่าวว่า สมมติหากเพิ่มกำลังไปที่ด่าน จะเพิ่มเจ้าหน้าที่ได้กี่คน แต่ถ้าทุ่มไปที่ต้นทางเลย คือตรวจจับคนขายน้ำเมาวันที่ 13 เม.ย. หากตรวจจับคนเมาแล้วขับ 1 คน กับคนขาย 1 งาน ประสิทธิผลต่างกันมาก เพราะตรวจจับคนขายจะลดความเสี่ยงคนเมาออกสู่ถนนเป็นหลักพันหลักหมื่น จึงต้องใช้มาตรการเข้มไปกับต้นน้ำ ซึ่งถ้าดูผลตรวจเลือดช่วง 7 วันอันตายสงกรานต์ 2561 พบว่า ตรวจถึง 1,563 คน เป็นวันที่ 13 เม.ย.วันเดียวถึง 370 คน โดยปริมาณแอลกอฮอล์เกินถึง 220 คน หรือ 59% ดังนั้นจึงต้องมุ่งไปวันที่ดื่มแล้วตายสูงสุด ในการห้ามขาย เป็นการตัดวงจร ยิ่งสงกรานต์ปีนี้หยุดตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. หรือบางคนอาจหยุดก่อนหน้านั้น ก็จะกลับบ้านไปตั้งหลักกันเร็ว วันที่ 13 เม.ย. ก็จะมีความพร้อมใจออกมาเล่นน้ำ รื่นเริง

“ที่มีคำถามว่า ทำไมไปละเมิดสิทธิดื่มเหล้า ย้ำว่า ไม่ได้ห้ามดื่ม แต่เน้นที่ห้ามขายที่ต้นน้ำ ส่วนที่ถามว่า คนจะดื่มก็ซื้อกักตุนได้ ไม่ได้แก้ปัญหา ต้องแจงว่า การดื่มที่บ้าน หากไม่มีการขายก็ไม่ออกไปซื้อ ไม่เกิดการเดินทาง นอกจากนี้ 50-60% คนดื่มเมาแล้วขับและเกิดอุบัติเหตุ คือ ออกมาดื่มนอกบ้าน ตระเวนดื่มเที่ยว งานรื่นเริงต่างๆ ก็จะช่วยลดตรงนี้ สำหรับประเด็นไม่ไปเพิ่มตรวจจับหรือเพิ่มโทษเมาล้วขับ ต้องบอกว่า ตรวจจับเพิ่ม ก็จับคนเมาขับได้เฉลี่ย 60-70 คนต่อจังหวัด แต่ต้นน้ำผลิตคนเมาแล้วขับเป็นหลักพันหลักหมื่น ขณะที่คนเมาแล้วขับแค่ถูกปรับและคุมประพฤติ หากชนคนตาย เมื่อสารภาพก็รอลงอาญา ไม่มีบทลงโทษแรงพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าไม่ทำมาตรการห้ามขายวันที่ 13 เม.ย. ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า จะทำอย่างไรกับคนเมาแล้วขับจำนวนมากที่ออกสู่ถนน” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์เราไม่ได้หยุดยาวเช่นนี้มาเป็น 100 ปี เราเพิ่งกำหนดวันที่ 13-15 เม.ย. มาไม่ถึง 30 ปี ก่อนหน้านี้ก็หยุดวันที่ 13 เม.ย. วันเดียว แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจจึงเพิ่มมาหยุดเป็น 3 วันในยุคหลัง ซึ่งวันหยุดทั้ง 3 วัน เราถูกใส่โปรแกรมจนมีความรู้สึกว่าทุกวัน คือ วันหยุดไปเที่ยวได้หมด ต่างจากตรุษจีนที่ 3 วันนั้นมีระบบชัดเจน วันที่ 1 จ่าย วันที่ 2 ไหว้ วันที่ 3 เที่ยว ทั้งนี้ การออกมาห้ามขายแสดงว่า ต้องมีอะไรผิดปกติ ซึ่งทุกวันนี้น่าห่วง เพราะสงกรานต์ทั้งประเทศมีคนรณรงค์ 2 แสนคน ซึ่งเยอะมากแต่ไม่เท่ากับกิจกรรมการตลาดธุรกิจแอลกอฮอล์ ที่กระจายทุกพื้นที่ หลายพันจุด อีกทั้งลานเบียร์ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่หน้าห้างเท่านั้น พื้นที่ตรงไหนที่เป้นที่ว่างก็เข้าไปจัดกิจกรรมทั้งหมด จึงเป็นจุดที่ต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งย้ำว่า การออกมาตรการนี้ เป็นการปกป้องสิทธิคนไม่ดื่ม ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 66% โดยงานปลอดเหล้าจะช่วยลดอุบัติเหตุ ตาย ทะเลาะวิวาท ไม่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง โดยเจ้าหน้าที่ยังเห็นว่า ทำให้ภาระงานน้อยลงและงานราบรื่นขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น