xs
xsm
sm
md
lg

พม.เล็งเสนอ ครม.ขยายเวลาเงินอุดหนุนเด็กจาก 3 ปี เป็น 6 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พม.เตรียมเสนอ ครม.ขยายเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี ขยายเป็น 6 ปี วงเงิน 600 บาทต่อคน ในปีงบประมาณ 2562

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จัดประชุมเพื่อพิจารณาการขยายฐานรายได้ของกลุ่มเป้าหมายการรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุม

ดร.สมคิด เปิดเผยหลังการประชุมว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายสำคัญระดับชาติตามแผนบูรณาการการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งเป็นการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) โดยจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนให้กับเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน หรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน รวมทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นมาตรการให้บิดา มารดา นำเด็กเข้าสู่ระบบบริการของรัฐ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการสมวัย รวมทั้งเป็นหลักประกันให้เด็กได้รับสิทธิด้านการอยู่รอดและการพัฒนาตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564)

ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 1 แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) เน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนต่อเด็กต่อเนื่อง โดยให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่เกิดระหว่าง 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559 รายละ 400 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งมีผู้ได้รับเงิน จำนวน 90,216 คน

ส่วนการดำเนินงานในระยะที่ 2 แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) ได้เน้นการพัฒนาเด็กทุกช่วงวัย และมีตัวชี้วัดที่เห็นความสำเร็จในการส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองเด็กอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการสร้างระบบคุ้มครอง โดยเพิ่มวงเงินจาก 400 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อเดือน และขยายเวลาเพิ่มจาก 1 ปี เป็น 3 ปี ซึ่งมีผู้ที่ได้รับเงิน จำนวน 518,174 คน

ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติเห็นชอบการขยายช่วงอายุของเด็กแรกเกิดจาก 3 ปี เป็น 6 ปี เพื่อให้ได้รับสวัสดิการตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำรายละเอียดข้อมูลกับทางสำนักงบประมาณ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ กระทรวง พม. ได้เสนอที่ประชุมพิจารณาการขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่แรกเกิด 0-6 ปี แบบขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 โดยให้กลุ่มเป้าหมายเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

“ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานในระยะที่ 3 ให้ขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่แรกเกิด 0-6 ปี แบบขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ตามฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ได้รับเงินจำนวน 1,443,496 คน อย่างไรก็ตาม จะมีการศึกษาข้อมูลต่างๆคู่ขนานไปกับการดำเนินงานในระยะที่ 4 เพื่อให้เด็กได้รับเงินที่เหมาะสมและทั่วถึง โดยจะนำมติจากที่ประชุมในครั้งนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” ดร.สมคิด กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น