กรมการแพทย์ เตรียมหลักสูตรอบรม “หมอ-เภสัชกร” ใช้ “กัญชา” ดูแลผู้ป่วยแล้ว คาด มี.ค.อบรมได้เป็นครั้งแรก เผยอยู่ระหว่างหาวันและสถานที่ ระบุหลักสูตรใช้เวลา 2 วัน ประสาน อย.ตั้งโต๊ะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพใช้กัญชาดูแลผู้ป่วยหลังอบรมเสร็จ ตั้งเป้าอบรมทุกเดือน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการใช้กัญชาทางการแพทย์ ว่าขณะนี้ได้จัดเตรียมหลักสูตรเอาไว้แล้ว คาดว่าจะเริ่มจัดอบรมครั้งแรกได้ในเดือน มี.ค. 2562 โดยอยู่ระหว่างการประมาณการณ์ว่า จะมีผู้มาอบรมมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการหาวันและสถานที่ในการอบรม ซึ่งการอบรมครั้งแรกน่าจะเป็นในส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือนนทบุรี และตั้งเป้าว่าจะมีการจัดอบรมทุกเดือน เนื่องจากคิดว่าในช่วง 3-6 เดือนแรกนี้ คงมีคนต้องการเข้ามาเทรนหรืออบรมพอสมควร ทั้งนี้ ย้ำว่า การอบรมของกรมการแพทย์นั้นจะเป็นในส่วนของแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกร ไม่รวมกลุ่มแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกดำเนินการ
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรในการอบรมจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน โดยหลังจากอบรมเสร็จในวันที่ 2 จะมีการประสานทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการมาจัดโต๊ะขึ้นทะเบียนทันทีว่าผ่านการอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ใช้กัญชาในการดูแลผู้ป่วยได้ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาอบรม
“การอบรมทั้งแพทย์และเภสัชกร เนื่องจากแพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยและเริ่มใช้ยา ส่วนเภสัชกรจะเป็นคนช่วยจ่ายยา คุมทะเบียนยา อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าการจะใช้ยาจากกัญชาในการดูแลผู้ป่วย จะต้องมีการขึ้นทะเบียนทั้งสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษา และเภสัชกรที่จะจ่ายยา โดยหลักการคือ คนไข้ปลอดภัย หรือ Do No Harm เป็นประโยชน์คนไข้ ต้องมีหลักฐานได้ประโยชน์หรือน่าจะได้ประโยชน์” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการใช้ประโยชน์จากกัญชาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกมีประโยชน์และผลการวิจัยในการรักษาโรคชัดเจน กลุ่มที่ 2 คือ น่าจะได้ประโยชน์ เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ป่วย เช่น โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่จะต้องมีการวิจัย เช่น มะเร็ง ทั้งนี้ แพทย์ที่ผ่านการอบรมจะใช้กัญชาดูแลผู้ป่วยได้ทั้งในกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง แต่การจะใช้กัญชานั้นจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยก่อน อย่างกลุ่มแรก คือ มีหลักฐานการวิจัยยืนยันได้ ผู้ป่วยวางใจได้ ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็ต้องสื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า แค่น่าจะมีประโยชน์ การรักษาก็ต้องดูประสิทธิภาพ ดูผลข้างเคียง และเก็บข้อมูลมากขึ้นกว่ากลุ่มแรก