ส่องยุคสมัยและแหล่งที่มา “โบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุ” 104 รายการ ที่รับมอบคืนจาก ปชช. พบมีทั้งแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ภาคกลาง ราว 2,500 ปี กลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง เก่าสุดสมัยดินเผาตอนต้นกว่า 4,300 ปี และแหล่งลุ่มแม่น้ำมูลยุคก่อนประวัติศาสตร์ กรมศิลป์เตรียมตรวจสภาพ พร้อมอนุรักษ์เก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
นายกฯ รับมอบวัตถุโบราณ 4,000 ปี ฝากอย่าลืมรากเหง้า-คนให้ร้ายประเทศอันตรายที่สุด
วันนี้ (22 ก.พ.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงการรับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากนายธรรมฤทธิ์ จิรา ผู้ครอบครองโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ จำนวน 104 รายการ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับมอบ ว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มรดกอันล้ำค่าของชาติ จึงมีนโยบายในการติดตามหรือขอคืนโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในต่างประเทศให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติ โดยช่วงที่ผ่านมาได้รับคืนโบราณวัตถุของไทยจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย จำนวน 8 ครั้ง รวม 751 รายการ และเมื่อ ธ.ค. 2561 วธ.ได้รับการติดต่อจากนายธรรมฤทธิ์ ว่า มีความประสงค์จะส่งมอบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง อายุราว 1,800-5,000 ปี จำนวน 104 รายการ ไว้เพื่อเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนแสดงเจตจำนงจะมอบโบราณวัตถุอันทรงคุณค่า จำนวนมากให้กับราชการ
สำหรับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่นายธรรมฤทธิ์ มอบให้เป็นสมบัติของชาติ มีทั้งโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 1,800-4,300 ปีมาแล้ว ประกอบด้วย เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้สำริด เครื่องประดับทำด้วยหิน แก้ว และเปลือกหอย บางชิ้นได้รับการซ่อมแซมต่อเติมให้มีสภาพสมบูรณ์ และมีวัตถุจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นศิลปวัตถุทำขึ้นเลียนแบบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 104 รายการ แบ่งเป็น
กลุ่มโบราณวัตถุ แบ่งตามอายุสมัยตามแหล่งที่มา ดังนี้
1.กลุ่มโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคกลาง หลักฐานประเภทภาชนะดินเผาที่พบ ที่มีลักษณะโดดเด่น คือ ภาชนะดินเผาทรงก้นกลม คอคอด ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่มีฐานเตี้ย และไม่มีฐาน ภาชนะดินเผาที่มีลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมนี้ น่าจะได้แก่ภาชนะดินเผาทรงพานสูง และทรงบาตร นิยมตกแต่งผิวภาชนะด้วยการทาน้ำดินสีแดง กดประทับด้วยลายเชือกทาบ หรือขูดขีดด้วยเครื่องมือปลายแหลม มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย อำเภอบ้านหมี่ จังหวดลพบุรี กำหนดอายุราว 1,500-2,500 ปีมาแล้ว
2.กลุ่มวัฒนธรรมลุ่มน้ำสงครามหรือกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี สกลนคร และหนองคาย หรือกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ภาชนะดินเผาในกลุ่มนี้มีรูปทรงที่หลากหลาย และสามารถจำแนกลักษณะออกเป็น 3 ยุค ได้แก่
1) ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุระหว่าง 3,000-4,300 ปีมาแล้ว เป็นภาชนะดินเผาสีดำหรือเทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ย ตัวภาชนะมักจะตกแต่งด้วยลายขีดเขียนเป็นเส้นคดโค้ง ลายเชือกทาบ และลายกดประทับ
2) ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ 2,300-3,000 ปี ลักษณะเด่น คือ มีขนาดใหญ่ ผิวนอกเป็นสีขาว ไหล่ภาชนะหักเป็นมุม มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนหรือทา ด้วยน้ำดินสีแดง
3) ภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ 1,800-2,300 ปี นิยมเขียนลายและตกแต่งภาชนะด้วยสีแดง เป็นลวดลายที่สื่อถึงความหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ อาทิ ลายงู ลายก้นหอย และลายรูปสัตว์ เป็นต้น โบราณวัตถุกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่นายธรรมฤทธิ์ จิรา มอบในครั้งนี้ ยังประกอบไปด้วย เครื่องมือเครื่องใช้โลหะ ซึ่งบ่งบอกถึงการสร้างสรรค์งานโลหะกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้แก่ เครื่องประดับสำริด
3.โบราณวัตถุกลุ่มแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำมูล ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล พบวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปทรงหลากหลาย ที่โดดเด่นคือแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี ภาชนะดินเผากลุ่มนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีเนื้อดินสีส้ม การตกแต่งด้วยการขูดขีดที่บริเวณขอบปาก วัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องประดับ เครื่องใช้สอยสำริด พบว่าเทคนิคการผลิตเพื่อใช้หล่อสำริดมีฝีมือประณีต ซับซ้อน มีเทคนิคและลวดลายกับเครื่องสำริดในคล้ายกับวัฒนธรรมดองเซิน ประเทศเวียดนาม กำหนดอายุสมัยอยู่ในราว 1,500-2,500 ปีมาแล้ว
“ภาชนะดินเผาและวัตถุทางโบราณดีต่างๆ เหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการใช้ศึกษาวิเคราะห์ถึงวิถีชีวิตมนุษย์สมัยโบราณในแง่มุมต่างๆ ได้ อาทิ พฤติกรรมด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ศิลปะ และสังคม เป็นหลักฐานในการจัดลำดับอายุสมัย และบ่งบอกช่วงเวลาของวัฒนธรรมและชุมชนในแหล่งโบราณคดีนั้นๆ เป็นหลักฐานในการคำนวณความหนาแน่นของประชากร” นายวีระ กล่าว
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า โบราณวัตถุที่ได้รับมอบในครั้งนี้จะถูกนำไปตรวจสภาพ และทำการอนุรักษ์เบื้องต้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ จากนั้นจึงจะนำไปเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อสำหรับนำไปศึกษา หรือนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในแหล่งโบราณคดีนั้นๆ ต่อไป