xs
xsm
sm
md
lg

ส่องความคิด "ชุดาภา จันทเขตต์" ทำละครทองเอก หมอยาท่าโฉลง เชิดชู "ยาไทย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในงานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 16 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพร นวดไทย อนาคตไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 -10 มี.ค. 2562 ที่อิมแพคเมืองทองธานี ภายในงานได้มีการมอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้จัดละคร "ทองเอก หมอยาท่าโฉลง" นำโดย ชุดาภา จันทเขตต์ ผู้จัดและผู้กำกับละครเรื่องดังกล่าว ก้อง-ปิยะ เศวตพิกุล ผู้จัดละคร และ รอง เค้ามูลคดี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ที่แสดงเป็นพ่อหมอทองอิน ซึ่งได้สื่อสารให้คนไทยรับรู้การดูแลสุขภาพตามวิถีชีวิตคนไทยโบราณ การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ความเป็นหมอยาไทย เป็นการร่วมอนุรักษ์และเชิดชูภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

ชุ-ชุดาภา จันทเขตต์ ผู้จัดละครทองเอก หมอยาท่าโฉลง ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับโล่เชิดชูเกียรติ ว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ยาไทย ศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่มีมาเป็นพันๆ ปี ซึ่งเรื่องนี้เราพยายามเต็มที่มาก ทั้งคนเขียนบท นักแสดงก็เต็มที่ โดยหัวใจของงานนี้ทำเพื่อเชิดชูยาไทย หมอยาไทย สำหรับโรคและวิธีการรักษาต่างๆ ในเรื่อง เรามีการค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก โดยเฉพาะคนเขียนบท เราไปหาตำรับตำรายาต่างๆ จำนวนมาก หลากหลายสถานที่ เช่น จากวัดโพธิ์ด้วย รวมถึงอาจารย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา แพทย์แผนไทย และที่ปรึกษากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็มาเป็นที่ปรึกษาให้เราด้วย พอเขียนบทมาแล้ว เป็นโรคนี้รักษาตำรับนี้ ก็จะให้ อาจารย์คมสันตรวจอีกทีหนึ่ง แล้วแต่ละโรครักษาอย่างไร วิธีการขั้นตอนเป็นอย่างไร

"รู้สึกดีใจ ภูมิใจสิ่งที่เราทำความมุ่งหวังเราเพื่อสนับสนุนตรงนี้ เมื่อได้รับการสนับสนุนกลับมาก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจ เป็นพลังบวกในการทำงานลักษณะนี้ต่อไป"

มีวิธีเลือกโรคมาลงละครอย่างไรให้ตรงพล็อต

"การเลือกโรค วิธีคิด คือ คนดูแล้วรู้สึกว่าเข้าใจเลย อย่างปวดหัว ปวดท้อง เป็นหวัด หรือการติดเชื้อ อิสุกอิใส เป็นต้น รวมถึงเลือกโรคที่รักษายาก เกิดอาการแพ้แล้วหาสาเหตุไม่ได้ รักษาไม่หาย อย่างชื่อโบราณ โรคปานดำกับโรคอิดำ ที่ขึ้นตามตัว การรักษาก็มีแยกย่อยละเอียดมาก วิธีการรักษาแต่ละขั้นตอน บางทีอาการใกล้เคียงกันแต่การรักษาไม่เหมือนกัน รักษาผิดไปไม่หาย หมอต้องแยกโรคให้ออก มีทั้งโรคง่ายๆ และยากๆ ผสมกันไป โดยจะต้องเป็นโรคที่วิธีการรักษาไม่ได้เอาไปทำตามได้ง่ายจนเกินไปนัก การเป็นหมอยานั้นไม่ง่ายเลย หากมีอาการก็ไปร้านยาหรือหาหมอแผนไทย เพื่อรักษาจะดีกว่า"

แรงบันดาลใจในการทำละครทองเอก หมอยาท่าโฉลง

"แรงบันดาลใจเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นคนสนใจสมุนไพรไทย และติดตาม "หมอสมหมาย" แห่งสิงห์บุรี คุณหมอแผนปัจจุบัน ที่ไปศึกษาเรื่องสมุนไพรไทย แล้วตอนนั้นเป้นภูมิแพ้หนักมาก พอไปรักษาด้วยยาสมุนไพรก็หายเลย เรารู้สึกว่า ถ้าสมุนไพรไทยกับโรค และโบราณมีมาอย่างยาวนาน ถ้าเรามาทำละคร ยังไม่มีใครมาเจาะลึกเรื่องพวกนี้เลย ถ้านำเสนอออกมาน่าจะเป็นอะไรที่เหมาะสมกับคนไทย กับภูมิปัญญาไทย มรดกของไทย คิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะทำมาก ก็เลยตัดสินใจที่จะทำ ส่วนที่ยึดในความเป็นพีเรียดก็เพราะว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่การรักษาด้วยวิธีไทย หมอไทย ยังคึกคักก่อนจะปรับแผนมาเป็นปัจจุบัน ตอนนี้สมุนไพรไทย หมอยาไทยกลับมา ฟื้นมาในช่วงปีหลังๆ มานี้ ก็เลยอยากให้คงอยู่ตลอดไป"

ทำอย่างไรให้ภูมิปัญญา "ยาสมุนไพร" ยังคงอยู่

"ตรงนี้เป็นเรื่องของมรดกของเรา พี่ว่ามันคงอยู่ เพียงต้องรื้อฟื้นออกมาให้ทำความเข้าใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ เราพัฒนาไปจนถึงการมีตำรับยา ไม่ใช่พืชชนิดหนึ่งรักษาอะไร แต่คือตำรับที่พืชหลายๆ ตัวมารวมกันแล้วรักษาได้ผล เพราะฉะนั้น เราพัฒนาไปเป็นพันปีจนเรามีตำรับแล้ว เพียงแค่รื้อฟื้นตรงนี้ขึ้นมา ไม่ให้สูญหาย มันได้ผลกับกดารรักษา พัฒนาต่อเนื่องต่อยอดไปเรื่อยๆ เอาตำรับยาต่างๆ มาวิจัยเรื่อยๆ ถ่ายทอดให้ประชาชนเรื่อยๆ คิดว่ายังคงอยู่"

ละครอาจทำให้คนอยากเป็นหมอยาเพิ่มขึ้น

"ถ้ามีส่วนเราก็ดีใจ เพราะตอนที่ทำ เราก็ทำในลักษณะเชิดชูสมุนไพรไทย ครูบาอาจารย์หมอยาไทย แต่ถ้ามีส่วนให้นักเรียนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ หันมาสนใจยาไทย การเรียนแพทย์แผนไทย เราก็ดีใจ เพราะการเรียนไม่ง่าย บอกเลยว่ายากมาก จากที่เราไปศึกษา ยิ่งค้นยิ่งลึก ยิ่งค้นยิ่งยาก แล้วทุกอย่างประสานสอดแทรกกันไปหมดเลย"

คิดอย่างไรกับการที่ภาครัฐหันมาสนับสนุนสมุนไพรไทย

"การที่ภาครัฐหันมาสนับสนุนสมุนไพรไทย ยาไทย ก็รู้สึกดีใจ เพราะอย่างยาไทยก็ขึ้นทะเบียนเป็นยาที่จ่ายในโรงพยาบาลหลายชนิดแล้ว อย่างฟ้าทะลายโจร และทยอยออกมาเรื่อยๆ แล้วการกินยาสมุนไพรไทยเรารู้สึกสบายใจ เพราะที่ออกมาเป้นตำรับวางจำหน่ายแล้ว มีความปลอดภัย ไม่มีผลกับร่างกาย และรู้สึกว่าสมุนไพรไทยเหมือนเป็นวิตามินบำรุงให้ร่างกายแข็งแรง เรามองว่ามันดีมาก และอยากให้คนไทยกระตือรือร้นเรื่องนี้ เพราะจริงๆ เป็นผลดีกับประเทศไทยมาก ถ้าสามารถผลิตยาจากสมุนไพรไทยและส่งออกได้ อาจในรูปแบบวิตามิน เป็นทางเลือก ต่างประเทศก็มีการณรงค์ใช้ยาสมุนไพรกัน แล้วเมืองไทยเรามีมาแต่โบราณ มีมาเป็นพันๆ ปี มีตัรบมีทุกอย่าง ก็รู้สึกเป็นไปได้ที่จะไปถึงขั้นนั้น"



กำลังโหลดความคิดเห็น