xs
xsm
sm
md
lg

รับฟังร่าง กม.นิรโทษครอบครอง “กัญชา” เสนอออกมาตรการช่วงเปลี่ยนผ่านระบบ ลดผู้ป่วยขาดยา กลุ่มใต้ดินผลิตต่อได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อย.จัดรับฟังความเห็นร่าง กม.นิรโทษกรรมครอบครองกัญชา นักวิชาการห่วงหลังพ้น 90 วัน ผู้ป่วยไม่มียากัญชาใช้ต่อเนื่อง เหตุระบบใหม่ยังไม่พร้อม ชมรมจิตอาสาผลิตยากัญชาเพิ่มไม่ได้ ทำผู้ป่วยไม่มาขึ้นทะเบียน เสนอตั้งองค์กรคุมมาตรฐานการผลิตกลุ่มใต้ดิน ช่วงรอเปลี่ยนผ่านระบบใหม่ หรือเขียนกฎเพิ่มเติมให้ปลูกได้ เลขาธิการ อย.แจงบริษัทต่างชาติแจ้งครอบครองกัญชา เข้าข่ายบุคคลอื่น ต้องยึดของกลาง ยันปริมาณครอบครองกัญชาของผ้ป่วย ใช้เกิน 90 วันได้

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแบบเฉพาะกลุ่ม (โฟกัสกรุ๊ป) ต่อร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชา หากมาแจ้งภายใน 90 วันหลัง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 บังคับใช้ไม่ต้องรับโทษ โดยมีผู้เกี่ยวข้องร่วมให้ความคิดเห็น เช่น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ

นพ.ธเรศกล่าวว่า อย.จัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชา 3 ฉบับ คือ ฉบับกลุ่มองค์กร นักวิจัย แพทย์แผนไทย แผนปัจจุบัน ฉบับกลุ่มผู้ป่วย และฉบับกลุ่มบุคคลอื่นๆ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องต่างๆ บรรยากาศผ่านไปด้วยดี เพราะเสนอความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ว่าจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านมาสู่ พ.ร.บ.ใหม่ และการบังคับใช้ผ่านไปด้วยดี ก่อประโยชน์ทั้งผู้ป่วย ประเทศชาติ และระบบการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งการรับฟังความเห็นมีเรื่องข้อห่วงใยต่อผู้ป่วยที่จะไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง และระบบการพัฒนาคตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิต ควบคุม อุปสงค์อุปทานให้เพียงพอต่อการเปลี่ยนผ่าน จนกว่าการพัฒนากัญชาทางการแพทย์จะสมบูรณ์ ข้อเสนอการพัฒนาบุคลากร ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่จะมาดูแลผู้ป่วยต่อไปให้มีคุณภาพมาตรฐาน และส่วนบุคคลจิตอาสาซึ่งพยายามช่วยกันดูว่ากลุ่มนี้มีเจตนาดีจะสามารถเข้าสู่ระบบได้อย่างไร

นพ.ธเรศกล่าวว่า วันที่ 22 ก.พ. จะมีการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เพื่อพิจารณาร่างประกาศฯ เรื่องนริรโทษ และช่วงบ่ายจะมีการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กฎหมายลูกดังกล่าว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเก็บของกลางเพื่อทำลายต่อไป แต่หากส่วนไหนไม่พร้อมสามารถส่งมายัง อย. ส่วนกลางจะมีคลังเก็บให้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแจ้งครอบครองกัญชาของบริษัทต่างชาติที่เคยยื่นขอจดสิทธิบัตรทำได้หรือไม่ เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า กลุ่มบุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรมจะมีกลุ่มตาม ม.26/5 ซึ่งอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ แพทย์แผนไทยแผนปัจจุบัน มหาวิทยาลัย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่เข้าตามข้อยกเว้นตามประกาศที่ 1 แต่จะเข้าในข้อยกเว้นประกาศที่ 3 แต่กลุ่มนี้เมื่อมาแจ้งตามกฎหมายต้องยึดของกลาง ดังนั้น ในระบบไม่ได้ออกแบบเอื้อให้กับกลุ่มนี้ ดังนั้น บริษัทต่างชาติที่เคยมาขอจดสิทธิบัตรก็ไม่น่าจะเข้าข่ายทั้งหมด

เมื่อถามว่าหลังนิรโทษกรรม 90 วัน ผู้ป่วยจะมีกัญชาใช้หรือไม่ และจะมีแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทยที่สามารถวินิจฉัยการรักษาด้วยกัญชาได้จริงหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ได้เสนอเรื่องนี้ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง รมว.สาธารณสุขได้สั่งการให้กรมการแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และแพทย์แผนไทยมารองรับตรงนี้ให้ทัน ซึ่งหลักสูตรทางกรมที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมอยู่แล้ว และการอบรมก็ไม่ได้ยาว คือ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ แต่ขอย้ำว่า ในประกาศที่ 2 เกี่ยวกับผู้ป่วยเขียนชัดแล้วว่า หากมีความจำเป็นจนกว่าจะได้รับการรักษาจากแพทย์ ปริมาณกัญชาที่ครอบครองอาจใช้เกิน 90 วันได้ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ

ด้าน ผศ.ภญ.นิยดากล่าวว่า ดีใจที่ อย.ได้รีบออกกฎหมายลูกมาซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับใหม่ แต่ก็มีรายละเอียดที่รู้สึกเป็นห่วงและยังไม่ครบถ้วน อย่างกรณีสิทธิบัตร ในประกาศนิรโทษกรรม 3 ฉบับจะมีส่วนไหนที่สามารถกำหนดว่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรจะไม่เข้ามาสู่การนิรโทษกรรม เพราะกังวลว่าจะเป็นการเปิดช่องให้บริษัทต่างชาติหรือไม่ เนื่องจากประเด็นการยื่นขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าว่า สรุปได้ยกเลิกไปแล้ว และบริษัทพวกนี้จะมีการอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

นายปานเทพกล่าวว่า ประเด็นการนิรโทษให้ผู้ครอบครองและผู้ป่วยที่แอบใช้ใต้ดิน ให้สามารถกลับมาอยู่บนดิน เข้าสู่ระบบ และใช้ต่อเนื่องจากอาการเจ็บป่วยของตัวเอง แต่ทั้งหมดต้องขออนุญาตภายใน 90 วัน โจทย์สำคัญ คือ 90 วันผู้ป่วยจะถูกกำหนดในเรื่องข้อบ่งใช้ เป็นข้อจำกัดมากน้อยแค่ไหน หากไม่ทำให้ชัดเจน ผู้ป่วยอาจไม่กล้ามาขึ้นทะเบียน สุดท้ายก็ลงใต้ดินอีก หรือข้อบ่งชี้หรือข้อบ่งใช้มีข้อจำกัดมากเกินไป จนใช้มากเกินกว่านั้นเยอะ ก็จะทำให้ไม่มาลงทะเบียนเช่นกัน จึงต้องเปิดกว้างในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ทราบว่าองค์ความรู้และข้อมูลมากที่สุด ว่าบุคคลเหล่านี้ใช้อยู่ที่ไหน และคงสิทธิในการดูแลตนเองต่อไป

นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนเรื่องการครอบครองและการใช้ใน 90 วัน คำถามคือ หากภาครัฐผลิตไม่ได้หลังจาก 90 วันจะทำอย่างไร ทั้งเรื่องคุณภาพ ปริมาณการใช้ หากไม่เพียงพอจะทำอย่างไร ก็จะเกิดข้อวิตกว่า ใช้ได้ตามปริมาณสต๊อกที่มีอยู่จะทำอย่างไรหลัง 90 วัน และผู้ผลิตที่ผลิตให้ผู้ป่วยจะกล้ามาลงทะเบียนหรือไม่ ถ้าใช้ได้แค่สต๊อกที่มีอยู่ เพราะถ้าเริ่มปลูกใหม่ต้องขออนุญาตภายใจ้ร่วมกับรัฐ วิสาหกิจชุมชนเท่านั้น ซึ่งกฎกระทรวงก็ไม่ชัดเจนว่า จะมีอะไรรองรับใน 90 วันจริงหรือไม่ จะทันใน 90 วันหรือไม่ ถ้าไม่สอดคล้องวิถีชีวิตจะเกิดปัญหาท้ายสุดในการปฏิบัติ รวมถึงถ้าผู้ป่วยไม่ได้ใช้จริง หรือวิตกว่าจะไม่ได้ใช้ในอนาคต จะมีการผลิตทันหรือไม่ โครงสร้างอนุญาตเร็วหรือไม่ คล่องตัวจริงหรือไม่ คือ เป้นห่วงเรื่องห่วงโซ่และความต่อเนื่องในการใช้ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายในการนิรโทษ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ที่กังวลคือ ชมรมใต้ดินซึ่งตนขอเรียกว่าชมรมกลุ่มคนจิตอาสาที่ปลูกกัญชาและให้ผู้ป่วยใช้นั้น หากจะให้พวกเขามาขึ้นทะเบียนก็ต้องผ่อนคลายข้อกฎหมายในการขึ้นทะเบียนเพื่อให้พวกเขาสามารถปลูกได้อีกครั้ง เพราะหากไม่ทำ จากการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ไม่มีทางเปิดช่องให้พวกเขาแน่นอน ดังนั้น อย.ควรมีการผ่อนคลายข้อกฎหมาย อาจเขียนเพิ่มเติม หรือมาตราใดมาตราหนึ่งในร่างกฎกระทรวง เพื่อให้พวกเขาสามารถปลูกได้เช่นเดิม และเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ต้องรวมกลุ่ม เพียงแต่ต้องมีการควบคุม มีการขึ้นทะเบียนกับทางสภาเกษตรกร และให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดูแล

ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ และอนุบัญญัติต่างๆ เป็นเพียงกฎระเบียบ แต่สิ่งที่พวกเราอยากได้ คือ ขั้นตอน กระบวนการ และองค์กรที่จะมาดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ นำไปสู่การใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ออกมา โดยต้องดูสถานการณ์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และต้องทำให้ทันใน 90 วันของการนิรโทษ มิเช่นนั้นห่วงโซ่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชา ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีอยู่แล้วในใต้ดินที่จะนำมาใช้ก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ คนไข้ก็จะขาดตอนในการรักษาระหว่างรอระบบใหม่

ภก.อนันต์ชัยกล่าวว่า มาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ การกำกับดูแลไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายอย่างเดียว อาจเป็นกลไกการสนับสนุนที่ต้องร่วมมือกันในทุกๆ ฝ่าย ภายใต้กรอบกฎหมาย ยกตัวอย่าง มีองค์กรหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้ผลิตใต้ดินขึ้นมาอยู่ร่วมกัน แล้วตรวจวิเคราะห์ดูว่าสิ่งที่ผลิตมาได้มาตรฐานหรือไม่ ถ้าได้มาตรฐานก็ใช้ในคนไข้ต่อไปได้ ระหว่างรอเข้าสู่ระบบใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดกรอบกฎหมาย ซึ่งควรจะต้องเร่งสร้างใน 90 วันให้ทัน เพราะ พ.ร.บ.ออกมาบังคับใช้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น