ประธาน กมว. เผยกฤษฎีกา เห็นตรงกันโละชื่อตำแหน่ง “ผอ.โรงเรียน” ให้ใช้ “ครูใหญ่” ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ ให้เห็นภาพทำงานชัดเจน ชี้ยังเป็นข้อเสนอต้องถามความเห็นและเสนอ ครม. และให้คุรุสภาออกใบรับรองความเป็นครู แทนใบอนุญาตฯ จ่อยกเลิกใบอนุญาตฯศึกษานิเทศก์
วันนี้ (20 ก.พ.) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งมีข้อเสนอที่หลากหลาย ทั้งเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ที่จะมีการปรับเปลี่ยน จากเดิมที่ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มีหน้าที่ออก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” มาเป็นให้คุรุสภาออก “ใบรับรองความเป็นครู” เพื่อให้ชัดเจนว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง จะออกให้เฉพาะครูและผู้บริหารสถานศึกษา และเตรียมจะยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ เพราะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอนโดยตรง
ประธาน กมว. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นตรงกันว่าให้กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงเรียน” มาเป็น “ครูใหญ่” ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษา เพื่อให้การทำงานมีความชัดเจน โดยจะใช้ชื่อตำแหน่งครูใหญ่ กับสถานศึกษาทุกขนาด อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอจะต้องได้รับความเห็นขอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
“ในอดีตชื่อตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน ถูกเปลี่ยนในช่วงที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ประกาศใช้แรกๆ จากเดิมชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาจะแบ่งตามขนาดโรงเรียน ดังนี้ โรงเรียนขนาดใหญ่ ใช้คำว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน ขนาดกลาง ใช้คำว่า อาจารย์ใหญ่ และโรงเรียนขนาดเล็ก ใช้คำว่า ครูใหญ่ ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาในขณะนั้นมองว่า การกำหนดชื่อตำแหน่งตามขนาดโรงเรียน ทำให้เกิดการแบ่งแยก ทั้งที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาเช่นเดียวกัน จึงขอให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน เหมือนกันทุกขนาด แต่การกำหนดชื่อตำแหน่งเช่นนี้ในประเทศต่างๆ ไม่ใช้กัน เพราะทำให้ไม่กำหนดบทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจน” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการคุรุสภาเห็นชอบให้ยกเลิกใบอนุญาตฯสำหรับครูอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในส่วนของครูช่าง หรือครูวิชาชีพ ขณะนี้ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยอื่นๆ เกิดความกังวลว่า จะได้ครูช่างที่ไม่มีคุณภาพ เพราะให้ใครก็ได้มาเป็นครู ทั้งนี้ เข้าใจว่า ทางมหาวิทยาลัยเอง อาจมองว่า การเรียนในคณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรม จะถูกลดความสำคัญลง ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยอนาคตผู้ที่จบสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม สามารถไปเพิ่มในส่วนของค่าตอบแทนได้ โดยตนจะทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยต่างๆ วันที่ 22 ก.พ.นี้ คาดว่า จะออกประกาศให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ มาเป็นครูช่างได้ภายในเดือนมีนาคมนี้