xs
xsm
sm
md
lg

วงจรอุบาทว์ “ยาสมุนไพร” ซื้อราคาถูก คุณภาพแย่ ตลาดไม่โต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ราคา” มักเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ยิ่งพบเห็นของราคาถูกยิ่งน่าสนใจ และเผลอไผลซื้อมาได้อย่างง่ายดาย แต่กับสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่าง “ยาสมุนไพร” สิ่งที่ต้องหยิบมาพิจารณาเป็นอย่างแรกในการเลือกซื้อ คือ “คุณภาพ”

แล้ว “คุณภาพ” ของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ทั้งในกลุ่มยาและอาหารควรดูจากอะไร



ภก.สุวิทย์ ธีรกุลชน ผู้อำนวยการ บริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ จะต้องผ่านการควบคุมมาตรฐานใน 5 ขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำดังนี้

1.การเพาะปลูกสมุนไพร

สิ่งสำคัญอย่างแรก คือ สายพันธุ์ของสมุนไพร ซึ่งส่งผลต่อปริมาณสารออกฤทธิ์ ยกตัวอย่าง ขมิ้นชัน เดิมเชื่อว่า ขมิ้นชันสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี มีสารออกฤทธิ์มากที่สุดในโลก แต่จากการพัฒนาสายพันธุ์โดย ผศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนได้ขมิ้นชันสายพันธุ์ที่ดีที่สุดและให้สารออกฤทธิ์มากที่สุดในชื่อ “แดงสยาม” ปรากฏว่า ปริมาณสารออกฤทธิ์ต่างกัน โดยมากกว่าถึง 20 เท่า

นอกจากสายพันธุ์ที่ดีแล้ว กระบวนการเพาะปลูกก็สำคัญ โดยขั้นต่ำของการเพาะปลูกต้องผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP มีการสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกสมุนไพรตามหลักเกษตรอินทรีย์หรือแบบออแกนิก เพราะหากไม่เพาะปลูกด้วยวิธีการเช่นนี้ ก็มีโอกาสที่สมุนไพรที่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีโอกาสปนเปื้อนและรับสารพิษสูง ทั้งการปนเปื้อนตั้งแต่ในน้ำ ในดิน ยาฆ่าแมลง ไปจนถึงสารโลหะหนักต่างๆ

ขณะที่การเก็บเกี่ยวก็ต้องดีและวิธีการถูกต้องด้วย เช่น ฟ้าทะลายโจร สิ่งที่เราใช้ คือ ใบ แต่หากต้นออกดอก สาระสำคัญในใบจะหายไปครึ่งหนึ่ง และจะต้องเก็บเกี่ยวให้ถูกส่วน ซึ่งหากเก็บส่วนกิ่งมาด้วย จะมีสารทำลายตับก็จะต้องเอาออก เป็นต้น

“บริษัทได้มีการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ผ่านโครงการ Contract Farming โดยมีการพิจารณาว่า พื้นที่ไหนที่มีความเหมาะสม แล้วเข้าไปพูดคุยรวบรวมเป็นกลุ่มเกษตรกรส่งเสริมการปลูกสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีการแจกสายพันธุ์ แนะนำวิธีการเก็บเกี่ยว ซึ่งเราดำเนินการวิธีเช่นนี้มาได้ประมาณ 2 ปี ทั้งในส่วนของขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร พุทธรักษา และมะหาด” ภก.สุวิทย์ กล่าว

2.ห้องปฏิบัติการที่ดี โดยต้องมีการควบคุมคุณภาพสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อควบคุมปริมาณสารสำคัญให้ได้ตามมาตรฐาน ถูกต้อง แม่นยำ เช่น สมุนไพรนี้ใช้สายพันธุ์นี้ สาระสำคัญจะต้องได้ตามที่ต้องการ

3.การวิจัยทางคลินิกที่ดี คือ การเลือกสมุนไพรมาผลิต ไม่ใช่แค่มีข้อมูลว่า กินสมุนไพรตัวนี้แล้วดี แต่จะต้องมีผลการทดลอง ผลการวิจัยที่ชัดเจนว่า จะต้องใช้ปริมาณมากน้อยแค่ไหน เท่าไร อย่างไร จึงจะได้ผลดี เพื่อดำเนินการผลิตได้อย่างถูกต้อง

4.มาตรฐานการผลิตที่ดี การผลิตจะต้องได้รับมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือ GMP ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตยาแผนโบราณ และโรงงานผลิตอาหารจากสมุนไพร โดยจะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และได้คุณสมบัติที่ดีของผลิตภัณฑ์ขณะผลิต เช่น ความผันแปรของน้ำหนัก ความแข็ง ความกร่อน ความหนาของเม็ดยา และการกระจายตัวของยา มีการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อควบคุมสภาวะที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตขอเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อทดสอบว่า ไม่มีการปนเปื้อน ซึ่งอาจจะต้องใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและกระบวนการผลิตได้คุณภาพสม่ำเสมอ

5.การจัดเก็บและขนส่ง จะต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการจัดเก็บวัตถุดิบสมุนไพร สารสกัด บรรจุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินค้าสำเร็จรูป โดยมีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อให้คงคุณภาพตลอดอายุสินค้า การจัดส่งต้องตรวจสอบจำนวนภาชนะบรรจุให้ถูกต้อง อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพื่อป้องกันการเสียหายชองสินค้าจากการกระทบกันในขณะเคลื่อนย้าย และขนส่งโดยรถขนส่งที่มีความปลอดภัยจนถึงมือผู้บริโภค

นอกจากนี้ ต้องพิจารณาว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นการการันตีว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพมาตรฐาน สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพได้

สิ่งสำคัญที่ต้องสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้และเข้าใจ คือ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต้องเลือกซื้อจากคุณภาพ เพราะหากผู้บริโภคเลือกที่ราคาถูกที่สุดจะเป็นปัญหาที่เรียกว่า วงจรอุบาทว์ ได้ เพราะเมื่อผู้บริโภคเลือกราคาถูกที่สุด ผู้ผลิตก็จะหันไปผลิตด้วยวิธีการที่ถูกที่สุด ไม่เกิดการยกระดับผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตไม่ดี ผู้บริโภคก็จะได้แต่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ อาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อ เสี่ยงรับผลกระทบทางสุขภาพ ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็ไม่โต ไปไม่ถึงไหนด้วยเช่นกัน” ภก.สุวิทย์ กล่าว

ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ห่วง คือ การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระดับรัฐวิสาหกิจ ชุมชน ครอบครัว ระดับชาวบ้าน หรือโอทอป จะยกระดับในการผลิตที่ดีอย่างไร เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในการควบคุมมาตรฐานการผลิตต่างๆ มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถทำได้ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย และประชาชนต้องสนับสนุนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ เพ่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตที่ดี มีคุณภาพตามไปด้วย มิเช่นนั้น หากมีการผลิตไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ยาสมุนไพรต่างๆ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว คนกินก็ไม่หาย จะกลายเป็นการทำลายวงการสมุนไพรไทยในอนาคต ซึ่งยาสมุนไพรถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมาขับเคลื่อนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้ โดยอยู่ทั้งในกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มที่ 2 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์

ในระดับโลกเรื่องของการผลิตยานั้น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ถือเป็นผู้นำตลาดใหญ่ แต่ยาแผนปัจจุบันเริ่มมาถึงทางตันแล้ว หายาใหม่ๆ ได้ยาก ยาในอนาคตถ้าไม่เป็นแบบไฮเทคสุดๆ ไปเลย อีกทางหนึ่งคือการพัฒนายาจากสมุนไพร ซึ่งถามว่า ในโลกทางไหนเด่นที่สุด ก็คือทางเอเชีย และประเทสไหนที่มีสมุนไพรมากที่สุดในโลก ก็คือประเทศไทยที่มีข้อได้เปรียบ เพราะแม้ประเทศจีนจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ จะภูมิประเทศอยู่ในอุณหภูมิที่ไม่เอื้อต่อชนิดพันธุ์ แต่ไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ชนิดพันธุ์พืชจึงหลากหลาย โดยพบว่า ใน 1 ตารางเมตร ไทยมีพืชเป็น 100 ชนิด แต่จีนใน 1 ตารางเมตร อาจพบพืชเพียงแค่ชนิดเดียว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยพบสมุนไพรมากกว่า 10,000 ชนิดแล้ว อนาคตเรื่องสมุนไพรของไทยจึงไปได้อีกไกล เป็นตัวเลือกที่ควรนำมาพัฒนา เพื่อไปถึงจุดที่ทั่วโลกยอมรับ โดยต้องทำให้ได้มาตรฐานระดับที่ทั่วโลกยอมรับ” ภก.สุวิทย์ กล่าว

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.กำลังปรับปรุงระบบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งระบบให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยการจัดตั้งกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเร่งรัดให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับการพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตก่อนที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะออกสู่ท้องตลาดให้เหมาะสมกับบริบทของผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น รวมทั้งมีหลักเกณฑ์สำหรับพิจารณานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มที่มีคำกล่าวอ้างทางสุขภาพที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ซึ่งกำลังเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต





กำลังโหลดความคิดเห็น