xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัย แนะโรงทานปรุงอาหารจนสุก เลิกปรุงสุกๆ ดิบๆ ในช่วงวันมาฆบูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมอนามัย แนะโรงทานที่ปรุงอาหารงานบุญในช่วงวันมาฆบูชา ให้ปรุงอาหารด้วยความร้อนจนสุกอย่างทั่วถึง ล้างและเก็บอาหารให้สะอาด เลิกปรุงอาหารสุกๆ ดิบๆ และไม่ใช้โฟมบรรจุอาหาร เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและรักษ์สิ่งแวดล้อม

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันมาฆบูชาซึ่งถือเป็นวันพระใหญ่หลายวัดในหลายพื้นที่อาจจะมีงานบุญโดยใช้โรงทานทำอาหารแจกจ่ายคนในงานซึ่งในงานบุญส่วนใหญ่มีการจัดเตรียมอาหารล่วงหน้าในปริมาณมากโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานที่นิยมอาหารสุกๆดิบๆ เช่น พล่า ยำ ลาบ ก้อยและเน้นรสชาติที่เผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัดเมื่อเก็บไว้นาน 2-4 ชั่วโมง ไม่ได้อุ่นก่อนรับประทานทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษได้การป้องกันที่ดีจึงควรปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึงด้วยความร้อนโดยล้างวัตถุดิบให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุง ผู้ปรุงประกอบอาหารต้องมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีสวมผ้ากันเปื้อนใส่หมวกคลุมผมเล็บสั้นใช้ถุงมือหรือภาชนะอุปกรณ์ในการหยิบจับอาหารหากมีบาดแผลต้องปิดพลาสเตอร์ให้มิดชิดส่วนอาหารที่ปรุงเสร็จต้องใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด มีการปกปิดมิดชิดวางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า หากพบมีลักษณะที่เปลี่ยนไป เช่น มีฟองอากาศ กลิ่นเหม็นบูดสีและรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ควรนำมารับประทานหลีกเลี่ยงการใช้โฟมบรรจุอาหารเพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ควรเลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย หรือกล่องกระดาษ (Foodgrade) แทนจะเหมาะสมกว่าส่วนน้ำดื่มหากเป็นน้ำประปาควรมีคลอรีนหลงเหลืออยู่สังเกตุง่ายๆโดยจะได้กลิ่นคลอรีนในน้ำประปาหากไม่ชอบกลิ่นคลอรีนอาจจะใส่ภาชนะทิ้งไว้ 30 นาทีให้กลิ่นคลอรีนหายไปหรือกรองผ่านเครื่องกรองที่มีถ่านกัมมันต์เป็นสารกรองเพื่อดูดซับเอาคลอรีนออกและถ้าน้ำประปาไม่มีคลอรีนหลงเหลืออยู่อาจจะนำไปต้มให้เดือดก่อนนำมาบริโภค หากเป็นน้ำดื่มบรรจุขวดปิดสนิทและน้ำแข็งต้องมีเลขสารบบอาหาร (อย.) ซึ่งมั่นใจได้ว่ามีมาตรฐานรับรองสำหรับการบริโภคและที่สำคัญเมื่อรับประทานอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลาง ล้างมือก่อนรับประทานอาหารให้สะอาดทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ

“นอกจากนี้ หากเป็นอาหารกระป๋องทั้งก่อนเลือกซื้อและนำมาปรุงประกอบควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียดโดยต้องมีเลขสารบบอาหาร (อย.) ฉลากควรระบุ ชื่อ ที่ตั้ง สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วเพราะหากมีแสดงว่าเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียคอสทีเดียม โบทูลินัม จะสร้างสารพิษโบทูลินัมที่ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนกลืนอาหารไม่สะดวก ลิ้น และคออักเสบ เพราะไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ กล้ามเนื้อต้นคออ่อนแรงจนยกหัวไหล่ไม่ขึ้น จะแสดงอาการให้เห็นภายใน 2-4 ชั่วโมง แต่สำหรับบางรายอาจใช้เวลานานถึง 12-36 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจเสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลว ดังนั้น หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น