xs
xsm
sm
md
lg

อย่าคิดว่าการแหย่เด็กเป็นเรื่องเล่นๆ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เฮ้ย! เจ้าอ้วน ไปกินอะไรมาเนี่ย?...เดินคับซอยเลยนะ (หัวเราะ)”

ผู้ใหญ่หลายคนเวลาเจอเด็กๆวัยอนุบาลหรือประถมต้นตัวเล็กๆที่เริ่มรู้ความคงเคยรู้สึกว่าน่ารักน่าเอ็นดูจัง ตื่นเต้นและอยากเล่นด้วย จึงมักพูดจากระเซ้าเย้าแหย่หรือหาสารพัดวิธีมาหยอกล้อเพื่อให้เด็กสนุกสนานและสนิทสนมกับเราได้ง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงในครอบครัวอารมณ์ดีที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่ประเภทขี้เล่นพยายามทำตัวเรียกเสียงหัวเราะจากเด็กๆและสมาชิกในครอบครัวตลอดเวลา

การหยอกล้อหรือแหย่เด็ก (Teasing) เป็นพฤติกรรมการแสดงออกโดยทั่วไปที่ผู้ใหญ่มักใช้ในการสร้างสีสันและความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าตาหรือท่าทางประหลาดๆเพื่อล้อเลียน การตั้งชื่อหรือฉายาในทางขำขัน การเล่นหยิกแก้มหรือจั๊กจี้เอว การเล่นแย่งอาหารหรือสิ่งของกัน เป็นวิธีการสร้างความใกล้ชิดและความสัมพันธ์กับเด็กภายใต้ขอบเขตของการสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของทั้งสองฝ่าย

แม้ไม่ใช่สิ่งต้องห้ามและโดยความตั้งใจของผู้ใหญ่แล้วดูจะเป็นการแสดงความรู้สึกดีๆต่อกันเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อใดที่การหยอกล้อไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโตได้ข้ามเส้นแบ่งความสนุกไปสู่ความรู้สึกไม่พอใจ โกรธหรืออับอาย และไม่สนุกไปด้วยกันอีกแล้ว เมื่อนั้นการแหย่เด็กโดยไม่คิดให้รอบคอบและระมัดระวังถึงผลกระทบต่อเด็กที่ตามมามากมายจึงไม่ใช่วิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอีกต่อไป

ตัวอย่างการก้าวข้ามขอบเขตที่เหมาะสมโดยเด็กที่ถูกกระทำไม่รู้สึกสนุกไปกับการหยอกล้อนี้มักเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับ หยอกล้อเรื่องผลการเรียนไม่ดี –ทำให้เด็กสูญเสียกำลังใจ หยอกล้อเรื่องเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมไม่เก่ง – ทำให้เด็กไม่ต้องการร่วมทำกิจกรรมอีก หยอกล้อเรื่องรูปร่างหน้าตา สูง-ต่ำ ดำ-ขาว อ้วน-ผอม – ทำให้เด็กรู้สึกเป็นปมด้อย หยอกล้อเรื่องฐานะทางครอบครัว บุคลิกลักษณะเฉพาะตัวและมุมมองความคิดที่แตกต่าง – ทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยกและเหมือนกับเป็นการปิดกั้นช่องทางในการสะท้อนตัวตนของเด็กออกมา

การหยอกล้อโดยไม่คิดหน้าคิดหลังดังตัวอย่างที่กล่าวถึงนี้สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมการเข้าสังคมของเด็กใน 3 ลักษณะที่สำคัญ ดังนี้

1.ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ – การถูกเย้าแหย่ที่เกินเลยเป็นประจำ เช่น ถูกล้อเลียนว่าอ้วนเหมือนหมู หลอกให้กลัวว่าถ้าดื้อผีจะมาจับตัวไปหรือถูกแอบเอาของเล่นที่ชอบไปซ่อนบ่อยๆ มักทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดและคับข้องใจ เนื่องจากเรื่องที่ตัวเองไม่พอใจนั้นถูกมองเป็นเรื่องสนุกและเป็นที่ขบขันของคนอื่น และด้วยความเป็นเด็กจึงถูกดึงเข้าสู่ภาวะเครียดและกดดันโดยที่ไม่สามารถบอกหรือแก้ไขได้ด้วยตัวเอง

ความมั่นคงทางอารมณ์สะท้อนออกมาจากความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิต เด็กที่ตกอยู่ในภาวะเครียดและกดดัน หรือมีความฝังใจในเรื่องใดๆ มักไม่สามารถรับมือหรือจัดการกับอารมณ์ของตนเองในทิศทางที่เหมาะสมได้ บางคนฉุนเฉียวและโมโหง่าย บางคนอยู่กับความกลัวและวิตกกังวล บางคนอยู่กับความทุกข์ใจ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

2.ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง – การถูกล้อเลียนเกี่ยวกับความสามารถหรือตัวตนของเด็กด้วยความสนุกปากของผู้ใหญ่ เช่น อะไรกัน!การบ้านง่ายๆแค่นี้ก็ทำไม่ได้..เด็กอนุบาลยังทำได้เลย ทำไมไม่เป็นเหมือนเด็กคนนั้นนะ..เก่งกว่าเราตั้งเยอะ หรือ เจ้าเตี้ย..กินนมเยอะๆสิจะได้โตทันเพื่อน คือการทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่า ทำให้เด็กคิดว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้ดีเหมือนคนอื่น
อีกทั้งทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความรักและความหวังดีจากผู้ใหญ่แต่อย่างใด

เด็กที่ถูกทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองจะเติบโตบนความรู้สึกผิดหวังมีมุมมองต่อตัวเองในด้านลบและรู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา รวมทั้งขาดแรงจูงใจในการเรียนหรือการทำกิจกรรมต่างๆ เก็บตัวและไม่ต้องการเข้าสังคม เมื่อโตขึ้นมีแนวโน้มเข้ากลุ่มเพื่อนที่ทำตัวแปลกแยกจากคนอื่น อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทำร้ายตัวเองและคนอื่น หรือหันไปใช้ยาเสพติดเพื่อสร้างการยอมรับและความมั่นใจให้กับตัวเอง

3.มีพฤติกรรมเลียนแบบ – โดยพื้นฐานแล้วเด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆจากคนในครอบครัว หากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กมีพฤติกรรมชอบหยอกล้อกันจนเป็นความเคยชินแล้ว เด็กมักมีโอกาสซึมซับและติดเอาพฤติกรรมการหยอกล้อนี้มาใช้กับคนอื่นรอบตัวด้วยเนื่องจากเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ข้อจำกัดคือเด็กส่วนใหญ่ยังไม่โตพอที่จะสามารถแยกแยะขอบเขตและความเหมาะสมของการเล่นสนุกนี้ได้

ปัญหาที่ตามมาจากพฤติกรรมเลียนแบบนี้คือ การยกระดับจากการหยอกล้อเพื่อความสนุกที่เกินเลยไปสู่พฤติกรรมที่สร้างความรำคาญ ความไม่สบายใจ ตลอดจนการข่มขู่คุกคามบุคคลรอบตัวด้วยสำคัญผิดว่าเป็นความสนุกจากความรู้สึกที่ได้อยู่เหนือกว่าหรือได้ควบคุมคนอื่น ซึ่งนอกจากส่งผลต่อความคิดและการกระทำของเด็กในระยะยาวแล้ว ยังมีผลต่อการความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับสมาชิกอื่นในสังคมอีกด้วย

การหยอกล้อเพื่อความสนุกสนานนั้น แม้จะมีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แต่จำเป็นต้องพิจารณาเลือกใช้รูปแบบและวิธีการในประเด็นและขอบเขตที่เหมาะสมเสมอ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว การแหย่เด็กจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น