xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำให้ความรู้นายจ้างเข้าใจ กม.เปิดทางเด็กอาชีวะไร้สัญชาติเรียนทวิภาคีได้ฝึกงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บอร์ด กสส.กำชับสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการ หลักการฝึกงานเบื้องต้นเด็กอาชีวะไร้สัญชาติ อายุต่ำกว่า 18 ปีที่เรียนทวิภาคี ย้ำชัดให้ทำตามกฎหมาย ชี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ได้โอกาสฝึกงานเท่าเทียม

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้มีการหารือแนวทางความร่วมมือการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) กรณีผู้เรียนไม่มีสัญชาติ ซึ่งยังมีข้อจำกัดที่สร้างความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากผู้เรียนไม่มีหลักฐานบุคคลในระบบทะเบียนราษฎร ทำให้ การจ้างงานบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในสถานประกอบการที่มีกว่า 50,000 แห่ง อาจถูกตรวจสอบและมีความผิดพลาดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของทางราชการได้ ซึ่งผู้แทนกระทรวงแรงงาน (รง.) ชี้แจงหลักการฝึกงานเบื้องต้นสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีสัญชาติว่ายึดตามข้อกฎหมายและเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความอ่อนไหวด้านความมั่นคง ดังนั้น ต้องเร่งให้ความรู้และชี้แจงผู้ประกอบการเห็นถึงประโยชน์ของกลุ่มผู้เรียนไม่มีสัญชาติให้ได้รับโอกาสการปฏิบัติงานการเรียนการสอนตามระบบทวิภาคีอย่างเท่าเทียมกับผู้เรียนปกติอื่นๆ รองรับการขาดแคลนแรงงานในตำแหน่งสำคัญ

นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งอนุ กกส. ด้านการวิจัยการศึกษาเพิ่มเติม จำนวน 1 รูป 3 คน ประกอบด้วย 1.พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร) เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2.รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัลย์ พลายน้อย ข้าราชการบำนาญ 3.รองศาสตราจารย์ ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ และ ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญสายการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

“สกศ.ได้รายงานได้ทำหนังสือถึง 38 หน่วยงานเพื่อแจ้งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ไปเป็นกรอบในการกำหนดมาตรฐานการศึกษาและหลักสูตรการศึกษาในแต่ละระดับและประเภทการศึกษา การส่งเสริม กำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  โดย สกศ. ติดตามและประเมินผลเป็นระยะ” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น