กรมอนามัย เตือน อย่านำ "น้ำผุด" ตามแหล่งต่างๆ มาดื่มมาอาบ เสี่ยงรับสารเคมี เชื้อโรค เป็นพิษต่อร่างกาย เผยผลสำรวจน้ำประปามีคุณภาพสำหรับบริโภค ส่วนแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่เหมาะดื่มเลย เหตุปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย
วันนี้ (15 ก.พ.) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีน้ำผุดจากพื้นกระเบื้องภายในโบสถ์วัดราษฎร์สามัคคี จ.มุกดาหาร ชาวบ้านต่างแห่กรอกน้ำไปดื่ม อาบ เชื่อเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สุดท้ายเป็นเพียงท่อประปาแตกนั้น ว่า จริงๆ แล้ว น้ำที่ผุดขึ้นมา ไม่ว่าจากสถานที่ใกๆ ก็ตาม โดยเฉพาะน้ำที่ผุดมาจากพื้นดิน ซอกหิน ถ้ำ และเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำไปดื่มหรืออาบเพื่อรักษาโรคนั้น ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการพิสูจน์แหล่งที่มาหรือคุณภาพน้ำให้ชัดเจน ก็จะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อโรคได้ เสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องร่วง โรคผิวหนัง และได้รับสารพิษสะสม เพื่อความมั่นใจ ควรให้ทางราชการเข้าไปตรวจสอบ คุณภาพน้ำก่อน
นพ.ดนัย กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำบริโภคในปี 2561 พบว่า มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคเพียงร้อยละ 40.13 โดยน้ำประปา น้ำตู้หยอดเหรียญ และน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคมากที่สุด ส่วนน้ำที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ประชาชนใช้บริโภคนั้น ไม่มีความเหมาะสมสำหรับการนำมาบริโภคเลย สาเหตุสำคัญ คือ ปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียและฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ซึ่งบ่งบอกว่ามีโอกาสปนเปื้อนจากเชื้อโรคสูง
"ประชาชนควรให้ความสำคัญกับการเลือกน้ำสำหรับบริโภคในครัวเรือน ควรเลือกดื่มน้ำที่สะอาดและราคาถูก เช่น น้ำประปา ที่มีกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน น้ำมีคุณภาพเหมาะสมต่อการบริโภค ที่สำคัญมีคลอรีนสำหรับฆ่าเชื้อโรคตกค้างอยู่ด้วย ซึ่งสังเกตง่ายๆ จะได้กลิ่นคลอรีนในน้ำประปาซึ่งบ่งบอกว่าน้ำประปาสะอาดและปลอดภัย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว