“ธีระเกียรติ” ชวนอาชีวะเอกชนเปิดสอน 3 หลักสูตรอาชีวะนานาชาติ ชี้ทางเลือกเรียนสายอาชีพ เพิ่มทางรอดวิทยาลัยเอกชนไม่ต้องปิดตัว เร่งหาช่องทางทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้เด็กที่เรียนหลักสูตรได้กู้ยืมเพิ่มโอกาส
วันนี้ (14 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การนำหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติสู่การปฏิบัติ" โดยมีผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน กว่า 400 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม ว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงอาชีวศึกษาไทย เวลานี้ทั่วโลกพบว่างานมากกว่าคน แต่คนตกงานก็มาก ประเทศไทยที่ผ่านมาพบว่าเด็กวัยรุ่นไทย 2 ใน 3 เน้นเรียนสายสังคมศาสตร์มากเกินไปจนออกมาล้นตลาด แต่การที่รัฐจะไปสั่งให้ลดการผลิตสายสังคมฯก็ไม่ยุติธรรม ขณะที่ตลาดแรงงานก็เป็นตัวแปรสำคัญเพราะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กว่าที่จะเตรียมแผนงานรองรับได้ทันไม่ใช่แค่หน่วยงานราชการ แต่รวมถึงบริษัทชั้นนำของโลก ดังนั้น เมื่อกลไกตลาดมาเป็นตัวกำกับเช่นนี้ เราจึงควรจะต้องสร้างทางเลือกให้กับเด็ก ให้กับสถานศึกษาได้เรียนในหลักสูตรที่ทันสมัยที่สุดในโลกมาตรฐานสากล
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติ ที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า ได้ให้การรับรองหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติรวม 3 หลักสูตร เริ่มที่ "Business and Technology Education Council (BTEC)" ของ Pearson Education Limited แห่งสหราชอาณาจักร ที่เวลานี้มีสถาบันอาชีวศึกษารัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอุดมศึกษา 6 แห่งได้รับเปิดรับนักศึกษาแล้ว และที่เพิ่งรับรองล่าสุดอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร ICDL Digital literacy ประเทศไอร์แลนด์ และหลักสูตร Tourism and Hospitality Vocational Training" ของ William Angliss Institute ประเทศออสเตรเลีย สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนสามารถนำไปเปิดสอนในสถานศึกษาตนเองได้ เพราะเป็นหลักสูตรที่เรียนแล้วได้วุฒิบัตรของต่างประเทศ มีศักยภาพพร้อมทำงาน อีกทั้งมีสมรรถนะสอดคล้องกับที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) รับรอง
“หลักสูตรนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการศึกษาว่าอาชีวศึกษา ว่าไม่ได้มีแค่เรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่สำคัญไม่ใช่หลักสูตรระยะสั้น แต่เป็นหลักสูตรมาตรฐานสากล ขณะนี้ผมทราบว่าเอกชนหลายแห่งประสบปัญหาจะไปไม่รอด แต่หลักสูตรอาชีวะนานาชาตินี้จะเป็นอีกทางรอดของอาชีวศึกษาเอกชน หากมีความพร้อมก็สามารถเข้าร่วมเปิดสอนหลักสูตรนี้ได้ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเข้ามาเลือกเรียนได้ ขณะเดียวกัน วิทยาลัยก็ยังสามารถเปิดสอนหลักสูตรอาชีวศึกษาปกติของไทยได้ ”นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาเรามีการทำความร่วมมือกันมากมายแต่ยังขาดการนำไปสู่การปฏิบัติ ครั้งนี้เป็นโอกาสที่มานำเสนอให้ทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งเอกชนมีความเป็นอิสระในการบริหาร การตัดสินใจดำเนินการใดทำได้รวดเร็วกว่าภาครัฐ ที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบต่างๆ
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ศธ.กำลังประสานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน พิจารณาให้ทุนกู้ยืมกับผู้เรียนหลักสูตรอาชีวศึกษาไทยมาตรฐานสากลเหล่านี้ด้วย ขณะเดียวกันสถานศึกษาเองก็สามารถให้เด็กเรียนก่อนและจ่ายค่าเล่าเรียนในภายหลังได้ เพราะเด็กเหล่านี้เรียนจบแล้วจะมีงานทำแน่นอน เพราะเป็นหลักสูตรที่ผู้ว่าจ้างคิดขึ้น ที่สำคัญตนขอให้สถานศึกษาให้ความสำคัญกับการสอนภาษาอังกฤษมากๆอย่าทิ้ง