พก.จัดกิจกรรม “More Love Less Violence : เพิ่มรัก ลดความรุนแรง” เสริมสร้างเจตคติสังคมเพื่อคนพิการ
วันนี้ (14 ก.พ.) ณ ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพฯ บ้านราชวิถี กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเสริมสร้างเจตคติสังคมเพื่อคนพิการ “More Love Less Violence : เพิ่มรัก ลดความรุนแรง” พร้อมรับมอบช็อกโกแลตที่ระลึกจากศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) เพื่อส่งมอบความรักและความสุขแด่คนพิการ ครอบครัว และประชาชนที่มาติดต่อรับบริการ พร้อมลงพื้นที่ สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดีหญิง หน่วยงานในสังกัด พก. ที่มีหน้าที่ดูแลเด็กและสตรีพิการด้วยความรักความเข้าใจ เพื่อมอบความรักเชิงบวกด้วยการมอบช็อกโกแลตซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์วันวาเลนไทน์
นางธนาภรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ ส่งเสริมสิทธิ โอกาส และความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave no one behind) โดยการพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายในด้านการดูแลช่วยเหลือคนพิการ โดยปี 2562 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีนโยบายสำคัญคือ “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ซึ่ง พก. ได้มีส่วนขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การลดความรุนแรงต่อสตรีและเด็กพิการ โดยจากข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการและปัญหาความรุนแรงของประเทศไทย สตรีพิการ หรือเด็กพิการ มีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าสตรีที่ไม่มีความพิการ เนื่องจากไม่สามารถปกป้องตนเองจากผู้กระทำความรุนแรงและผู้มีทัศนคติที่มองสตรีพิการเป็นวัตถุทางเพศ และยังพบว่ามีสัดส่วนเด็กหญิงและสตรีพิการ ที่ถูกกระทำความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการทอดทิ้งคนพิการให้อาศัยอยู่ตามลำพัง และการส่งเข้าสถานสงเคราะห์ซึ่งเป็นการกระทำรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างสังคมไทยที่ไร้ความรุนแรงและเนื่องในวันวาเลนไทน์ จัดกิจกรรมเสริมสร้างเจตคติสังคมเพื่อคนพิการ “More Love Less Violence : เพิ่มรัก ลดความรุนแรง” พร้อมรับมอบช็อกโกแลตจากร้าน “Chocolate Café by Bakery 60 plus” จากศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนพิการ เพื่อส่งมอบความรักและความสุขแด่คนพิการ ครอบครัว และประชาชนที่มาติดต่อรับบริการ
“กิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้สังคมไทยได้เห็นถึงความรัก ความห่วงใย ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนในครอบครัว แต่ยังเกิดขึ้นในหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลกลุ่มคนพิการ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ ถือเป็นตัวอย่างให้สังคมภายนอกให้เห็นถึงความรักอีกรูปแบบหนึ่งที่ถึงแม้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดแต่มีความผูกพันกันในเรื่องความรู้สึกรัก ห่วงใย และดูแลกันอย่างใกล้ชิดไม่แพ้คนในครอบครัว เมื่อเกิดความรักความห่วงใยย่อมส่งผลให้สังคมไทยไร้ความรุนแรง และเป็นการสร้างเจตคติที่ดีของสังคมที่มีต่อคนพิการด้วย” นางธนาภรณ์ กล่าว