xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อลูกวัยรุ่นเข้าสู่วัยรัก/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คำถามที่ได้ยินเสมอตั้งแต่ลูกชาย 2 คนเข้าสู่วัยรุ่นคือ
ลูกชายมีแฟนหรือยัง ?

มีสาว ๆ เยอะไหม สงสัยหัวบันไดบ้านไม่แห้ง?

เป็นอย่างไรบ้าง หนักใจไหมมีลูกชาย ?

ฯลฯ
คำถามในท่วงทำนองนี้มีมาบ่อยมาก จำไม่ได้ว่าตอบใครว่าอะไรบ้าง รู้แต่ว่าตอบแต่ละคนไม่ค่อยจะเหมือนกัน เพราะพ่อเจ้าประคุณทั้งสองก็มีนิยามคำว่า “แฟน” หรือ “ความรัก” ในรูปแบบที่แตกต่างกัน และแต่ละช่วงก็ไม่ค่อยจะเหมือนกัน!

ช่วงนี้ใกล้วันแห่งความรัก ทำให้เรื่องความรักถูกนำมาโฟกัสอีกครั้ง และวันแห่งความรักก็มักโฟกัสไปที่วัยหนุ่มสาวและวัยรุ่นซะด้วย

ดิฉันเชื่อว่าเรื่องราววัยรุ่นของคนรุ่นพ่อแม่ทุกคนก็ยังคงอยู่ในความทรงจำ

ฉะนั้นเมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น คนเป็นพ่อแม่ก็น่าจะเข้าใจ เพราะเคยผ่านวัยรุ่นมาแล้ว !

และเมื่อเคยผ่านมาแล้วก็ควรต้องปรับตัวเรื่องความสนใจให้เข้ากับลูก เพื่อเป็นเพื่อนลูก และเมื่อเป็นเพื่อนลูกก็จะเข้าใจโลกของลูก เข้าใจโลกของวัยรุ่นยุคปัจจุบันที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งย่อมจะแตกต่างจากยุคสมัยที่เราเป็นวัยรุ่นมาอย่างแน่นอน

ลูกชายดิฉันเข้าสู่วัยรุ่นเต็มหนุ่ม แต่เราก็ยังสามารถสื่อสารกันได้ทุกเรื่อง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพูดคุยกันมาทุกเรื่องตั้งแต่เขายังเล็ก การพยายามสื่อสารให้เขาได้เห็นว่าพ่อแม่พร้อมปรับตัวเพื่อให้เข้าใจพวกเขาด้วยท่าทีที่ยอมปรับตัวเองก่อนเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่าเขาเองก็ควรปรับตัวทำความเข้าใจพ่อแม่ด้วยเช่นกัน
และเมื่อเข้าสู่วัยสนใจเพศตรงข้าม และมีเพศตรงข้ามเข้ามาสนใจ เขาก็เล่าให้ฟังเป็นเรื่องปกติ ความหมายของคำว่าแฟนของเขาอาจจะแตกต่างในยุคสมัยเรา เพราะยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยสังคมฟาสต์ฟู้ด การเป็นแฟนกันในยุคนี้ก็เลยฟาสต์ฟู้ดไปด้วย

ประเด็นก็คืออยากชวนพ่อแม่อย่ามองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ หรือมองว่าลูกของเรายังอ่อนต่อโลก หรือ ฯลฯ อย่าห้ามปราม อย่าใช้ท่าทีสั่งสอนแบบคุณพ่อรู้ดี คุณแม่รู้ดี แต่ถือโอกาสให้ลูกของเราได้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้เรื่องความรักในแบบของเขา ในแบบยุคสมัยของเขา โดยมีเราอยู่ร่วมสมัยกับเขาด้วย

ให้เราได้เป็นพ่อแม่ที่ลูกอยากเข้ามาคุยด้วย ไม่ว่าจะสบายใจหรือไม่สบายใจ สมหวังหรือผิดหวัง และคอยให้คำแนะนำเมื่อจำเป็น เพราะชีวิตเป็นของเขา

การให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตด้วยตัวเองคือสิ่งสำคัญ !

อย่าไปส่งมอบประสบการณ์ในวัยรุ่นของเราให้กับเขาอย่างอาหารกระป๋อง เพราะยุคสมัยแตกต่างกัน สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน วิธีคิดของพ่อแม่ในวันนั้นย่อมไม่เหมือนกับลูกในวันนี้

แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ มีส่วนต่อการทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่อง “รัก” อย่างมีคุณค่า

หนึ่ง - สอนลูกรักตัวเองให้เป็น
เรื่องสำคัญที่ต้องย้ำกับลูกก่อนว่าถ้ารักตัวเองไม่เป็น ก็จะไม่สามารถรักคนอื่นเป็นเช่นกัน คำว่ารักตัวเองไม่ได้หมายความว่านึกถึงแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น แต่คือการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี รักดี ใฝ่ดี มีความตั้งใจในการทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเองและผู้อื่น

สอง - เปิดหู เปิดตา เปิดใจ
การรับฟังลูกในทุกเรื่องราวด้วยสายตาของเขาอย่างตั้งใจจะทำให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น และพร้อมที่จะรับฟังเขาทุกเรื่อง และมันจะนำไปสู่ความเข้าใจในตัวลูก สิ่งเหล่านี้ก็จะติดเป็นนิสัย เมื่อเขาเติบโตขึ้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะคิดถึงพ่อแม่และรับรู้ได้ว่าพ่อแม่คือคนที่จะรับฟังเขาอย่างเข้าใจ และพร้อมที่จะให้เวลาคุณภาพกับเขาทุกเมื่อ

สาม - เข้าใจเรื่องความรัก
ความรักของหนุ่มสาวมีทั้งสมหวังและผิดหวัง ให้ทำความเข้าใจว่าเขาต้องเจอะเจอแน่ มันเป็นเรื่องธรรมดา และถ้าประสบแล้วก็ต้องหาทางรับมือกับทั้งความสมหวังและผิดหวังให้ได้ เมื่อสมหวังก็อย่าลิงโลดจนเกินไป หรือผิดหวังก็อย่าเสียใจจนเกินเหตุ ซึ่งข้อนี้ถ้าผ่านด่านการรักตัวเองให้เป็น ก็จะสามารถรับมือได้ดี และผ่านมันไปได้ด้วยความเข้าใจ

สี่ - เรียนรู้ผ่านประสบการณ์
คุณอาจจะเล่าเรื่องราวชีวิตรักของคุณในช่วงวัยรุ่นให้ลูกฟังก็ได้ หรือจากข่าวคราวในชีวิตประจำวันทั้งด้านลบและด้านดีให้ลูกได้สัมผัสทั้งสองด้าน รวมถึงการพูดคุยให้ลูกได้เห็นว่าการกระทำของเราในวันนี้ส่งผลถึงอนาคตของเราทั้งชีวิตได้เช่นกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นของคน 2 คน แต่มันส่งผลกระทบไปถึงคนอื่นอย่างไร และเราควรจะจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างไร

ห้า - รู้เท่าทันความรัก
ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ทุกคนล้วนแล้วอยากมีความรัก อยากมีคนที่เรารักและรักเรา แต่ก็ควรให้ลูกได้เห็นด้านลบของความรักด้วยว่าถ้ารักไม่เป็น มันจะทำร้ายทำลายล้างคนเราได้ขนาดไหน ยกตัวอย่าง รักที่ต้องการครอบครอง และเมื่อมีเหตุที่ต้องแยกจากกันก็ถึงขั้นทำร้ายคนที่เรารัก หรือทำร้ายตัวเอง

ที่สำคัญ เวลาพ่อแม่พูดถึงเรื่องความรักกับลูกอย่ามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หรืออย่าเอาแต่ห้ามปรามดุด่า แต่ควรจะถือโอกาสในการพูดคุยทัศนคติเรื่องความรักไปเลย และอย่าพูดถึงความรักในมิติเดียวหรือเฉพาะเรื่องหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ควรให้ลูกได้เรียนรู้และคำนึงถึงความรักในมิติอื่น ๆ ด้วย รักครอบครัว รักญาติพี่น้อง รักผู้อื่น รักเพื่อนมนุษย์ รักสัตว์เลี้ยง รักคนที่ขาดโอกาสหรือด้อยโอกาสกว่า เพื่อให้เขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า
แนวคิดของ Dr. Robert Sternberg นักจิตวิทยาชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) ได้พูดเรื่องทัศนะเกี่ยวกับความรักไว้ถึงทฤษฎีความรัก Theories of Love ว่ามี 3 องค์ประกอบหลัก คือ
หนึ่ง - ความเสน่หา (Passion) หมายถึง ความหลงใหลในเสน่ห์ทางเพศ (sex appeal) มีความรู้สึกพึงพอใจในเรือนร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ทรวดทรงองค์เอว และลักษณะทางเพศอื่น ๆ รวมไปถึงจริตกิริยามารยาท น้ำเสียง รู้สึกเย้ายวนรัญจวนใจ กระทั่งตกหลุมรักในที่สุด เกิดแรงขับที่จะทำความรู้จักและสร้างสัมพันธภาพกันต่อไป เป็นแรงปรารถนาอันเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศทั้งหญิงและชาย เริ่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลายต่อเนื่องไปถึงช่วงอายุระหว่าง 20-35 ปี ความสัมพันธ์ที่มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องด้วยดีทำให้เกิดความสนิทสนมไว้วางใจกัน และกระตุ้นให้มีแรงปรารถนาทางเพศต่อกัน ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ และการยอมรับ ที่สำคัญคือ ความจริงใจต่อกัน

สอง - ความผูกพัน (Intimacy) หมายถึง ความผูกพันอันเกิดจากความใกล้ชิดสนิทสนมในฐานะคนรัก (แฟน) หรือคู่ครอง (ภรรยา-สามี) มาระยะหนึ่ง มีความอบอุ่นมั่นคงทางใจอันเกิดจากความเข้าใจและไว้วางใจกัน ทำให้ต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต่อไป

สาม - การตัดสินใจ (Decision) และการให้คำมั่นสัญญา (Commitment) เมื่อเราเริ่มรู้สึกรักใครสักคนมาถึงจุดหนึ่งเราต้องตัดสินใจ แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกกำลังตกหลุมรักในระยะแรก ๆ นั้น เราจะรู้สึกไม่มั่นคง เกรงว่าคนที่เรารักจะไปรักคนอื่น หรือมีใครมาแย่งคนรักไป จึงต้องรีบตัดสินใจ (Decision) ลงไปว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ หากตัดสินใจเดินหน้าต่อจนเกิดการพัฒนาเป็นที่น่าพอใจ ก็จะเข้าสู่ช่วงที่ 2 เมื่อต่างฝ่ายต่างมีความต้องการตรงกัน โหยหาชีวิตคู่ร่วมกัน ก็จะมีการให้คำมั่นสัญญาต่อกัน (Commitment) และดำเนินการตามกฎเกณฑ์ทางสังคมต่อไป คือ การแต่งงาน

ใกล้วันแห่งความรัก เลยอยากเขียนเรื่องความรักของวัยรุ่นยุคนี้ กระตุกเตือนตัวเองและพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยรัก

เป็นช่วงที่คนเป็นพ่อแม่ต้องหนักแน่น และพร้อมที่จะเป็นโค้ชให้ลูกได้ทุกเมื่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น