อย.ร่าง กม.ลูก 2 ฉบับ “นิรโทษ” ผู้ครอบครอง “กัญชา” ทั้งหน่วยงาน งานวิจัยที่ไม่ขออนุญาต ผู้ป่วย และคนทั่วไป มาแจ้งยื่นครอบครองใน 90 วัน หลัง พ.ร.บ.ยาเสพติดบังคับใช้ ไม่ต้องรับโทษ หากวิจัยและป่วยต้องใช้จริง ให้ครอบครองต่อได้ ถ้าใช้เพื่ออย่างอื่นจะยึดทำลายทิ้ง หวังเซตซีโร่ จ่อชง คกก.ยาเสพติดฯ พิจารณา 14 ก.พ.นี้
วันนี้ (12 ก.พ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการออกอนุบัญญัติเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ... ที่อยู่ระหว่างรอประกาศใช้ ว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ได้พิจารณาร่างอนุบัญญัติเกี่ยวกับกัญชา 3 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ และกฎกระทรวงอีก 1 ฉบับ โดยประกาศกระทรวง 2 ฉบับ จะเป็นการออกตามบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของการนิรโทษ คือ คนที่ครอบครองกัญชาก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายประกาศใช้ ให้มาแจ้งการครอบครองภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องรับโทษ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ประกาศฉบับแรกจะเป็นหน่วยงานที่มีการครอบครองเพื่อทำการวิจัย เช่น ภาครัฐต่างๆ มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน วิสาหกิจชุมชน แพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน โดยต้องมาแจ้งเหตุผลในการครอบครอง ว่า วิจัยเพื่ออะไร ก็จะให้สิทธินิรโทษ ก็จะให้ครอบครองต่อไปได้ โดยจะต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตการวิจัยที่ถูกต้องต่อไป ส่วนประกาศฉบับที่สอง จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้กัญชาและคนทั่วไป ซึ่งผู้ป่วยที่มาแจ้งการครอบครอง จะต้องมีใบรับรองแพทย์ว่า ป่วยด้วยโรคอะไร จำเป็นต้องใช้อย่างไร เช่น ลมชัก หรือมะเร็ง เพื่อลดอาการเจ็บปวดจากมะเร็ง ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็ต้องแจ้งเข้ามา ก็จะให้ใบอนุญาตครอบครองและให้ใช้ต่อไปได้
“แม้จะบอกว่าเป็นผู้ป่วย แต่ก็ต้องมีการพิจารณาว่า มีการครอบครองไว้มากหรือไม่ เพราะหากใช้รักษาก็มีจะอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่มาก เช่น 10 ขวด เราก็จะพิจารณาตามอาการของโรค แต่หากบอกมีไว้ในครอบครองเป็น 1,000 ขวด หรือมากกว่านั้น อันนี้หากไปในทางพาณิชย์ก็จะไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดเสรี เราให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ก็ต้องมาแจ้ง โดยจะยึดของกลางไว้เพื่อรอทำลายต่อไป แต่คนๆ นั้นจะไม่ต้องรับโทษ ซึ่งทั้งหมดต้องทำภายใน 90 วันหลังร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ บังคับใช้แล้ว คล้ายๆ เป็นการเซตซีโร่” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนกฎกระทรวงอีกฉบับที่เพิ่งพิจารณาไปนั้น จะเป็นเรื่องของการผลิต การปลูก การสกัดเป็นยา การวิจัย การจำหน่าย และการผลิตเพื่อส่งออก และในวันที่ 12 ก.พ.ก็จะมีการพิจารณาอีกประมาณ 3 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษในวันที่ 14 ก.พ.นี้ หากเห็นชอบก็เข้าสู่กระบวนการสอบถามความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเตรียมการก่อน พ.ร.บ.ออกมาบังคับใช้ เป็นกระบวนการทำแบบคู่ขนาน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย หรือเอกชนหากจะทำ ยังต้องร่วมกันกับภาครัฐภายใน 5 ปีแรก โดยจะมีข้อกำหนดอยู่ เพื่อควบคุมปริมาณการใช้เพื่อทางการแพทย์ ไม่ให้เกินจนอาจไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งการทำงานร่วมกันกับภาครัฐและเอกชนนั้น อย่างการปลูกก็อาจเป็นในรูปแบบ คอนแทกต์ฟาร์มมิง (Contact Farming) โดยต้องมีข้อตกลงในสัญญาว่า หากปลูกจะส่งให้ใครผลิตเพื่อเป็นยา หรือจะปลูกให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทำการวิจัย ก็ต้องมีรายละเอียดว่าจะทำวิจัยอะไร เป็นต้น เพื่อมั่นใจว่า การปลูกแล้วมีที่รองรับในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จริงๆ ป้องกันไปใช้ในตลาดมืด
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีพรรคการเมืองบางพรรคชูนโยบายปลูกกัญชาเสรี อาจทำให้เกิดความสับสนหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า การชูนโยบายลักษณะนี้เป็นเหมือนเรื่องอนาคต เพราะกฎหมายขณะนี้ที่มีการแก้ไขและอยู่ระหว่างรอการประกาศใช้ ไม่ได้กำหนดเช่นนั้น แต่ให้ใช้ในรูปแบบคลายล็อก คือ ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น แต่อนาคตหากจะมีทิศทางอย่างไรก็ต้องไปแก้กฎหมายใหญ่อีก แต่ปัจจุบันไม่มี กฎหมายไม่ได้เขียนว่าให้ปลูกเสรี ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนปลูกเป็นรายบุคคล หลักๆ ที่ออกกฎหมายไม่ได้มุ่งแค่ช่วยผู้ป่วย แต่ต้องการให้มีระบบดูแลการใช้ให้ดี ไม่มากจนล้นตลาด จนกลายเป็นช่องทางในการใช้ผิดๆ แต่โดยหลักไม่ว่าอย่างไร หากกฎหมายประกาศใช้ จะมีคณะกรรมการในการประเมินการใช้ทุก 6 เดือน เพื่อประเมินว่าที่ดำเนินการอยู่เป็นไปในทิศทางอย่างไร