xs
xsm
sm
md
lg

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ออก 5 ข้อแนะนำลด “เด็ก” สัมผัสฝุ่น PM 2.5 เลี่ยงป่วยหนัก ภูมิแพ้ หายช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กุมารแพทย์ ออก 5 ข้อแนะนำ ลด “เด็ก” สัมผัสฝุ่น PM 2.5 เลี่ยงผลกระทบสุขภาพ ห่วงทำป่วยหนักขึ้น หายช้า เสี่ยงภูมิแพ้ จี้ปรับค่าอากาศและฝุ่นเท่าสากล

วันนี้ (12 ก.พ.) ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว “มลพิษ PM 2.5 ต่อสุขภาพเด็กและทารกในครรภ์” โดย ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ขณะนี้ มีเกือบทุกพื้นที่ของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเด็ก เนื่องจากลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมตามวัยของเด็ก รวมทั้งระบบต้านทานมลพิษที่เยื่อบุทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันยังเจริญไม่เต็มที่ เด็กจึงเป็นประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากมลพิษ จึงไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่ และในระยะยาวยังเกิดโรคต่างๆ ได้ มีตั้งแต่เล็กน้อย เช่น ป่วยระบบทางเดินหายใจ หายช้า จนถึงป่วยมะเร็งได้ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นโดยเร็วให้หมดไปจากประเทศไทย และเพิ่มการตระหนัก พร้อมปรับเปลี่ยนจากคุณภาพอากาศ และฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เท่ากับสากล ขององค์การอนามัยโลก เพื่อส่งสัญญาณเตือนได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย

ศ.นพ.พิภพ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ขอให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน ควรเลี่ยงการเข้าพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูง เพราะอาจส่งผลต่อการพัฒนาอวัยวะ ทั้งปอดและสมองของทารก 2.เด็กปกติ พบว่า หากต้องเผชิญกับคุณภาพอากาศ (AQI) มากกว่า 100 และ PM2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ก็เริ่มส่งผลต่อสุขภาพแล้ว และในผู้ปกครอง พบว่า หากป่วยเป็นภูมิแพ้ ทั้งพ่อและแม่ เด็กก็มีโอกาสเกิดภูมิแพ้ได้มากถึงร้อยละ 70 ขณะที่พ่อหรือแม่ป่วยภูมิแพ้ เพียงคนเดียวเด็กอาจเสี่ยงเกิดภูมิแพ้ได้ร้อยละ 30 โดยภูมิแพ้ในเด็ก มีตั้งแต่ อากาศ, นมวัว. ไก่ ,ไข่ ,หมู และข้าว

รศ.พญ.จิตลัดดา ดีโรจนวงศ์ สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก กล่าวว่า 3.เด็กที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหัวใจ หากอยู่ในสภาพอากาศที่ค่า AQI มากกว่า 50 หรือ PM 2.5 มากกว่า 37 มคก./ลบ.ม. ก็ส่งผลต่อสุขภาพแล้ว 4.คุณภาพอากาศในอาคารที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 50 และ PM 2.5 ไม่ควรเกิน 37 มคก./ลบ.ม. หากเกินก็ควรปิดหน้าต่างให้มิดชิด โดยระวังอย่าให้ห้องร้อนเกินไป ไม่สูบบุหรี่ หรือจุดธูปในอาคาร และเลือกทำควรสะอาดบ้านด้วยการถูด้วยผ้าเปียก เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หากภายในอาคารมีมลพิษสูงอาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกำจัด PM 2.5 ได้ ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีการผลิตโอโซน เพราะโอโซนในปริมาณมากเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง

รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า และ 5.มาตรการในโรงเรียน ควรมีการติดตามรายงานคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เมื่อระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM 2.5 มากกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ควรให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย และไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง เมื่อค่า AQI มากกว่า 200 หรือ PM 2.5 มากกว่า 90 มคก./ลบ.ม. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและพิจารณาหยุดเรียน ขณะเดียวกันเด็กที่ป่วยระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ หากค่า AQI มากกว่า 50 และ PM 2.5 มากกว่า 37 มคก./ลบ.ม. ควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง เมื่อระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM 2.5 มากกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและพิจารณาหยุดเรียน

รศ.พญ.พรรณทิพา กล่าวว่า ทั้งนี้ ควรปรับค่า PM 2.5 ในไทยให้เท่าสากล ตามองค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝุ่นทำให้เด็กที่ป่วยหอบหืดหรือภูมิแพ้อยู่แล้ว มีอากาศรุนแรงขึ้น หายใจช้าลง แค่เป็นหวัดจากเดิม 3-5 วันก็หาย บางคนนานถึง 2 อาทิตย์ ก็ไม่หาย เนื่องจากสภาพอากาศไม่ดี อีกทั้งบางคนแต่ก่อนอาการไม่รุนแรง หยุดยา แล้วก็ต้องกลับมากินซ้ำอีก ระคายเคืองง่ายขึ้น





กำลังโหลดความคิดเห็น