“บุญรักษ์” ย้ำแก้เกณฑ์รับ นร.ปี 62 ให้รับ ม.3 เข้า ม.4 ทุกคน ไม่ใช่สกัดเด็กเรียนต่อสายอาชีพ ระบุเข้าใจคลาดเคลื่อน ชี้เป็นการดูแลสิทธิ และไม่กระทบสิทธิเด็ก ม.4 ใหม่ ยันโรงเรียนบริหารจัดการได้
วันนี้ (12 ก.พ.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศ สพฐ.เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2562 ตามมติคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ภายในวันนี้จะเสนอร่างประกาศดังกล่าวให้ นพ.ธีระเกียติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะ ถ้าไม่มีประเด็นแก้ไขตนจะเป็นผู้ลงนามในประกาศ ทั้งนี้ มติ กพฐ.ที่ให้แก้ไขหลักเกณฑ์สำคัญตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้ การปรับแก้ไขดังกล่าวโดยเฉพาะกรณีการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษที่ให้ตัดเหลือ 4 ข้อ จากเดิม 7 ข้อ ได้พิจารณารอบคอบและเลือกตัดในเรื่องที่พิจารณาแล้วว่าไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ แต่บางข้อที่ตัดไม่ได้จริงๆ อย่างการบริจาคที่ดินจัดตั้งโรงเรียน เพราะมีข้อผูกพันอยู่ถ้ายกเลิกอาจมีผลกระทบ เช่น โรงเรียนหอวัง ใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โรงเรียนฤทธิยะวรรณลัย ที่ดินของทหารอากาศ และยังต้องคำนึงถึงโรงเรียนที่ตั้งบนที่ดินที่ชุมชนชาวบ้านบริจาคที่บางพื้นที่ยังมีข้อผูกพันกันอยู่ และที่จะไม่มีการตัดแน่นอน คือ การสงเคราะห์เด็กยากไร้ บุตรผู้เสียสละทำคุณประโยชน์ต่อชาติ
“ส่วนประเด็นที่ให้โรงเรียนรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษา (ม.) ปีที่ 3 เข้าเรียนต่อ ม.4 ทุกคนที่เวลานี้มีเสียงสะท้อนว่าส่งผลกระทบต่อการเข้าเรียนสายอาชีพนั้น ผมมองว่าน่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ยืนยันว่า สพฐ.ส่งเสริมให้เด็กเรียนอาชีวะแน่นอน ซึ่งโรงเรียนสะท้อนว่าโดยธรรมชาติแม้ไม่ได้คัดเด็กออก 20% เด็กก็ออกไปเรียนที่อื่นทั้งเรียนอาชีวะ หรือไปเรียนสายสามัญที่โรงเรียนอื่นๆ และที่ผ่านมา สพฐ.ได้พยายามกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้เรื่องอาชีพ ผ่านการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง เพื่อให้เขาได้รู้จักตัวตน ความถนัดตนเอง และแนวโน้มที่เด็กไปเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้นเห็นความแตกต่างได้ชัด ดังนั้น คนที่ตั้งใจจะออกไปเรียนอาชีวะเขาก็จะไปอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ถ้าเด็กเขาไม่ไปเรียนอาชีวะต่อให้ออกจากโรงเรียนเดิมเขาก็ไปเรียน ม.4 ที่อื่น ส่วนที่จะกระทบสิทธิของเด็กใหม่ที่อยากจะสมัครเรียนต่อ ม.4 โรงเรียนก็ยืนยันว่าไม่กระทบเพราะสามารถบริหารจัดการ” ดร.บุญรักษ์ กล่าว
ด้าน นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะประกาศรับนักเรียนปีการศึกษา 2562 ออกมา สพฐ.ได้มีการประชาพิจารณ์ก็มีข้อเสนอแนะอยากให้มีการตัดเงื่อนไขพิเศษบางข้อออก พอดีกับที่ ป.ป.ช.เสนอมาตรการดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ สพฐ.พิจารณายกเลิกทั้ง 7 ข้อ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงว่าในความหมายไม่ใช่ยกเลิก 7 ข้อ แต่ให้พิจารณาว่าส่วนไหนที่ยกเลิกแล้วจะทำให้ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น จึงได้ตัดออก 3 ข้อ ขณะที่ประเด็น ม.3 เข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคน ในที่ประชุม กพฐ.ที่ผ่านมา ก็มีการอภิปรายกว้างขวาง และเรื่องนี้ก็เป็นเสียงเรียกร้องส่วนใหญ่ด้วยว่า ไม่ควรจำกัดสิทธิเด็กว่าได้เกรดเท่านี้ถึงจะได้เรียนต่อ แต่ควรให้เด็ก ผู้ปกครอง และโรงเรียนได้พูดคุยกัน ให้เด็กตัดสินได้เอง และโรงเรียนควรจะต้องดูแลเด็ก เพราะบางคนอาจจะพลาดบางช่วงเวลาทำให้คะแนนต่ำลงที่เขาจะต่อ ม.4 ได้ และไม่ใช่การคัดค้านไม่ให้เด็กเรียนอาชีวะ ตรงกันข้ามกับส่งเสริมจัดแนะแนวการศึกษาเชิญวิทยาลัยอาชีวะรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประกาศออกไปเป็นเรื่องปกติที่จะมีมุมมองอย่างใดอย่างหนึ่งที่แตกต่างกันไป แต่ก็ดูภาพรวมเสียงส่วนใหญ่สะท้อนไปทางไหนก็แก้ไขปัญหา