xs
xsm
sm
md
lg

เฟ้น!!เด็กยากจน 2,500 คนสู่โอกาสศึกษา “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง”จบมีงานทำ-ไม่ต้องใช้ทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หนึ่งในปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จากความแตกต่างของรายได้ครัวเรือนของครอบครัวที่มีรายได้สูง และครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน และแม้ว่าไทยจะควักเงินลงทุนเพื่อการศึกษากว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี แต่ทว่าเรายังพบปัญหานี้ในทั่วทุกหัวระแหง

ในปีการศึกษา 2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เตรียมจัดสรร “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” จำนวน 2,500 ทุนครั้งแรก ให้แก่เด็กและเยาวชนในครอบครัวยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่กำลังศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษา (ม.) ปีที่ 3, ม.6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 3 ได้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพขั้นสูง ในสถาบันการศึกษาที่นำเสนอโครงการนวัตกรรมและผ่านการคัดเลือกจาก กสศ.แล้ว ซึ่งทุนดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทุน 5 ปี ปวช.ต่อเนื่อง ปวส. หรืออนุปริญญา จะได้รับค่าใช้จ่ายรายเดือน 6,500 บาทต่อเดือนใน 3 ปีแรกและ 7,500 บาทต่อทุนใน 2 ปีหลัง และทุน 2 ปี ปวส. อนุปริญญา สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นม.6/ปวช.3 หรือเทียบเท่าจะได้รับรายเดือน 7,500 บาทต่อทุน โดยจ่ายปีละ 12 เดือน ไม่เกินระยะเวลา 5 ปีหรือ 2 ปีตามกรณี ที่สำคัญไม่มีข้อผูกมัดชดใช้ทุน!!

“การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา มีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการแต่ระยะแรกเริ่มต้นมุ่งสร้างคนในสายอาชีพ ซึ่งเป็นสาขาที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะสาขาที่สอดคล้องกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กลุ่ม เพราะ กสศ.หวังใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนสถานศึกษาได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เครื่องมืออุปกรณ์ให้ทันสมัย เรียนจบมีงานทำ”ศ.ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษา กสศ.บอกถึงเป้าหมาย

ที่ปรึกษา กสศ.บอกด้วยว่า การจัดสรรทุนดังจะดำเนินการผ่านสถาบันการศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกโดย กสศ.ว่าจัดทำโครงการที่มีนวัตกรรมตามหลักเกณฑ์ ซึ่งเสนอมาถึง 154 โครงการ 99 สถาบัน 51 จังหวัด รวมทุน 8,479 คน ขณะนี้คัดเลือกเหลือ 55 โครงการจาก 39 สถาบันใน 23 จังหวัด เข้ารวม 2,500 ทุน มีถึง 95สาขาตามเป้าหมายประเทศ สาขาขาดแคลน สาขาสะเต็มและเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การแปรรูป เกษตรยุคใหม่ โลจิสติกส์ระบบราง หุ่นยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น ก้าวต่อจากนี้เป็นการเฟ้นหานักเรียนเพื่อรับทุนในแต่ละสถาบัน เมื่อปัจจัยต่างๆครบถ้วนก็จะนำไปสู่การผลิตบุคลากรรองรับการพัฒนาประเทศได้มีประสิทธิภาพ

การเฟ้นผู้รับทุนจะต้องได้คนมีศักยภาพและมาจากครอบครัวที่ยากจนจริง นพ.ศุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.แจงว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ไม่ใช่แค่ทุนที่จะเป็นประตูโอกาสการศึกษาแต่ กสศ.และสถาบันการศึกษาจะร่วมกันดูแลไปตลอดเส้นทางการศึกษาของเด็ก เด็กจะมีโอกาสได้เรียนรู้กับนายจ้างและปฏิบัติการจริง สัมผัสกับเรียนรู้ทักษะใหม่และทักษะอนาคต และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ กสศ.จึงต้องการให้เด็กที่ครอบครัวยากจนได้รับทุนนี้เพราะหากได้คนที่ไม่ยากจนจริงทำให้โครงการเสียโอกาสแต่ต้น จึงกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับทุนจะต้องเป็นเยาวชน ที่กำลังศึกษาระดับชั้น ม.3/ม.6 หรือเทียบเท่า/ปวช.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส มีรายได้ ครอบครัวเฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน

“จะมีกระบวนการตรวจสอบความยากจนเพิ่มเติม และเป็นนักเรียนที่มีศักยภาพในการเรียนต่อ โดยพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยสะสม หรือมีความสามารถพิเศษ แต่หากไม่เก่งวิชาการแต่มีศักยภาพโดดเด่นด้านทักษะฝีมือ นวัตกรรม เป็นนักประดิษฐ์ และมีประสบการณ์ในกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวมที่พิสูจน์ได้ ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายประจำเดือน และค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัด โดยไม่มีข้อผูกมัดที่ผู้รับทุนจะต้องชดใช้ทุนในอนาคต หากเรียนจนจบการศึกษา และจะเปิดรับสมัครอยู่ในช่วงวันที่ 18 ก.พ. - 18 มี.ค.นี้”ผู้จัดการ กสศ.กล่าว

นายเสนาะ กาศเกษม รองผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วทษ.) เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่​ หนึ่งในสถาบันที่ได้รับคัดเลือก บอกว่า วิทยาลัยมีความพร้อมและเป็นหนึ่งในสถาบันต้นแบบดำเนินโครงการสมาร์ทฟาร์มมิ่ง สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ การเกษตรสมัยใหม่ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก จุดเด่นนี้ทำให้เสนอขอรับทุนทั้งระดับปวช.และระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) แต่ผ่านคัดเลือกโครงการด้านเกษตรศาสตร์ ระดับปวส. ใน 4 สาขา คือ สาขางานสัตวศาสตร์ พืชศาสตร์ ช่างกลเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร จำนวน 50 ทุน

“เด็กส่วนใหญ่ของ วทษ.เชียงใหม่ เกือบ 80% มาจากที่ราบสูงพื้นฐานครอบครัวยากจน การที่ได้รับทุนนี้เป็นโอกาสของวิทยาลัยที่จะได้มีโอกาสค้นหาช้างเผือก เด็กที่เรียนดี มีศักยภาพแต่ยากจนได้นำเขาสู่ระบบการศึกษาไม่ได้ดีแค่เพียงสาขาเกษตร แต่ดีกับทุกสาขาอาชีพ ซึ่งจากนี้วิทยาลัยจะไปวางแผนการรับสมัครเด็กทุนนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ เด็กปวช.3 ตรงนี้เรามีฐานข้อมูลอยู่แล้ว อีกกลุ่มคือเด็กที่จบม.6 เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญตรงนี้จะอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และโรงเรียนซึ่งมั่นใจว่าได้รับการสนับสนุน ซึ่ง วทษ.มีที่พักนอนสำหรับเด็กปวช.เพราะฉะนั้น กลุ่มเด็ก ปวส. 50 คนที่ได้รับทุนนี้ก็มั่นจะสามารถช่วยดูแลได้ เด็กก็จะได้มีโอกาสทำโปรเจกกับสถานศึกษาคู่กับทุนที่ได้รับด้วย”รองผอ.วทษ.เชียงใหม่ ระบุ

ขณะที่ น้องเปิ้ล-น.ส.กชกร จ้อยแดง ม.3 โรงเรียนบ้านบ่อกวางทอง จังหวัดชลบุรี เล่าว่า ตนมีความตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบม.3 จะเรียนต่อสายอาชีพเพราะอยากเรียนจบเร็วๆจะได้มีงานทำมีรายได้ ครอบครัวมีกันอยู่ 5 คนรายได้ไม่มากประมาณ 8-9 พันบาทต่อเดือน จากการเพาะเห็ดขายและการรับจ้างทำงานทั่วไปซึ่งพ่อแม่เป็นกำลังหลักในการหารายได้ ส่วนตนมีหน้าที่ช่วยดูแลน้องๆอีก 2 คนซึ่งคนรองผู้หญิงเรียนชั้น ป.4 ส่วนคนเล็กผู้ชายอายุ 3 ขวบยังไม่ได้เข้าเรียน แต่ถึงจะลำบากพ่อแม่ก็เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการให้ลูกๆได้เรียนหนังสือ ได้มีความรู้ทำงานดีๆ ทำให้ตนตั้งใจกับการเรียนให้มากซึ่งเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 ทั้งนี้ เมื่อได้รู้ข่าวจากครูประจำชั้นและจากที่มีสถาบันการศึกษามาแนะแนวว่า มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รู้สึกสนใจและตั้งใจว่าจะสมัครขอรับทุนนี้โดยจะเลือกเรียนเกี่ยวกับสาขาตลาด หวังว่าจะได้โอกาสรับทุนนี้ ซึ่งถ้าได้ก็จะทำให้ตนมีโอกาสเรียนต่ออย่างที่ตั้งใจต่อเนื่องแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ส่วนหนึ่ง ไม่เสี่ยงต้องออกกลางคัน และได้ความรู้ที่จะมาประกอบอาชีพได้ต่อไป

แม้เวลานี้ยังไม่สามารถความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะยังมิอาจหมดไปโดยเร็ว แต่การที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีบทบาทสำคัญหันมาให้ความสำคัญ หยิบยื่นโอกาสก็จะเป็นอีกก้าวในการร่วมกันสร้างกำลังคนคุณภาพให้ประเทศไทยได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น