xs
xsm
sm
md
lg

อากาศปลอดภัย..เริ่มได้ที่ตัวเรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝุ่น PM 2.5 ที่ฟุ้งกระจายทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ในเวลานี้ เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนตัวผู้เขียนเองนอกจากจะหายใจเข้าออกได้ลำบากสักหน่อยในช่วงนี้เพราะรู้สึกกล้าๆกลัวๆอยู่เหมือนกัน แต่ที่รู้สึกได้มากกว่าคืออาการระคายเคืองตาจนต้องกระพริบตาถี่ๆอยู่บ่อยครั้งซึ่งก็น่าจะเป็นผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน

หากพิจารณาดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI: Air Quality Index) ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งตั้งเกณฑ์วัดค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในระดับ 0-201 ขึ้นไป ระบุว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่เราสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและดำเนินชีวิตได้ตามปกติควรมีค่า AQI ไม่เกิน 100แต่จากรายงานข่าวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมากลับพบว่ามีค่าสูงกว่ามาตรฐานมากและ มลพิษทางอากาศที่ทุกคนชี้นิ้วว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราในตอนนี้ก็คือ ฝุ่น PM 2.5 นี่เอง

อันที่จริงขึ้นชื่อว่าฝุ่น ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไรก็ล้วนมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวของคนเราเสมอ แต่เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matters 2.5) เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (0.0025 มม.)หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากๆจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น โดยล่องลอยปะปนอยู่กับก๊าซชนิดต่างๆในอากาศ ด้วยความที่มีขนาดเล็กมากและมีปริมาณมากนี่เองที่ทำให้โอกาสในการป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองนี้เข้าสู่ร่างกายและส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรานั้นทำได้ยากขึ้น

ปัญหาสุขภาพอันเกิดจากการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ตาแดงหรือแสบตา ซึ่งการขยี้ตาหรือดูแลรักษาความสะอาดไม่ดีพอเป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย บางคนอาจมีอาการแพ้ เป็นผื่นคันบริเวณผิวหนังเป็นวงกว้างได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ หากหายใจรับเอาสิ่งแปลกปลอมนี้เข้าไปเป็นปริมาณมากจะมีผลทำให้มีอาการไอ แสบจมูกและคอ หรือหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดอาจมีอาการแย่ลง

สำหรับในระยะยาวนั้น เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กและมีจำนวนมากสามารถเล็ดลอดเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินหายใจ หรือตกตะกอนปะปนไปกับกระแสเลือดในระบบหมุนเวียนโลหิต เมื่อสะสมมากขึ้นจนทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆทำงานบกพร่อง จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ถุงลมโป่งพองหรือปอดเสื่อมสภาพ เกิดโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบหลอดเลือดสมอง อาทิ ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจวายเฉียบพลัน หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด

การป้องกันปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยที่มาจากฝุ่นละอองนี้สามารถทำได้โดยพยายามทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องสัมผัสกับมลพิษโดยตรงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยสวมใส่หน้ากากที่มีความละเอียดมากขึ้นในการป้องกันควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือการดำเนินชีวิตตามปกติของเราเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นด้วย ทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคมจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบการเกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควันจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การเผาขยะ การเผาไร่นาเพื่อการเกษตร หรือแม้แต่การประกอบอาหาร ซึ่งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและมีผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน

เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดคือการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเองด้วย 6 วิธีการง่ายๆ ดังนี้

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถโดยหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า หรือเรือโดยสาร เพื่อลดปริมาณรถที่จะปล่อยฝุ่นควันและก่อมลพิษบนถนนให้น้อยลง หากมีความจำเป็นควรหาเพื่อนร่วมเดินทางไปในเส้นทางเดียวกัน หรือขับไปจอดและใช้บริการขนส่งสาธารณะต่อ

2.ควรเลือกใช้รถยนต์ที่ประหยัดเชื้อเพลิงและมีค่าการปล่อยมลพิษต่ำ หากมีกำลังเพียงพอควรเลือกใช้รถพลังงานทางเลือก โดยเจ้าของรถมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลรักษารถยนต์และอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี นำรถเข้ารับการตรวจสภาพตามเวลาและปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

3.หลีกเลี่ยงหรือเตรียมวิธีป้องกันสำหรับกิจกรรมที่ทำให้เกิดควันและฝุ่นละออง เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่กำจัดขยะหรือใบไม้ด้วยวิธีการเผา เตรียมอุปกรณ์รองรับที่เหมาะสมเมื่อต้องการประกอบอาหารประเภทปิ้งย่าง หรือควรมีตาข่ายล้อมบริเวณเพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายเมื่อต้องการต่อเติมก่อสร้างที่อยู่อาศัย

4.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะโดยทำการคัดแยกขยะประเภทต่างๆให้ถูกต้อง ช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการกำจัดขยะผิดวิธีหรือผิดประเภท สามารถนำขยะบางส่วนมารีไซเคิลนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น กระบวนการกำจัดขยะทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ทำให้ไม่เป็นมลพิษตกค้างเป็นเวลานาน

5.เพิ่มจำนวนต้นไม้เพื่อเพิ่มตัวช่วยในการดูดซับมลพิษในอากาศ ทำได้โดยการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านหรือที่ทำงานให้ดูร่มรื่น หากมีพื้นที่จำกัดอย่างน้อยได้ปลูกใส่กระถางวางไว้ แต่หากมีที่ดินของตัวเองอยู่บ้างอาจปลูกไม้ผล ไม้ดอก หรือพืชสมุนไพรเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในอีกทางหนึ่งด้วย

6.เป็นพลเมืองที่ดีโดยเป็นหูเป็นตาช่วยกันดูแลสอดส่องการปล่อยฝุ่นควันหรือมลพิษที่ผิดปกติจากกิจกรรมต่างๆรอบตัวและแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบดูแล รวมทั้งคอยติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยข้อมูลที่ได้ไม่ควรนำไปเผยแพร่หรือลงในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อประจานผู้อื่น

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศซึ่งบั่นทอนสุขภาพและการใช้ชีวิตอยู่ในเวลานี้อาจเป็นเรื่องไม่ดีที่ไม่มีใครอยากเผชิญ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็อยู่ที่ทุกคนว่าจะสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงและแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างไร...วิธีที่เป็นไปได้และง่ายที่สุดคือ เริ่มต้นที่ตัวเราเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น