xs
xsm
sm
md
lg

จ่อเพิ่มชุดตรวจยีนดูผลรักษา "มะเร็งเม็ดเลือดขาว CML" อีก 498 ราย หวังช่วยเปลี่ยนยาทัน ลดอัตราตาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมวิทย์ เผยผลตรวจยีนผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว CML ในสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง รวม 900 ราย ไม่อบสนองต่อยารักษาอิมาตินิบ 24% จำเป็นต้องเปลี่ยนยาอื่น ช่วยลดความเสี่ยงโรคลุกลามจนเสียชีวิตได้ เล็งสนับสนุนชุดตรวจฟรีในปีนี้อีก 498 ราย ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

วันนี้ (8 ก.พ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (CML) สามารถรับการรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าฟรีตามสิทธิประกันสังคมและสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยยามะเร็งมุ่งเป้าอิมาตินิบ (Imatinib) เป็นยาตัวแรกที่ใช้รักษา จะออกฤทธิ์โดยตรงต่อยีนมะเร็งที่เป็นสาเหตุของโรคและทำให้โรคสงบลงได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อยาดีจะสามารถยืดอายุผู้ป่วยโดยเฉลี่ยถึง 8 ปี ซึ่งจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หากผลการตรวจบ่งชี้ว่ายาอิมาตินิบไม่สามารถควบคุมโรคมะเร็งได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงที่โรคจะลุกลามหรือเสียชีวิต จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจติดตามประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาอิมาตินิบ โดยตรวจวัดปริมาณยีนลูกผสม BCR-ABL mRNA ชนิดกลายพันธุ์ที่อยู่บนโครโมโซมที่ผิดปกติ Philadelphia Chromosome ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งชนิดนี้

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในปี 2560 กรมฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการให้บริการฟรีในการชุดตรวจวัดปริมาณยีนลูกผสม BCR-ABL mRNA โดยใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยา RQ-PCR ที่มีความไวและความจำเพาะสูง สำหรับผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยได้รับโอกาสในการรักษามะเร็งชนิดนี้ด้วยยาที่เหมาะสมกับตนเอง โดยการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผลการดำเนินโครงการในปี 2560-2561 ได้ให้บริการตรวจฟรีสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด CML ไปแล้วที่จำนวน 900 ราย พบว่า ร้อยละ 24 ของผู้ป่วยที่ได้รับยาอิมาตินิบติดต่อกันมานาน 6 เดือนไม่ตอบสนองต่อยา ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการเปลี่ยนยาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ในปี 2562 จะสนับสนุนการตรวจฟรีอีก 498 ราย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดในการรักษา

“การตรวจวัดปริมาณยีนลูกผสม BCR-ABL mRNA ชนิดกลายพันธุ์ นับว่าเป็นการนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามการรักษาโรคมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาชนิดที่ให้การรักษาที่เหมาะสม จึงช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยตามแนวทางการแพทย์แม่นยำที่รัฐบาลกำลังผลักดันเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดียิ่งขึ้น และแม้ว่าปัจจุบันผู้ป่วยที่อยู่ในสิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่สามารถเบิกค่าตรวจได้ แต่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิงนโยบาย เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับการตรวจดังกล่าวมากยิ่งขึ้น จึงลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ” นพ.โอภาสกล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น