xs
xsm
sm
md
lg

ส่องมาตรการแก้ฝุ่น PM2.5 ต่างประเทศ แบบไหนไทยควรเอาอย่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในแต่ละประเทศ พบจีนสั่งห้ามปิ้งย่าง ติดสปริงเกอร์ยักษ์ ยิงจรวดสร้างฝนเทียม เกาหลีใต้ใช้โดรนสอดแนมพื้นที่ปล่อยมลพิษ อินเดียสั่งเพิ่มตู้ขบวนรถไฟฟ้ารองรับคนใช้ขนส่งสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัว สเปนจำกัดรถเข้าควบคุมคุณภาพอากาศ ฝรั่งเศสห้ามรถดีเซลวิ่งเข้าใจกลางเมืองหลวง

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญห่าฝุ่นละอองขนาดเล็กของประเทศต่างๆ ว่า แต่ละประเทศมีแนวทางแก้ปัญหาแตกต่างกันไป อย่างหลายมาตรการที่ไทยทำ บางคนอาจรู้สึกขบขันว่าภาครัฐทำอะไรอยู่ แต่หลายอย่างก็เป็นวิธีการที่ทำมาแล้วในต่างประเทศ ซึ่งมาตรการของแต่ละประเทศมีดังนี้ 1. จีน ซึ่งเจอปัญหาฝุ่นมานาน การแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ห้ามปิ้งย่าง บาร์บีคิว ใช้โดรนพ่นสารกำจัดหมอกควัน ยิงจรวดสร้างฝนเทียม ติดสปริงเกอร์ขนาดยักษ์

ส่วนระยะยาวมีการควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม การใช้พลังงานเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูง ลดใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้พลังงานลม พลังงานสะอาด มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน ตรวจวัดสภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง การใช้กฎหมายภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกรุงปักกิ่ง กำหนดเก็บภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอัตรา 12 หยวน ต่อหน่วยการปล่อยมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

2. เกาหลีใต้ ระยะสั้นมีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมกลางแจ้ง มีการส่งข้อความแจ้งเตือนปริมาณฝุ่นโดยตรง จากรัฐบาลผ่านแอปพลิเคชัน การตั้งเซนเซอร์กระจายทุกที่ ทำให้มีความละเอียดในการตรวจวัดมากขึ้น มีการลดชั่วโมงการผลิตโรงไฟฟ้า จำกัดการผลิตไฟฟ้าที่ 80% และทำฝนเทียม ส่วนระยะยาว มีการจัดให้บริการขนส่งฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อช่วยลดปริมาณใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การจำกัดการใช้รถรุ่นเก่า ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ประกาศใช้โครงการนำร่องโดรนติดกล้องบินตรวจตราพื้นที่แถบชานกรุงโซล เพื่อสอดแนมดูว่าที่ไหนแอบปล่อยมลพิษเพื่อลงโทษ เรียกว่า วัตถุประสงค์การใช้โดรนคนละเรื่องกับไทย ที่ใช้กระจายมาราดน้ำจากท้องฟ้า

3. อินเดีย มีการสั่งลดการก่อสร้างและการรื้อถอนที่ทำให้เกิดฝุ่นทันที มาตรการการฉีดพ่นน้ำ โดยใช้น้ำแบบพิเศษที่มีคุณสมบัติไฟฟ้าสถิต เพื่อให้มีฝุ่นเกาะดีขึ้น อาจจะไม่ใช่น้ำตาล การปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินชั่วคราว มาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ ที่เป็นแนวทางที่ไทยควรทำ เช่น การเพิ่มอัตราค่าจอดรถในพื้นที่สาธารณะให้สูงขึ้น เพื่อบั่นทอนคนอยากใช้รถยนต์ส่วนตัวไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น การห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ เพราะเป็นปัญหาของมลพิษ เช่น เอสยูวี ขนาดใหญ่กว่า 2,000 ซีซี การยกเลิกใช้แท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซล เพิ่มสายรถประจำทาง และขบวนตู้รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งไทยน่าเอาอย่าง จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเพิ่มขบวนตู้รถไฟฟ้า MRT และ BTS ในช่วงวิกฤตหมอกควัน เพื่อมารองรับความต้องการของคนที่จะหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากกว่ารถส่วนตัว

4. ญี่ปุ่น มีการคุมเข้มการปล่อยก๊าซพิษจากเครื่องยนต์มานานแล้ว โดยเฉพาะรถดีเซลที่เข้าเมือง และปรับหนักกับรถปล่อยควันดำ มีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ เพื่อให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และตัวดักจับกรองฝุ่นกองก๊าซพิษ มาตรการตรวจสภาพรถยนต์อย่างเข้มงวดทุกปี

5. อังกฤษ ลดการใช้เชื้อเพลิง ทั้งไม้และถ่านหิน ทั้งกลางแจ้งและครัวเรือนทันที และการออกกฎหมายอากาศสะอาด หลังจากปี 1952 เกิดเหตุการ Smog ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.2 หมื่นคน ซึ่งไทยต้องมีกฎหมายอากาศสะอาด โดยสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ต้องการให้ตั้งหน่วยงานใหม่มาเพื่อผลาญภาษีประชาชน แต่ต้องการเสนอหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อให้บริหารงานอย่างเป็นเอกภาพ มิเช่นนั้นก็จะโยนหน้าที่กันไปมา เพราะกรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจไปสั่งปิดโรงงาน สั่งจับชาวไร่ชาวนาเผาที่โล่งแจ้ง หรือสั่งให้ปรับเปลี่ยนใช้น้ำมันยูโร 4 เป็นยูโร 5 เป็นต้น

6. สเปน มีมาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศ กระตุ้นให้คนใช้รถจักรยาน ซึ่งมาตรการนี้เขาทำได้ เพราะไม่ได้ฝนตกบ่อยเหมือนไทย และอากาศเย็นสบายเหมาะแก่การปั่นจักรยาน รวมถึงมาตรการรถยนต์รุ่นเก่าที่ก่อมลพิษมากที่สุดจะถูกห้ามขับเข้าไปในเขตควบคุมคุรภาพอากาศ

7. ฝรั่งเศส การห้ามขับเข้าไปในย่านใจกลางเมืองช่วงกลางวัน โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล และห้ามใช้รถยนต์ตลอดถนนฝั่งขวาของแม่น้ำแซน ห้ามใช้รถยนต์ในถนนฌองเซลิเซเดือนละครั้ง และห้ามใช้รถรุ่นเก่าและรถดีเซลขับเข้าย่านใจกลางเมืองหลวงอย่างสิ้นเชิง มีมาตรการอุดหนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยวิธีอื่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

8. สวีเดน พื้นฐานประเทศนั้น มีมลพิษน้อย แต่กมีมาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรถที่ขับเข้าไปในพื้นที่การจราจรหนาแน่น เพื่อบั่นทอนไม่อยากให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวในพื้นที่ใจกลางเมือง 9. เนเธอร์แลนด์ ส่งเสริมระบบรถราง โดยหมู่บ้านชานเมือง ห้ามไม่ให้ผู้คนจอดรถใกล้บ้านเรือน ผู้อยู่อาศัยที่ไม่ใช้รถยนต์จะได้รับอัตราค่าเช่าบ้านถูกกว่าคนที่มีรถ เป็นการสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบาย

10. เดนมาร์ก ส่งเสริมการใช้รถจักรยานมากกว่ารถยนต์ และยกเลิกใช้รถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี เพื่อไม่ให้มีรถเก่าในเมือง 11. ฟินแลนด์ ลงทุนเรื่องขนส่งสาธารณะ และ 12. บราซิล ส่งเสริมการใช้ระบบโดยสารขนาดใหญ่และราคาถูก


กำลังโหลดความคิดเห็น