นักวิชาการนิด้า วิจัยสารก่อมะเร็งในฝุ่น PM 2.5 ยังไม่น่าห่วง หลังค่าเฉลี่ย 1 ปี ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานของ WHO และอีกหลายประเทศ แต่ต้องออกค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในอากาศ ด้าน อาจารย์ มอ.ศึกษาชัด พบฝุ่นใน กทม.มาจากไอเสีย เสริมด้วยการเผาไหม้ชีวมวลจากภาคอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่อาจารย์ ม.ศิลปากร ชี้ฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้านพัดมาสูง ดูดกลืนแสง คายความร้อน จนกดอากาศเย็น ทำฝุ่นสะสมในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
วันนี้ (31 ม.ค.) ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในงานแถลงข่าวแนวปฏิบัติในการรับมือกับวิกฤตหมอกควัน PM 2.5 พร้อมข้อชี้แจงเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของมลพิษ ว่า ขณะนี้เมื่อพูดถึงคุณภาพอากาศ มักจะพูดกันอยู่ 2 ค่า คือ ค่าฝุ่น PM 2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ซึ่งทุกวันนี้ เราทราบค่ามาตรฐานของทั้งสองตัวแล้วว่าเป็นเท่าไร อย่างไร แต่มองว่า ค่าเพียงแค่สองตัวนั้นยังไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องรู้ด้วยว่า มีอะไรที่อยู่ในฝุ่นด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมควรตระหนักและรัฐบาลควรบอกให้ประชาชนรับทราบความรู้ในเรื่องเหล่านี้ด้วย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการศึกษาตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง (PAHs) ในฝุ่น PM 2.5 โดยรับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำการศึกษาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ในช่วงปี 2017-2018 โดยเก็บข้อมูลจาก 3 พื้นที่ คือ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ศูนย์กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
ศ.ดร.ศิวัชกล่าวว่า ในการศึกษาได้ศึกษาสารก่อมะเร็ง PAHs โดยเลือกจำนวนมา 19 ตัว ซึ่งจากการศึกษาพบทั้ง 19 ตัว ในฝุ่น PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศของเชียงใหม่ กทม. และภูเก็ต ส่วนการจะบอกว่าค่าสารก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐานหรือไม่นั้น จะอาศัยการทำให้ค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งทั้ง 19 ตัว มาทำให้เป็นค่าเดียวกัน แล้วนำมารวมเป็นค่าความเข้มข้นรวม แล้วนำไปเปรียบเทียบกับค่าของสารเบนโซเอไพรีนในฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งตัวที่อันตรายที่สุด โดยพบว่า ค่าเฉลี่ย 1 ปีของสารก่อมะเร็ง PAHs ในเชียงใหม่เท่ากับ 337 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน กทม. เท่ากับ 438 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และภูเก็ตอยู่ที่ 45 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
“จากผลการศึกษาถือว่า ค่าสารก่อมะเร็งเฉลี่ยรายปีในฝุ่น PM 2.5 ยังไม่ร้ายแรงขนาดนั้น ซึ่งแม้ประเทศไทยจะยังไม่มีค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็งในอากาศ แต่จากการเทียบกับค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในอากาศของประเทศต่างๆ จำนวน 11 ประเทศ และค่าขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ค่าของประเทศไทยใน 3 จังหวัดนั้น ไม่ผ่านมาตรฐานเพียง 2 ประเทศ คือ โครเอเชีย และสวีเดน ที่กำหนดค่าไว้สูง คือ 100 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเชียงใหม่ กับ กทม. ไม่ผ่านค่ามาตรฐานของอังกฤษที่กำหนดไว้ที่ 250 พิโคกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ผ่านของ WHO และอีก 8 ประเทศที่เหลือ ทั้งเบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ที่กำหนดไว้ 500 ฝรั่งเศส 700 อิตาลี ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และ WHO กำหนดไว้ที่ 1,000 เยอรมนี กำหนดไว้ 1,300 และอินเดีย ที่กำหนดไว้ 5,000 ถือว่ายังอุ่นใจได้ระดับหนึ่ง แต่จะต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายควบคุมมาตรฐานสารก่อมะเร็งขึ้น” ศ.ดร.ศิวัชกล่าว
รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า จากการศึกษางานวิจัยหลายวิจัย พบว่า ฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากไอเสียยานพาหนะทั้งปี และเสริมด้วยการเผาไหม้ของชีวมวล ซึ่งแยกออกมาได้จากการการดูองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 ที่ต้องมีคาร์บอน 2 ตัว คือ Organic Carbon และ Black Carbon ซึ่งจากการศึกษาว่า การเผาชีวมวลมาจากไหน พบว่า มีการเผาไหม้ชีวมวลทั้งจากภาคเหนือ อีสาน และ ภาคกลาง รวมไปถึงจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย ส่วนที่ฝุ่นเหล่านี้มาได้อย่างไรนั้น ได้ศึกษาจากแบบจำลอง HYSPLIT ในการดูการไหลของอากาศจากดาวเทียม 3 ดวง ที่ความสูง 3 ระดับ คือ 500 1,000 และ 1,500 เมตร ซึ่งสะท้อนชัดมากว่า ค่าฝุ่นใน กทม. ที่ขึ้นสูง ส่วนหนึ่งถูกพัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยข้อมูลการไหลอากาศเมื่อวันที่ 6-8 ม.ค. 2562 ที่ค่าฝุ่นสูงมากนั้น มีลมพัดมาจากทางตะวันออก ซึ่งช่วงนั้นมีการเผาไหม้ หรือ จุดฮอตสปอต ที่กัมพูชาจำนวนมาก ขณะที่วันที่ 10 ม.ค. 2562 ค่าฝุ่นใน กทม. ลดลงอย่างมาก เพราะมีลมมาจากทะเลอ่าวไทย ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้าน ยังเผาชีวมวลอยู่มาก แต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. และ 29 ม.ค. 2562 ที่ค่ากลับมาสูงมากอีก เพราะทิศทางลมมาจากภาคอีสาน ซึ่งมีจุดเผาไหม้จำนวนมาก
ด้าน ศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า วันที่ 13 ม.ค. 2562 กรมควบคุมมลพิษ ประกาศว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ในนครปฐม สูงเป็นอันดับ 1 จึงได้มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ พบว่า จากการมองบนดาดฟ้าตึกคณะ ไม่สามารถมองเห็นองค์พระปฐมเจดีย์ได้ ขณะที่ดูจากค่าความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ก็ต่ำลง ทั้งที่ไม่มีเมฆ เมื่อดูว่ามีการเผาที่นครปฐมหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี แต่มีจากประเทศทางตะวันออกติดกับประเทศไทย ที่มีมากกว่า 1,000 จุด จึงดูทิศทางของลมในระดับ 800 เมตรจากพื้นดิน พบว่าลมพัดมาจากทางกัมพูชา เข้าสู่ กทม. และเลยมายังนครปฐมด้วย ทั้งนี้ ฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน สามารถข้ามมายังประเทศไทยได้ โดยเมื่อพัดมาส่วนหนึ่งจะตกลงมารวมกับฝุ่นท้องถิ่นที่มาจากไอเสียยานพาหนะ ส่วนฝุ่นอีกจำนวนหนึ่งจะพัดลอยช้าลง เนื่องจากเป็นแอ่งจากการติดกับเทือกเขาตะนาวศรี ส่งผลให้ฝุ่นที่พัดลอยมาสูงมากเหนือมวลอากาศเย็น เมื่อมีการดูดกลืนแสงอาทิตย์ และคายความร้อนออกมา ทำให้อากาศบริเวณนั้นมีความร้อนอยู่ด้านบน และอากาศเย็นที่อยู่ด้านล่าง เรียกว่า เกิดการผกผันของอุณหภูมิ (Thermal Inversion) ชั้นของฝุ่นก็เลยต่ำลงมา มาตรการแก้ปัญหา คือ ระยะสั้น ต้องให้ประชาชนจัดหาหน้ากากกันฝุ่นละอองได้ เช่น รัฐบาลจัดหาให้ หรือนำเข้าได้โดยเสรี ระยะกลาง มีการตรวจวิจัย เพื่อให้ปัญหาฝุ่นละอองมีความชัดเจนในเชิงวิชาการ และระยะยาว ต้องจัดทำกฎหมายอากาศสะอาดของประเทศไทย ออกมาตรการร่วมกันระหว่างประเทศ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองข้ามพรมแดน