ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ตื่นนอนตอนเช้าสิ่งแรกที่ทำคือเปิดแอปพลิเคชันวัดค่าฝุ่นละออง และในแต่ละวันก็มักชอบเข้าไปดูเสมอว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ดีขึ้นบ้างหรือยัง ทำจนเริ่มติดเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ แม้จะเดินทางไปต่างจังหวัดก็อดไม่ได้ที่จะต้องตรวจสอบสภาพอากาศ และคอยตรวจสอบข่าวดูว่ากรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องฝุ่นมลพิษว่าอย่างไรกันบ้าง
จะมีมาตราการอะไรที่พอจะทำให้ประชาชนอุ่นใจได้บ้างหรือไม่ !
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือครอบครัวที่มีเด็ก ผู้สูงวัย แม่ท้อง รวมถึงคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บที่เปราะบางต่อเรื่องนี้
เพราะลำพังคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหรือสุขภาพแข็งแรงดี ก็แทบเอาตัวไม่รอด เจ็บไข้ได้ป่วยไปตามๆกัน
ล่าสุดเมื่อวาน (วันที่ 29 มกราคม 2562) กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ว่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันก่อนทุกพื้นที่ ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 36 พื้นที่ ทั้งในกทม.และปริมณฑล เนื่องจากมีสภาพอากาศลอยตัวได้ลดลง ลมสงบ ไม่มีฝน ซึ่งทำให้ปริมาณฝุ่นละอองสะสมในหลายจุด ประกอบด้วยพื้นที่ริมถนน เกินค่ามาตรฐาน 21 สถานี พื้นที่ทั่วไป เกินค่ามาตรฐาน 15 สถานี ทั้งยังคาดการณ์ว่า ในช่วงบ่ายของวันนี้ อากาศลอยตัวได้น้อย ลมพัดอ่อน ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองมีโอกาสสะสมได้
เรียกว่าเป็นการออกประกาศที่กระทบใจเกือบทุกวัน เพราะดูเหมือนสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หนำซ้ำยังแย่ลงด้วยซ้ำ เพราะเท่ากับผู้คนต้องสะสมฝุ่นพิษมากขึ้นทุกวัน พื้นที่เสียงก็ยังคงเสี่ยงต่อไป กลุ่มเสี่ยงก็ยังคงต้องเสี่ยงต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ก็ยังต้องเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรับกรรมต่อไป
แม้ประชาชนเริ่มตระหนักรู้ แต่ดูเหมือนภาครัฐเองที่ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาแบบองค์รวมเป็นรูปธรรมและชัดเจน
กลุ่มเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดดูเหมือนยังไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร ยังเป็นพียงมาตรการให้โรงเรียนจัดการปัญหากันเอาเอง และเน้นขอความร่วมมือไม่ให้เด็กอยู่นอกอาคาร ซึ่งก็เป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนด้วย ถ้าลักษณะอาคารของโรงเรียนเอื้อให้เด็ก ๆ อยู่อย่างปลอดภัย ก็นับว่าโชคดีไป แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่ลักษณะอาคารจะเอื้อ หรือบางแห่งห้องเรียนก็ต้องเปิดหน้าต่าง ซึ่งเด็กๆ ก็ต้องรับฝุ่นมลพิษอยู่ดี
ยังไม่นับการเดินทางไปกลับของเด็กนักเรียนที่ไม่ได้นั่งรถยนต์ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ขับรถไปส่ง แต่เด็กจำนวนมากต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน บางคนซ้อนมอเตอร์ไซต์ บางคนเดิน บางคนนั่งเรือ ฯลฯ และแน่นอนว่าต้องเผชิญกับฝุ่นพิษแน่นอน
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วดิฉันนำเสนอให้รัฐบาลประกาศหยุดโรงเรียนในเขตกทม.และจังหวัดที่เกิดวิกฤติชั่วคราว หรือเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เพราะสุขภาพของเด็กต้องสำคัญที่สุด
และเมื่อเด็กหยุดโรงเรียน ปริมาณของรถยนต์บนท้องถนนก็จะหายไปโดยอัตโนมัติ เหมือนช่วงปิดเทอม และก็สามารถลดควันพิษบนท้องถนนได้ทันที
สุดท้ายโรงเรียนที่ตระหนักและได้รับผลกระทบจากพื้นที่ก็ตัดสินใจประกาศหยุดเองจำนวน 2-3 วัน เพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งน่าชื่นชมเพราะเป็นการแสดงถึงความกล้าหาญในการตัดสินใจ โดยมองผลกระทบที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ
แม้สุดท้ายจนถึงขณะนี้ภาครัฐก็ยังคงไม่มีมาตราการใด ๆ ต่อเรื่องนี้ และยังคงปล่อยให้สถานการณ์ต่างๆ เป็นไปแบบหวังว่าฝุ่นพิษน่าจะดีขึ้นในเร็ววันและหายไปเอง
แต่สุขภาพของผู้คนรอไม่ได้จริง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงรวมถึงเด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาลจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้ดิฉันชวนสร้างห้องเรียนให้เด็กนักเรียนในยุคฝุ่นพิษ
เพราะเชื่อแน่ว่ามันต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของตัวเองในหัวข้อ “การบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำมาสรุป โดยสกัดเป็นภาษาง่าย ๆ กระชับ เพื่อเผยแพร่เป็นตอน ๆ ในคอลัมน์นี้ไปแล้ว เพราะเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อวงการการศึกษาปฐมวัย และผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องปฐมวัย โดยเฉพาะในอีก 10 ปีข้างหน้า
งานวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยอนาคต ด้วยเครื่องมือแรกคือวิจัยอนาคตภาพด้วยเทคนิค Ethnographic Delphi Future Research (EDFR) ได้มีการคาดการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้าห้องเรียนอนุบาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน และเทคโนโลยีจะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
สรุปคร่าวๆคือ ห้องเรียนอาจไม่มีความจำเป็นแล้ว อยู่ที่ไหนเด็กก็เรียนได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน แต่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้
รวมไปถึงวิธีการเรียนรู้เปลี่ยนไปแน่นอน เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ แต่มีเครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ประเด็นที่สนใจ
สิ่งที่ควรจะให้ความสนใจและสำคัญคือจะทำอย่างไรให้บุคลากรทางการศึกษาใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ และถือโอกาสเป็นการปลูกฝังเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเด็กได้ด้วย
ทั้งหมดนี้ต้องการจะตอกย้ำว่าการเรียนรู้ในโลกยุคอนาคตของเด็กนักเรียนเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน หลายประเทศได้มีการนำไปใช้แล้ว ในขณะที่บ้านเราคงต้องใช้เวลาอีกนานที่จะปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ และการให้ความรู้กับบุคลากรทางการศึกษา
แต่กระนั้น ดิฉันก็ยังเห็นว่าด้วยสถานการณ์วิกฤติฝุ่นพิษ เราต้องแปรวิกฤติเป็นโอกาส และเราต้องมีจุดเริ่มต้น พยายามปรับตัวตามโจทย์ของสถานการณ์ปัจจุบัน ถือโอกาสให้เด็กเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน
นำโจทย์เรื่องฝุ่นพิษมาเป็นหน่วยการเรียนรู้ในชีวิตจริงที่เด็กต้องรับมือกับสถานการณ์ เป็นการเพิ่มทักษะชีวิตจากประสบการณ์จริงด้วย
จากนี้ไปเราคงต้องเจอะเจอกับภัยธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์อีกหลายสถานการณ์ ฉะนั้น วิธีคิดของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย
ยอมรับและปรับเปลี่ยนเพื่ออนาคตของชาติจริง ๆ ด้วยเถอะ