xs
xsm
sm
md
lg

แค่เฮระยะสั้น “ปานเทพ” ถอดรหัสคำสั่ง ม.44 แค่ให้เหตุผลชั่วคราวยกเลิกสิทธิบัตรกัญชา ชี้ 10 ประเด็นกับดักเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ปานเทพ” ชี้ คำสั่ง ม.44 ให้เหตุผลชั่วคราวอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชา จากการเป็นยาเสพติด ห่วงคลอด พ.ร.บ. ยาเสพติดแล้ว กลับมายื่นจดใหม่ได้ หรือไม่ถูกยกเลิกหากอุทธรณ์อยู่ 90 วัน หวั่นทำคนไทยดีใจเก้อ ได้เฮระยะสั้น ตั้งข้อสงสัยหวังให้คนหย่อนบัตรเลือกตั้งหรือไม่ จี้รัฐบาลเพิ่มเหตุผลถาวรครอบคลุมเรื่องสารสกัดจากพืช และการรักษา ห้ามจดสิทธิบัตรระยะเวลา 5 ปี

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีการออกคำสั่งมาตรา 44 ให้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชา ว่า การออกคำสั่งดังกล่าวของ คสช. ไม่ใช่การไปยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชา แต่เป็นการให้เหตุผลแก่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาได้ ซึ่งเหตุผลที่ให้ไว้ตามคำสั่ง ม.44 คือ เรื่องของมาตรา 9(5) ของ พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 คือ การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน เนื่องจากกัญชายังคงเป็นยาเสพติด ซึ่งถือเป็นเหตุผลชั่วคราว เพราะหาก พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอ และยื่นทูลเกล้าฯ ไปอย่างเงียบๆ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562 ออกมาเมื่อไร เหตุผลดังกล่าวก็จะใช้ไม่ได้อีก

“คสช. ควรอ้างเหตุผลอื่น เช่น ตามมาตรา 9(1) เรื่อง สารสกัดจากพืช หรือ มาตรา 9(4) ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา แต่กลับไม่อ้างเหตุผลเหล่านี้ใรคำสั่ง ม.44 เพราะเป็นเหตุผลถาวร และมีความคิดที่จะให้บริษัทต่างชาติกลับมาจดสิทธิบัตรได้อีกใช่หรือไม่ เพราะหากดูตามคำสั่งแล้วจะมีเวลาให้อุทธรณ์อีก 90 วัน ถ้ามี พ.ร.บ. ยาเสพติดฯ ออกมา สิทธิบัตรก็อาจไม่ถูกยกเลิก เพราะอุทธรณ์ก่อน ก็ไม่ต้องเริ่มต้นยื่นคำขอใหม่ หรือแม้จะยกเลิกก็มีสิทธิที่จะกลับมายื่นคำขอใหม่ได้ ที่สำคัญ กว่าจะรู้ผลอุทธรณ์ก็เลยช่วงเวลาเลือกตั้งไปแล้ว การทำแบบนี้เป็นการทำให้ประชาชนเฮในระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้งก่อนหรือไม่” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ กล่าวว่า ที่กังวล คือ แม้จะมีการให้เหตุผลในการยกเลิก แต่อำนาจในการยกเลิกยังเป็นของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะยกเลิกหรือไม่ และยกเลิกเมื่อไร แต่ในเมื่อเป็นอธิบดีคนเดิมที่ไม่เคยยอมยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาทั้ง 7 ฉบับ ของ GW/Otsuka ก็น่าห่วงว่าสุดท้ายแล้วจะใช้อำนาจยกเลิกหรือไม่ และหากมี พ.ร.บ. ยาเสพติดฯ ออกมา ก็ยิ่งใช้ มาตรา 9(5) ไม่ได้อีกต่อไป แปลว่า กลายเป็นดีใจเก้อหรือไม่ ซึ่งสิทธิบัตรทั้ง 7 คำขอนั้น ครอบคลุมการรักษาทั้งลมชัก ลมบ้าหมู จิตประสาท โรคจิต โรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และ มะเร็งสมอง เป็นต้น หากใครศึกษาก็มีสิทธิถูกฟ้องร้องได้ รวมถึงประชาชนอาจต้องใช้ยาที่มีสิทธิบัตรราคาสูง

นายปานเทพ กล่าวว่า วิธีการแก้ไขเรื่องนี้ คือ 1. รัฐบาลต้องอาศัยคำสั่ง คสช. ควรนิยามเพิ่มเติม จากมาตรา 9(5) ให้ครอบคลุมไปถึงมาตรา 9(1) และ 9(4) ให้ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่เอามาจดซ้ำ 2. ถ้าไม่อาศัยคำสั่ง คสช. ก็ต้องมีอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ยืนยันยกเลิกสิทธิบัตรเหล่านี้ ไม่ว่าจะอาศัยมาตราใดในการยกเลิกก็ตาม ถ้าอธิบดีคนเดิมไม่ทำ ก็ต้องเปลี่ยนคน และ 3. อาจเพิ่มบทเฉพาะกาลห้ามจดสิทธิบัตร เพราะเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศไทยและต่างชาติ เนื่องจากไทยไม่เคยใช้กัญชาทางการแพทย์ และวิจัยในมนุษย์มาก่อน โดยอาจออกคำนิยามว่า กัญชายังคงอยู่ใน มาตรา 9(5) ไปก่อนเป็นเวลา 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปานเทพ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ด้วยว่า 10 ประเด็น “กับดักเวลา” คำสั่ง คสช. มาตรา 44 เรื่องสิทธิบัตรกัญชา จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษตามที่ทราบแล้วนั้น มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว และต้องการทำความเข้าใจและการวิเคราะห์คำสั่งดังกล่าวนี้ในมุมมองที่ประเทศไทยและคนไทยจะกำหนดทิศทางต่อไปด้วยความระมัดระวังในอนาคตดังต่อไปนี้



1. คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 1/2562 โดยอาศัยมาตรา 44 นี้ ไม่ใช่คำสั่งยกเลิกสิทธิบัตรโดยตรง แต่เป็นการกำหนดรายละเอียดวิธีการในการพิจารณาตรวจสอบสิทธิบัตรเท่านั้น เพื่อทำให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาใช้อำนาจในการยกเลิกต่อไป

2. หากใช้มาตรา 44 ไปยกเลิกสิทธิบัตรฯโดยตรง จะเป็นอันตรายต่อประเทศไทย เพราะจะมีผลทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับในข้อตกลงระหว่างประเทศ และอาจทำให้ประเทศไทยไปพ่ายแพ้ในเวทีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในอนาคตได้ การออกคำสั่งนี้จึงถือว่ามีความระมัดระวังได้ดีพอสมควรระดับหนึ่ง

3. การยกเลิกสิทธิบัตรนั้น ยังคงเป็นอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์อยู่เหมือนเดิม ดังนั้น จะต้องติดตามต่อไปว่าเมื่อมีมาตรา 44 ออกมาแล้ว อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะยกคำขอสิทธิบัตรฯหรือไม่ และจะยกคำขอ “เมื่อไหร่” โดยเฉพาะในประเด็น “เมื่อไหร่” นี้ มีความสำคัญและจำเป็นต้องรู้ให้เท่าทันอย่างยิ่ง ซึ่งจะกล่าวถึงในข้อต่อๆ ไป

4. กล่าวโดยสรุปข้อ 1 ของคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ ก็คือ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับกัญชา “เพื่อประโยชน์ทางการพาณิชย์” ให้ถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ. สิทธิบัตร มาตรา 9(5) คือ การประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน แปลภาษาชาวบ้านคือในขณะนี้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ คำสั่ง คสช. ข้อนี้จึงให้ถือว่าขัดมาตรา 9(5) ซึ่งต้องยกเลิกไป โดยใช้ความชัดเจนนี้เทียบเคียงกับการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ประเทศบราซิล

5. ปัจจุบันมีสิทธิบัตรกัญชาที่มีการประกาศโฆษณาคำขอไปแล้วตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร จำนวน 7 ฉบับที่ยังดำรงสถานภาพอยู่ โดยเป็นของกลุ่มบริษัทเดียว คือ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับ จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด และเนื่องจากเกี่ยวข้องกับกัญชาตามคำสั่ง คสช. ข้อ 1 จึงย่อมขัดกับมาตรา 9(5) ของ พ.ร.บ. สิทธิบัตร ไปโดยปริยาย

6. ข้อ 2 ของคำสั่งฉบับนี้ ระบุว่า หากคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 9(5) ของ พ.ร.บ. สิทธิบัตร ให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเลือกทำได้ 2 อย่าง คือ หนึ่ง สั่งยกคำขอสิทธิบัตร หรือ สอง ตัดข้อถือสิทธิบัตร ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งอธิบดี (อันหลังนี้หมายความว่าสิทธิบัตรยังอยู่แต่ตัดข้อถือสิทธิบางอย่างไป) ซึ่งต้องดูอีกว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะใช้ดุลพินิจในการยกคำขอไปเลย หรือเลือกที่จะตัดข้อถือสิทธิบางอย่างอยู่โดยใช้เวลาไปอีก 90 วัน

คำถามมีอยู่ว่า อธิบดีจะยกคำขอ “เมื่อไหร่” ไม่มีระยะเวลากำหนดเอาไว้ ตามคำสั่ง คสช. นี้ ดังนั้น จะต้องจับตาว่าอธิบดีจะยกเลิกโดยเร็วที่สุดหรือไม่ หรือจะยืดเยื้อไปจนนานที่สุดเพื่อหวังรอกฎหมาย พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษบังคับใช้เสียก่อน หรือถ่วงเวลาเพื่อรอให้ช่วงเวลาอุทธรณ์อยู่ในช่วงเวลา พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษบังคับใช้แล้ว ก็จะอาจเป็นผลทำให้ การยกคำขอตามมาตรา 9(5) ไม่สามารถนำมาใช้ได้ (เพราะเปลี่ยนสถานภาพจากยาเสพติดให้โทษอย่างเดียว กลายเป็นมีประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย) ดังนั้น การประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรก็มีโอกาสจะฟื้นคืนชีพได้ ที่ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

และถ้าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเลือกที่จะแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิตัดข้อถือสิทธิบางอย่างภายในเวลา 90 วัน นับแต่วันรับคำสั่ง ผลก็คือ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่ ก็คงจะประกาศใช้ไปก่อน 90 วันเรียบร้อยแล้ว ผลก็คือ กัญชาจากสิ่งที่ผิดกฎหมายโดยอ้างว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ตาม มาตรา 9(5) ก็สิ้นผลไป (เพราะเป็นจากยาเสพติดกลายเป็นยารักษาโรคด้วย จึงย่อมไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี) นั่นก็คืออาจไม่ต้องตัดข้อสิทธิบัตรเลยในท้ายที่สุด

หากเป็นเช่นนั้น กว่าประชาชนจะรู้ตัวว่าเฮเก้อ หรือเสียรู้หรือไม่ ในกรณีข้างต้นนี้ ก็คงจะหลังวันหย่อนบัตรเลือกตั้งไปแล้ว เพราะการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เหลือเวลาอีก 56 วันนับจากวันนี้

7. ในข้อ 2 วรรคสอง ของคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ระบุต่อมาว่า หากอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายกคำขอสิทธิบัตรแล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตร (ในเวลานี้ก็คือ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับ จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด) สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ “ภายใน 60 วัน” (ตามมาตรา 72 ของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ) แปลว่า แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้ยกคำขอไปแล้วในวันใดวันหนึ่ง จะต้องรอผลการยื่นอุทธรณ์ไปอีกภายใน 60 วัน ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวิเคราะห์ต่อไป

เพราะในขณะนี้รัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษไปแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 146 หากเป็นไปตามกลไกปกติที่พระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบก็จะพระราชทานคืนกลับมาเพื่อบังคับใช้กฎหมาย ไม่เกิน 90 วัน

สมมติว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยกเลิกคำขอช้าเกินกว่า 30 วัน ก็จะเป็นผลทำให้ บริษัทฯสามารถอุทธรณ์ในวันที่ 60 รวมกันนานกว่า 90 วันนับตั้งแต่วันนี้แน่ๆ ก็จะหมายความว่า พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษบังคับใช้ไปก่อนที่บริษัทจะยื่นอุทธรณ์

เมื่อถึงเวลานั้นบริษัทฯก็จะอุทธรณ์โดยระบุว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษไปแล้ว สถานภาพโฆษณาคำขอจะกลับคืนมาทันที โดยไม่ต้องเริ่มใหม่ (ซึ่งประเด็นนี้พึงต้องระวังให้ดี) ดังนั้น หากอธิบดีพิจารณายกคำขอสิทธิบัตรล่าช้า ก็ควรจะเร่งเปลี่ยนหรือปลดอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เร็วที่สุดจริงหรือไม่ ยกเว้นว่ามีการเล่นปาหี่ให้ประชาชนดู

หรือหาก พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พระราชทานลงมาเร็ววันนี้ เพราะได้มีการทูลเกล้าฯ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษอย่างรวดเร็ว กฎหมายคลายล็อกกัญชาก็จะมีผลบังคับใช้ทันที บริษัทเหล่านี้ก็จะสามารถอุทธรณ์และโฆษณาคำขอสิทธิบัตรที่ถูกยกไปก็มีโอกาสที่กลับคืนสถานภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องไปจดสิทธิบัตรใหม่เลยเช่นกัน

8. ข้อ 3 ของคำสั่ง คสช. นี้ ระบุให้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอื่นๆ นัยยะที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ต้องการจะบอกว่า การควบคุม การผลิต การใช้ การจำหน่าย การนำเข้า ส่งออก หรือครอบครอง ต้องเตรียมอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับใหม่ ความหมายก็คือว่า ภายใน 5 ปีนี้ ธุรกิจกัญชาต้องดำเนินการผ่านรัฐเท่านั้น แม้จะอ้างว่ามีการเตรียมให้เป็นนิติบุคคลไทยในการเข้าร่วมกับรัฐเท่านั้น แต่ความจริงบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล (ประเทศญี่ปุ่น) ผู้ร่วมจดสิทธิบัตรกัญชานั้น มีบริษัท ไทยโอซูก้า ฟาร์มาซูติคอล จำกัด เป็นบริษัทลูก เป็นบริษัทนิติบุคลไทยอยู่แล้ว และเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ดังนั้น จึงย่อมอยู่ที่ว่าเมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลเป็นใคร และคณะกรรมการดูแลตามกฎหมายยาเสพติดให้โทษในวันข้างหน้าซึ่งมีประมาณ 20 คน จะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทนี้หรือไม่ ไม่เพียงแค่ประเด็นสิทธิบัตรเท่านั้น แต่การที่บริษัทต่างชาติได้มีการพัฒนาและมาตรฐานสูงมากกว่าไทย (เพราะเขาได้วิจัยและพัฒนามาก่อนไทย) ก็มีความเป็นไปได้ว่าคณะกรรมการที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงตัวเองหรืออาจได้รับผลประโยชน์ส่วนตน อาจยอมให้รัฐเป็นผู้นำเข้าให้บริษัทต่างชาติรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยก็ย่อมได้ จริงหรือไม่

9. ข้อ 4 ของคำสั่ง คสช. นี้ สำคัญมาก เพราะกำหนดให้ในกรณีที่มี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่บังคับใช้เมื่อใด โดยใช้เหตุอ้างในการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่ว่า กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ เป็นการขัดต่อศีลธรรม ความสงบเรียบร้อย ผ่านการใช้มาตรา 9(5) ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ”ยกเลิก” ไปด้วย นั่นหมายความว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป (เพราะมีประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย) จึงไม่สามารถที่จะใช้เหตุผลเรื่องมาตรา 9(5) ในการยกคำขอได้อีกต่อไปแล้ว นับแต่วันที่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ บังคับใช้

10. ถ้า พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ บังคับใช้แล้ว (ซึ่งคงอีกไม่นาน) เอกชนทุกรายทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งที่เคยจดสิทธิบัตรแล้วถูกยกคำขอ หรือไม่เคยจดมาก่อน ย่อมมีสิทธิแห่กลับมาจดสิทธิบัตรใหม่ในประเทศไทยได้อีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่าทุกคนทั้งในประเทศและต่างประเทศเริ่มต้นเท่ากันใหม่หมด ซึ่งฟังเหมือนดูดี

แต่ความจริงแล้วประเทศไทยไม่เคยมีการวิจัย หรือ มีการทดลองกัญชาในมนุษย์มาก่อน จึงย่อมไม่สามารถจะมีสิ่งประดิษฐ์ได้เร็วหรือมากเท่ากลุ่มทุนต่างชาติได้ แต่เมื่อบริษัทเดิมชิงจังหวะกลับมาจดสิทธิบัตรในคราวนี้ ประเทศไทยก็จะไม่สามารถอ้างเรื่องกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษได้อีกต่อไปแล้ว และย่อมไม่สามารถขัดขวางสิทธิบัตรต่างชาติได้โดยอาศัยมาตรา 9(5) ได้อีกเช่นกัน

ในขณะ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ให้รัฐผูกขาดแทบทุกมิติในรอบ 5 ปี เอกชนร่วมกับรัฐได้ก็มีความล่าช้า ขั้นตอนมากมาย ยิ่งทำให้การพัฒนา เพื่อการนำไปสู่การมีสิทธิบัตรได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ในขณะที่ต่างชาติมาพร้อมกับสิทธิบัตรพร้อมกับหลักฐานมากมายเรียบร้อยแล้ว และยังมีความพร้อมที่จะวิ่งเต้นทุกมิติด้วยผลประโยชน์มหาศาลด้วย

หากไม่มีบทเฉพาะกาลในการหยุดการจดสิทธิบัตรกัญชา และหากกรมทรัพย์สินทางปัญญายังใช้แนวปฏิบัติแบบเดิมๆที่เคยทำกันมา บริษัทที่ถูกยกคำขอไปก็จะมีโอกาสกลับคืนสภาพกลับมาทั้งหมดในปี 2562 นี้ การยกคำขอสิทธิบัตรที่จะเกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวเรียกเสียงเฮช่วงสั้นๆ เพื่อให้ทุกท่านไปหย่อนบัตรเลือกตั้งก่อนเท่านั้น ดังนั้น ทุกท่านอย่าเพิ่งประมาทโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะหากการยกคำขอสิทธิบัตรฯเป็นไปอย่างล่าช้า

ทุกวันนี้มีผู้ป่วยที่แอบใช้ใต้ดินอยู่จำนวนมากในรูปของ น้ำมันกัญชา เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่จับกุมเพราะเห็นแก่มนุษยธรรม แต่เมื่อใดที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะการปล่อยสิทธิบัตรกัญชาให้ชาวต่างชาติเอาเปรียบคนไทย อาจมีความเสี่ยงทำให้มี “เจ้าภาพ” ใช้อำนาจและผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจ ให้เจ้าหน้าที่รัฐไล่ล่า จับกุม กวาดล้างประชาชนที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ให้มาใช้กัญชาจากต่างชาติที่มาพร้อมกับสิทธิบัตรในราคาแพงๆในอนาคต จนอาจทำให้ประชาชนและผู้ป่วยต้องเดือดร้อนได้ เหมือนตัวอย่างธุรกิจสุรายักษ์ใหญ่ได้กระทำเช่นนี้กับสุราพื้นบ้านให้เห็นมาแล้ว โดยเฉพาะ 7 สิทธิบัตรกัญชาที่มีอยู่ในขณะนี้ ครอบคลุมถึง โรคลมบ้าหมู โรคลมชัก ใช้ร่วมกันกับยาต้านโรคลมบ้าหมูมาตรฐาน โรคจิตและความผิดปกติทางจิต โรคสภาวะทางประสาทวิทยา โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งสมองชนิดไกลโอมา และชนิดไกลโอบลาสโตมา มัลติฟอร์ม ซึ่งหากมีสิทธิบัตรนี้กลับมาได้เมื่อไหร่ ประชาชนย่อมต้องเดือดร้อนแน่

แม้เป็นเรื่องหลายคนยินดี ว่า “อาจ” ได้การยกคำขอสิทธิบัตรต่างชาติ แต่ประชาชนจะต้องติดตามและตั้งคำถามว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะยกเลิกวันไหน และหรือแม้แต่กลุ่มเดิมมาจดใหม่ อธิบดีจะใช้ดุลพินิจเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร

เพราะความจริงการรับจดสิทธิบัตร และประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรหลายฉบับที่ผ่านนั้น มีความผิดตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร ไม่เพียงมาตรา 9(5) เท่านั้น แต่ยังกระทำความผิดอีกหลายมาตรา เช่นมาตรา 5 คือ ต้องไม่ใช่การประดิษฐ์ใหม่ หรือไม่ใช่การประดิษฐ์สูขึ้น มาตรา 9(1) คือ ต้องไม่ใช่ส่วนประกอบของจุลชีพที่มีอยู่ธรรชาติ พืช หรือสารสกัดจากพืช มาตรา 9(4) คือ ต้องไม่ใช่วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ แต่ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ยกเลิก 7 สิทธิบัตรของบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับ จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด โดยอาศัยกฎหมายเหล่านี้ จริงหรือไม่? แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อบริษัทเดิมกลับมาจดอีกครั้ง กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะปฏิเสธคำขอเหล่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและคณะก็เป็นคนกลุ่มเดิม

ความจริงแล้ว “ความเสี่ยง” ที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากมีการเปลี่ยนอธิบดีเพื่อ “ยกคำขอ” สิทธิบัตรให้เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์เสียก่อนตั้งนานแล้ว แล้วจึงค่อยส่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับใหม่) ส่งให้รัฐบาลทูลเกล้าฯกฎหมายบังคับใช้ภายหลัง

แต่เหตุที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็เพราะมีการทูลเกล้าฯ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ไปก่อน แล้วจึงออกมาตรการตามหลัง ซึ่งยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงใน “กับดักเวลา” และประเด็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยที่ยังต้องติดตามอีกมากจริงๆ ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น