นักวิชาการ แนะตั้งหน่วยงานใหม่ "สำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมฯ" แก้ปัญหามลพิษทั้งหมด แก้ปัญหาหลายหน่วยงานเขี่ยบอลฝุ่นพิษ จี้ต้องมีกฎหมายอากาศสะอาด ควบคุมค่ามาตรฐานมลพิษ โลหะหนัก จุลินทรีย์ หวังพรรคการเมืองให้ความสำคัญดึงเป็นนโยบาย
วันนี้ (24 ม.ค.) ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปัญหาคุณภาพอากาศของประเทศไทย คือ ไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับสารโลหะหนักและจุลินทรีย์ มีเพียงแค่สารตะกั่วเพียงตัวเดียว ซึ่งไม่เพียงพอ จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ สิ่งที่น่ากังวลคือโลหะหนักและจุลินทรีย์สามารถเกาะติดฝุ่นขนาดเล็กนี้เข้าสู่ปอดได้ โดยที่ไม่รู้ค่ามาตรฐานเลยว่า ไม่ควรเกินเท่าใด ขณะที่การแก้ปัญหาก็เหมือนการเขี่ยบอล เพราะต้องอาศัยหลายหน่วยงานในการแก้ปัญหา
ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องของอากาศ ซึ่งเป้นสิ่งที่เท่าเทียมกันทุกคน เพราะทุกคนต้องสูดอากาศจากแหล่งเดียวกัน อยากให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอากาศให้เป็นหนึ่งเดียว คล้ายการบริหารจัดการน้ำที่ต้องคณะทำงานขึ้นมา โดยอาจตั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยขึ้น คล้ายกับสำนักปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เมื่อเกิดปัญหามลพิษทางอากาศขึ้นสามารถมีอำนาจจัดการได้ทันที โดยไม่ต้องเกี่ยงว่าเป้นอำนาจหน้าที่ของใคร เช่น มลพิษเกิดจากโรงงาน กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจในการตรวจและรายงาน ส่วนอำนาจปิดอยู่ที่กรมโรงงาน หรือมาจากปัญหาจราจร ต้องเป็นกระทรวงคมนาคม ก็จะต้องให้อำนาจหน่วยงานตั้งใหม่นี้จัดการได้
ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า เมื่อมีการตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา ก็มาขับเคลื่อนเรื่องของกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งควรแยกออกมาจากกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการที่ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องอากาศสะอาด ก็จะเกิดการหารือและจัดทำหลักเกณฑ์ ค่ามาตรฐานต่างๆ ของอากาศ เพื่อจัดการมลพิษ และสามารถเอาผิดผู้ที่ก่อมลพิษทางอากาศได้ เพราะปัจจุบันแม้จะมีค่ามาตรฐานในบางตัว แต่ไม่ได้มีกฎหมายออกมาในการกำหนดว่าหากเกินมาตรฐานแล้วจะมีความผิดอะไรอย่างใด ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เราะกระทบกับเรื่องของการลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย หากคุมเข้มมาก ก็อาจไม่เอื้อต่อการดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุน แต่ก็ต้องเลือกว่าจะเอาอย่างไรระหว่างเม็ดเงินที่จะได้มากับสุขภาพที่ต้องเสียไปและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา
"การขับเคลื่อนตั้งหน่วยงานใหม่และออกกฎหมายอากาศสะอาดนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรดำเนินการ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายลงมาหรือไม่ ดังนั้น ในช่วงเลือกตั้งที่จะถึงนี้ อาจจะดูจากนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ได้ว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอากาศหรือไม่" ศ.ดร.ศิวัช กล่าวและว่า หรืออีกทางหนึ่งคือภาคประชาชนต้องออกมาเรียกร้องอย่างหนัก เหมือนอย่างสหรัฐอเมริกากว่าจะออกกฎหมายอากาศสะอาดได้ ต้องมีคนออกมาเดินประท้วงกว่า 20 ล้านคน ขณะที่อังกฤษมีกฎหมายได้ ก็ต้องรอให้มีคนเสียชีวิตกว่า 12,000 คน ถึงออกมาขยับเรื่องนี้ จึงมองว่าภาคประชาชนต้องออกมาต่อสู้เรื่องนี้ด้วย